เนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid nodules)
ไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่ด้านหน้าลำคอ มีรูปร่างแบนคล้ายผีเสื้อ เลื่อนขึ้น-ลงตามลูกกระเดือกเวลาเรากลืนน้ำลาย ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลักคือ T3 และ T4 มาควบคุมการใช้พลังงานของเซลล์ต่าง ๆ และควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย นอกจากนั้นยังสร้างฮอร์โมน Calcitonin มาควบคุมสมดุลแคลเซียม เมื่อผิดปกติมักมีขนาดโตขึ้น บางครั้งก็เห็นเป็นก้อนโตไปทั้งต่อม บางครั้งก็โตเฉพาะกลีบซ้ายหรือขวา หรือเป็นหลาย ๆ ก้อนติดกัน
ต่อมไทรอยด์ที่โตขึ้นจะมีโรคอยู่ 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่ เป็นพิษ และ ไม่เป็นพิษ กลุ่มที่เป็นพิษเกิดจากต่อมที่โตขึ้นสร้างฮอร์โมน T4 หรือ T3 มากเกินไป (สามารถตรวจได้จากการเจาะเลือด) ทำให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายผิดปกติ อาการที่พบคือ ใจสั่น หงุดหงิด ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย กินจุแต่น้ำหนักไม่เพิ่มหรือกลับผอมลง บางคนมีตาโปนด้วย กลุ่มนี้มักไม่ค่อยกลายเป็นมะเร็ง ส่วนกลุ่มที่ไม่เป็นพิษ ต่อมไทรอยด์ที่โตขึ้นไม่ได้สร้างฮอร์โมนมากเกินไปจึงไม่มีอาการดังกล่าว ตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดก็เป็นปกติ พบแต่ขนาดของต่อมที่โตขึ้นเท่านั้น ในกลุ่มนี้บางส่วนมีสาเหตุจากมะเร็ง
เนื้องอกไม่ร้ายที่ต่อมไทรอยด์ (Benign thyroid nodules)
เนื้องอกไม่ร้ายของต่อมไทรอยด์เป็นกลุ่มโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาเนื้องอกของต่อมไรท่อทั้งหมด และมักพบในเพศหญิง พยาธิสภาพแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
- คอหอยพอก (Goiter หรือ Goitre) ในอดีตพบได้ถึงร้อยละ 60 ของโรคของต่อมไทรอยด์ทั้งหมด สาเหตุเกิดจากขาดธาตุไอโอดีน ซึ่งเป็นธาตุที่จำเป็นในการสร้างฮอร์โมน T3 และ T4 ต่อมไทรอยด์จึงเพิ่มปริมาณเซลล์ให้มากขึ้นเพื่อให้สามารถสร้างฮอร์โมนให้ได้เพียงพอ (ไม่ได้สร้างเกิน ระดับของ T3 และ T4 ในเลือดปกติ จึงจัดเป็นกลุ่มที่ไม่เป็นพิษ) ต่อมจึงมีขนาดโตขึ้น ในระยะเริ่มต้นจะโตเป็นก้อนเดี่ยว ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะโตขึ้นทั้งต่อม หรือโตเป็นก้อนหลาย ๆ ก้อน ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคคอพอกชนิดนี้น้อยลงไปมาก
- คอพอกไม่เป็นพิษ (Non-toxic adenoma) สาเหตุยังไม่ทราบ แต่เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายเหมือนเซลล์ของอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย ลักษณะโตช้า มักเป็นก้อนเดี่ยว ไม่ผลิตฮอร์โมน และไม่ลุกลามหรือแพร่กระจาย เมื่อตรวจระดับของ T3 และ T4 ในเลือดจะปกติ แต่เมื่อตรวจการจับไอโอดีนของเซลล์ต่อม (Radioactive iodine uptake, RAIU) จะไม่พบการจับไอโอดีนเพิ่มขึ้น แสดงว่าไม่ได้ขาดธาตุไอโอดีน ซึ่งผิดกับโรคคอหอยพอก
- คอพอกเป็นพิษ (Hyperthyroidism) เป็นการโตของต่อมไทรอยด์ที่มีการสร้างฮอร์โมน T3 หรือ T4 มากจนเกินไป ทำให้มีอาการหัวใจเต้นเร็วและแรง ใจสั่น มือสั่น ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก หลุกหลิกอยู่ไม่สุข หงุดหงิดโมโหง่าย สมาธิสั้น นอนไม่หลับ กินจุแต่น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ท้องเดินบ่อย ในเพศหญิงอาจมีระดูห่างไปหรือขาดระดู อาจมีบุตรยากหรือแท้งบ่อย ในเพศชายอาจมีเต้านมโตร่วมด้วย อาการจะเป็นมากน้อยขึ้นกับระดับของฮอร์โมนที่สูงขึ้นในเลือด ในกลุ่มนี้ยังแบ่งย่อยออกตามสาเหตุได้เป็น
- โรคเกรฟส์ (Graves’ disease) เกิดจากการมีภูมิคุ้มกัน (Antibody) ต้านเซลล์ต่อมไทรอยด์ของตัวเอง ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทั้งต่อมโตขึ้นและสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนสูงขึ้น นอกจากอาการดังกล่าวข้างต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีลักษณะเฉพาะของโรคเกรฟส์อีก 3 อย่าง คือ มีตาโปนทั้งสองข้าง (exophthalmos), มีก้อนบวมแดงแต่ไม่เจ็บที่หน้าแข้ง (pretibial myxedema), และมีนิ้วปุ้ม (acropachy) คล้ายนิ้วของคนที่สูบบุหรี่จัดมานาน (ลักษณะทั้งสามนี้ไม่ได้เกิดทุกราย)
- ก้อนเนื้อที่เป็นพิษ (Toxic adenoma) เป็นเนื้องอกอะดีโนมาที่สามารถผลิตฮอร์โมนได้ด้วย ลักษณะมักเป็นก้อนเดี่ยว ระดับฮอร์โมนในเลือดและการจับไอโอดีนเพิ่มขึ้นทั้งคู่
- ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis) ต่อมไทรอยด์จะบวม กดเจ็บ และทำงานเพิ่มขึ้นชั่วคราว
ภาวะคอพอกเป็นพิษนี้ยังต้องแยกจากภาวะที่ร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์สูงขึ้นโดยไม่ได้มาจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์เอง เช่น มาจากการรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ (เพื่อการรักษาหรืออะไรก็แล้วแต่) ในขนาดที่สูงเกินไป การมีเนื้องอกที่อวัยวะอื่นที่หลั่งฮอร์โมนกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ภาวะที่ร่างกายมีระดับของ T3 หรือ T4 สูงขึ้นในเลือดโดยที่ยังกำลังหาสาเหตุที่แท้จริงอยู่จะเรียกภาวะนี้ว่า "Thyrotoxicosis" คร่าว ๆ ไปก่อน
นอกจากนั้น ก้อนเนื้อไม่ร้ายที่ต่อมไทรอยด์ยังต้องแยกจากภาวะถุงน้ำที่ต่อมไทรอยด์ ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนเดี่ยวที่ไม่มีอาการเหมือนคอพอกไม่เป็นพิษ แต่เมื่อทำอัลตราซาวด์แล้วจะพบว่าภายในเป็นน้ำ ไม่ใช่ก้อนเนื้อ
มะเร็งไทรอยด์ (Thyroid cancer)
มะเร็งไทรอยด์พบเพียงร้อยละ 10 ของโรคไทรอยด์ทั้งหมด แต่พบได้ตั้งแต่ในเด็กโตไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณ 3-4 เท่า เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ การได้รับรังสีในบริเวณต่อมไทรอยด์โดยเฉพาะในช่วงที่ยังเป็นเด็ก
มะเร็งไทรอยด์ปฐมภูมิแบ่งได้เป็น 4 ชนิดตามลักษณะของเซลล์ทางพยาธิวิทยา คือ Papillary, Follicular, Medullary, และ Anaplatic cell carcinoma เซลล์ชนิด Papillary และ Follicular เป็นชนิดที่จับกินแร่รังสีไอโอดีน และพบได้บ่อยกว่าอีกสองชนิด นอกจากนั้นยังมีมะเร็งของระบบน้ำเหลือง (Lymphoma ) ที่ต่อมไทรอยด์ ส่วนมะเร็งไทรอยด์ทุติยภูมิมักกระจายมาจากมะเร็งที่เต้านมและมะเร็งที่ไต
อาการของโรค
เนื่องจากมะเร็งไทรอยด์มักเป็นชนิดที่ไม่ได้สร้างฮอร์โมน ดังนั้นจึงไม่มีอาการของคอพอกเป็นพิษให้เห็น อาการสำคัญมีเพียงก้อนที่ด้านหน้าลำคอ ที่เคลื่อนไหวขึ้น-ลงตามการกลืน ในระยะเริ่มต้นมักเป็นก้อนเดี่ยว มีขนาดเล็ก แต่ก้อนจะโตขึ้นเรื่อย ๆ และมีการแพร่กระจายภายในเนื้อต่อมเป็นหลาย ๆ ก้อน ระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการเสียงแหบ หายใจไม่สำดวก หรือมีปัญหาในการกลืน เมื่อมะเร็งแพร่กระจายไปที่อื่น เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ก็จะมีอาการของส่วนนั้น ๆ เพิ่มตามมา
การวินิจฉัย
โดยทั่วไปมะเร็งไทรอยด์มักวินิจฉัยได้เร็วเพราะคนเราส่องกระจกทุกวัน เมื่อพบก้อนโตผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ควรไปพบแพทย์ตรวจให้แน่ชัด แพทย์จะทำการซักประวัติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ซักถามอาการ แล้วตรวจร่างกาย รายที่ตรวจพบความเป็นพิษจะทำการตรวจเลือดดูระดับของฮอร์โมน ส่วนรายที่ไม่มีอาการและก้อนที่คลำได้เป็นก้อนเดี่ยวอาจส่งทำอัลตราซาวด์ก่อนเพื่อแยกถุงน้ำออกจากก้อนเนื้อ หรือทำการตรวจไทรอยด์สแกนเพื่อให้ทราบว่าก้อนนั้นทำงานมากหรือน้อยกว่าปกติ (ก้อนที่ทำงานมากกว่าปกติมีน้อยมากที่จะเกิดจากมะเร็ง) ในที่ ๆ ไม่สามารถทำการตรวจพิเศษได้และแพทย์มั่นใจว่าไม่ใช่ภาวะไทรอยด์เป็นพิษก็จะทำการเจาะดูดด้วยเข็ม หากได้น้ำก็จะเป็นการรักษาไปในตัว หากได้เนื้อก็จะส่งตรวจทางพยาธิวิทยาว่าเป็นก้อนเนื้อร้ายหรือไม่ ในกรณีที่เป็นเนื้อร้าย หรือมาด้วยก้อนที่ค่อนข้างโต มีอาการเสียงแหบ กลืนลำบาก หรือมีต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงโตแล้ว แพทย์จะส่งทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อประเมินการแพร่กระจายของโรคต่อไป
| อาการ | TFT | US | Scan & Uptake | UIE | FNAB |
ถุงน้ำ | - | ⇔ | น้ำ | cold | ⇔ | น้ำ |
คอหอยพอก | - | ⇔ | เนื้อ | ↑↑ RAIU | ↓↓ | เนื้อ |
คอพอกไม่เป็นพิษ | - | ⇔ | เนื้อ | cold, warm | ⇔ | เนื้อ |
ก้อนเนื้อที่เป็นพิษ | ใจสั่น | ↑ | เนื้อ | hot | ⇔ | - |
โรคเกรฟ | ใจสั่น | ↑↑ | เนื้อ | hot | ⇔ | - |
ไทรอยด์อักเสบ | กดเจ็บ | ↑ | เนื้อ | cold, hot | ⇔ | - |
มะเร็งไทรอยด์ | - | ⇔ | เนื้อ | cold | ⇔ | มะเร็ง |
TFT=Thyroid function test US=Ultrasound UIE=Urinary iodine excretion FNAB=Fine needle aspiration and biopsy |
ระยะของโรค
การจัดระยะของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ต่างจากการจัดระยะของโรคมะเร็งอื่น ๆ โดยมีการนำอายุของผู้ป่วยและชนิดของเซลล์มาจัดด้วย เนื่องจากทั้งสองปัจจัยมีผลต่อการพยากรณ์ของโรค
มะเร็งชนิด Papillary และ Follicular cell carcinoma
- ในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 45 ปี แบ่งโรคเป็นเพียง 2 ระยะ คือ
- ระยะที่ I เซลล์มะเร็งอยู่ภายในต่อมไทรอยด์ หรือมีการลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอเท่านั้น
- ระยะที่ II มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่ไกลออกไป เช่น ปอด กระดูก หนังศีรษะ สมอง และตับ
- ในผู้ป่วยที่อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป แบ่งโรคเป็น 4 ระยะ คือ
- ระยะที่ I ก้อนมะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน 2 เซนติเมตร และเซลล์มะเร็งอยู่ภายในต่อมไทรอยด์เท่านั้น
- ระยะที่ II ก้อนมะเร็งมีขนาด 2-4 เซนติเมตร และเซลล์มะเร็งอยู่ภายในต่อมไทรอยด์เท่านั้น
- ระยะที่ III ก้อนมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 4 เซนติเมตร และ/หรือ มีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอที่อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์
- ระยะที่ IV ก้อนมะเร็งมีการลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอบริเวณอื่น ๆ ที่ไม่ติดกับต่อมไทรอยด์ หรือกระจายไปยังอวัยวะอื่นที่อยู่ไกลออกไป
มะเร็งชนิด Medullary cell carcinoma มีระยะที่ 0 และระยะที่ IV ย่อย ด้วย
- ระยะที่ 0 ตรวจพบเซลล์มะเร็งจากการตรวจคัดกรองพิเศษเท่านั้น ยังไม่มีก้อนมะเร็งเกิดขึ้นในต่อมไทรอยด์จากเอกซเรย์
- ระยะที่ I ก้อนมะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน 2 เซนติเมตร และเซลล์มะเร็งอยู่ภายในต่อมไทรอยด์เท่านั้น
- ระยะที่ II ก้อนมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 2 เซนติเมตร และเซลล์มะเร็งอยู่ภายในต่อมไทรอยด์เท่านั้น หรือ ก้อนขนาดใดก็ได้ที่แทรกซึมออกไปนอกต่อมไทรอยด์แล้ว แต่ยังไม่ไปที่ต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ III ก้อนมะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอใกล้กับต่อมไทรอยด์
- ระยะที่ IV ก้อนมะเร็งลามไปยังอวัยวะอื่น โดยแบ่งย่อยเป็น
- IVA ไปที่หลอดลม หลอดอาหาร กล่องเสียง เส้นประสาทที่ควบคุมกล่องเสียง หรือ ไปที่ต่อมน้ำเหลืองข้างลำคอ, ต่อมน้ำเหลืองกลางทรวงอกแล้ว
- IVB ไปถึงเนื่อเยื่อหน้ากระดูกสันหลัง, เนื้อเยื่อรอบหลอดเลือดแดงแคโรติด, หลอดเลือดฝอยในเมดิแอสตินั่ม
- IVC ไปถึงอวัยวะอื่นที่ไกลออกไป เช่น ปอด กระดูก
มะเร็งชนิด Anaplastic cell carcinoma เป็นมะเร็งชนิดที่โตเร็วมาก จะมีแต่ระยะที่ IV เท่านั้น
- ระยะที่ IVA ก้อนมะเร็งภายในต่อมไทรอยด์เท่านั้น
- ระยะที่ IVB ก้อนมะเร็งลามออกไปนอกต่อมไทรอยด์
- ระยะที่ IVC ก้อนมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะที่ไกลออกไป เช่น ปอด กระดูก
แนวทางการรักษา
การรักษามะเร็งไทรอยด์จะมี 5 แนวทางหลัก คือ การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด และการให้ยาเจาะจงที่เซลล์มะเร็ง การผ่าตัดมักเป็นแนวทางหลักเพราะโดยโรคแล้วสามารถวินิจฉัยได้เร็ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการตัดต่อมไทรอยด์และเลาะต่อมน้ำเหลืองที่โตทิ้งทั้งหมด รังสีรักษาจะมีทั้งการฉายรังสีไปที่ก้อนเหมือนมะเร็งทั่วไป (external radiation) และการกินหรือฉีด Radioactive iodine ให้ไปจับกับเซลล์ของต่อมไทรอยด์ (internal radiation) ซึ่งจะได้ผลเฉพาะ Papillary และ Follicular cell carcinoma เท่านั้น
เคมีบำบัดจะใช้ในกรณีที่โรคเริ่มจะลุกลามแล้ว ยาอาจให้เข้าทางปาก (การกิน) ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ น้ำไขสันหลัง หรือช่องท้องเพื่อให้เข้าถึงมะเร็งที่อยู่ในอวัยวะที่แพร่กระจายได้ใกล้ที่สุด มักใช้กับพวก Medullary และ Anaplastic cell carcinoma
สำหรับฮอร์โมนบำบัดจะให้ทุกรายหลังเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งยาฮอร์โมนไทรอยด์ที่รับประทานนี้จะให้ประโยชน์ 2 ทาง คือ ชดเชยฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้อีกแล้ว กับกดฤทธิ์ของฮอร์โมน TSH ที่อาจไปกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เติบโตกลับขึ้นมาอีก ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดจำเป็นต้องรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์นี้ไปตลอดชีวิต โดยในช่วงแรกต้องตรวจระดับของฮอร์โมนในเลือดเพื่อปรับขนาดยาที่เหมาะสม
ส่วนการให้ยาเจาะจงที่เซลล์มะเร็ง (Target therapy) สำหรับมะเร็งไทรอยด์มักให้ในระยะที่ลุกลามมาก เพื่อลดผลข้างเคียงของการให้เคมีบำบัด แต่ก็ไม่ได้หวังผลถึงการหายขาด