เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต (Adrenal tumors)

ต่อมหมวกไตเป็นต่อมไร้ท่อที่แปะอยู่เหนือไตทั้งสองข้างเหมือนสวมหมวก ข้างขวาและข้างซ้ายมีรูปร่างไม่เหมือนกัน ภายในต่อมยังแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับสมดุลเกลือแร่และฮอร์โมนเพศ ชั้นในหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวและเตรียมสู้ เนื้องอกของต่อมหมวกไตมีทั้งที่ผลิตฮอร์โมนและไม่ผลิตฮอร์โมน

เนื้องอกไม่ร้ายที่ต่อมหมวกไต (Benign adrenal tumors)

เนื้องอกไม่ร้ายที่ต่อมหมวกไตชั้นนอก คือ Adrenocortical adenoma ส่วนใหญ่ไม่ผลิตฮอร์โมน จึงไม่มีอาการอะไร มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการทำอัลตราซาวด์หรือ CT scan ในช่องท้อง และอาจพบร่วมกับเนื้องอกของต่อมไร้ท่อที่อื่น ๆ แต่แม้จะไม่ได้ผลิตฮอร์โมน adenoma เหล่านี้ก็มีแนวโน้มจะกลายเป็นมะเร็งเมื่อมันมีขนาดโตขึ้น ในทางคลินิกจึงพิจารณาผ่าตัดเมื่อก้อนมีขนาดใหญ่กว่า 3-5 เซนติเมตร

Adenocortical adenoma ส่วนน้อยที่ผลิตฮอร์โมนจะเรียกว่า Functioning adenocortical adenoma
- ถ้าผลิต cortisol ออกมามากจะทำให้มีอาการของ Cushing's syndrome คือ หน้ากลม ตัวอ้วนแต่แขนขาลีบ หน้าท้องลาย ผิวหนังบางและมีจ้ำเลือดง่าย กระดูกบางลง
- ถ้าผลิต aldosterone ออกมามากจะทำให้มีอาการของ Conn's syndrome คือ ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ ไม่มีแรงเพราะสูญเสียเกลือโปแตสเซียมออกไปในปัสสาวะ
- ถ้าผลิตฮอร์โมนเพศออกมามากก็จะทำให้สิวขึ้น มีหนวดเครา ขนดก มีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น

เนื้องอกไม่ร้ายที่ต่อมหมวกไตชั้นใน คือ Pheochromocytoma ร้อยละ 80 จะเกิดข้างเดียว ร้อยละ 10 จะเกิดทั้งสองข้าง และร้อยละ 10 จะพบเนื้องอกชนิดนี้ที่อวัยวะอื่น Pheochromocytoma ไม่ว่าที่อวัยวะไหนจะผลิตฮอร์โมน adrenaline และ noradrenaline ออกมาเสมอ ทำให้เกิดอาการใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง เหงื่อออกมาก กระวนกระวาย ถึงแม้จะเป็นเนื้องอกไม่ร้าย แต่ฮอร์โมนที่มันสร้างเกินมานี้ค่อนข้างร้ายแรง และบางครั้งมีการฉีดออกมาทีเดียวในปริมาณมาก ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดเส้นเลือดสมองแตกจนเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องตรวจหาตำแหน่งของเนื้องอกและรีบผ่าตัดออกไป

เนื้องอกร้ายที่ต่อมหมวกไต (Malignant adrenal tumors)

เนื้องอกร้ายที่ต่อมหมวกไตชั้นนอก คือ Adrenocortical carcinoma มีทั้งที่ผลิตและไม่ผลิตฮอร์โมนเช่นกัน ในกรณีที่มันผลิตฮอร์โมน มักผลิตออกมามากกว่า 1 ชนิด ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ น้ำหนักลด ปวดท้อง ปวดหลัง ท้องโตขึ้น นอกเหนือจากอาการตามฮอร์โมนที่มันผลิต

เนื้องอกร้ายที่ต่อมหมวกไตชั้นใน คือ Neuroblastoma เป็นเนื้องอกของเซลล์ประสาทนอกสมอง มักพบในทารกและเด็กเล็ก เด็กจะมีอาการท้องโต ปวดกระดูก เด็กมักไม่ค่อยยอมเดิน ถ่ายเหลวเป็นประจำ มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง มีไข้เป็น ๆ หาย ๆ ความดันโลหิตสูง หากเนื้องอกกดเส้นประสาทที่ออกมาจากไขสันหลังก็จะมีอาการชาขาและขาอ่อนแรง

การวินิจฉัยเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต

เนื้องอกที่ต่อมหมวกไตที่ตรวจพบโดยบังเอิญ และมีขนาดเล็กกว่า 3 ซม. มักเป็นเนื้องอกไม่ร้าย อาจใช้วิธีเอกซเรย์ติดตามขนาดเป็นประจำ ส่วนที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 ซม. ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ ควรได้รับการประเมินความเป็นไปได้ของการเป็นเนื้องอกร้ายเสมอ

ในการประเมินประกอบด้วย

  1. การเอกซเรย์พิเศษเพื่อดูลักษณะของก้อน การกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะข้างเคียง โดยอาจทำ CT scan, MRI, PET scan, หรือ adrenal angiography ในเด็กที่มีความดันโลหิตสูงและสงสัยเนื้องอกของเซลล์ประสาทที่ผลิตฮอร์โมนอาจตรวจด้วย MIBG scan เพื่อให้เห็นต่อมหมวกไตชั้นในได้
  2. ตรวจหาระดับของฮอร์โมนต่าง ๆ ซึ่งจะใช้วิธีเจาะเลือดและเก็บปัสสาวะที่ถ่ายออกมาตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าตรวจพบระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ ไม่ว่าเอกซเรย์จะเป็น adenoma ธรรมดาก็ต้องผ่าตัดออกไป

หากการประเมินข้างต้นยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ ถึงจะทำการตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy) ของก้อนต่อไป ซึ่งต้องทำโดยใช้ CT หรือ MRI ช่วยระบุตำแหน่ง แต่ถ้าชัดแล้วว่าเป็นเนื้อร้ายก็ไม่ควรทำ biopsy เพราะอาจทำให้มะเร็งแพร่กระจายไปมากขึ้น

หากผลการตรวจเป็นเนื้อร้าย จะแบ่งระยะของมะเร็งต่อมหมวกไตดังนี้

  • ระยะที่ I ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 5 ซม. และยังอยู่ภายในต่อมหมวกไต
  • ระยะที่ II ก้อนมะเร็งมีขนาดเกิน 5 ซม. และยังอยู่ภายในต่อมหมวกไต
  • ระยะที่ III ก้อนมะเร็งกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ข้างเคียงแล้ว
  • ระยะที่ IV ก้อนมะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว

การรักษาเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต

ทั้งเนื้องอกไม่ร้ายที่ผลิตฮอร์โมนและเนื้องอกร้ายของต่อมหมวกไตจะรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นหลัก ถ้าก้อนมีขนาดเล็ก แพทย์บางท่านอาจนิยมผ่าด้วยกล้องผ่านรูเล็ก ๆ ที่หน้าท้อง แต่ก้อนที่มีขนาดใหญ่จำเป็นต้องผ่าตัดด้วยวิธีธรรมดา ในระยะที่ III และ IV แพทย์อาจทำการส่องกล้องเข้าไปดูภายในช่องท้องก่อน เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการตัดก้อนออกไป

มะเร็งต่อมหมวกไตจัดเป็นมะเร็งที่ร้ายแรงพอสมควร ดังนั้นหลังผ่าตัดยังต้องให้รังสีรักษาต่อ เคมีบำบัดไม่ค่อยจะได้ผลในมะเร็งต่อมหมวกไต จะให้ในกรณีที่มะเร็งลุกลามไปไกลจนไม่อาจฉายแสงทั่วไปหมดได้