มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal cancer)

หลอดอาหารเป็นท่อกลวง ยาวประมาณ 10 นิ้ว ทอดตัวเป็นแนวดิ่งอยู่ทางด้านหลังของทรวงอก หน้าต่อกระดูกสันหลัง ผนังโดยรอบของหลอดอาหารเป็นกล้ามเนื้อเรียบ คอยบีบตัวเป็นระลอกคลื่นเวลาที่มีอาหารผ่านลงไป หลอดอาหารมีตำแหน่งที่ตีบแคบอยู่ 3 แห่ง คือ
- ที่อักษร A เป็นตำแหน่งหูรูดด้านบน ป้องกันไม่ให้อาหารไหลย้อนกลับ
- ที่อักษร B เป็นตำแหน่งที่หลอดอาหารถูกพาดข้ามด้วยเส้นเลือดแดงเอออร์ต้าและแขนงของหลอดลมใหญ่ข้างซ้าย
- และที่อักษร C เป็นตำแหน่งที่หลอดอาหารมุดลอดกระบังลมเข้าไปในช่องท้อง ที่ตรงนี้จะมีหูรูดระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหารปิดอยู่พอดี ดังนั้นการกลืนอาหารคำใหญ่เกินไปอาจจุกคอหรือแน่นอกเพราะกล้ามเนื้อบริเวณที่ตีบแคบคลายตัวรับอาหารไม่ทัน

เนื้องอกที่หลอดอาหารเกือบทั้งหมดเป็นมะเร็ง ที่เป็นเนื้องอกไม่ร้ายพบได้น้อยมาก ตัวอย่างเช่น leiomyoma, squamous cell papilloma, granular cell tumor, inflammatory pseudotumor, adenoma, hemangioma, neurofibroma, schwannoma, rhabdomyoma, lipoma, choristoma, amyloid tumor, และ hamartoma ในหน้านี้จะกล่าวถึงมะเร็งหลอดอาหารเป็นหลัก

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร

มะเร็งหลอดอาหารมักพบในคนเอเชียที่มีอายุมาก ตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และพบในเพศชาย 3-4 เท่าของเพศหญิง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่

  1. ภาวะที่หลอดอาหารโดนกรดในกระเพาะกัดซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน เช่น โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease, GERD), ภาวะ Barrett's esophagus (esophageal dysplasia), กลุ่มอาการ Zollinger-Ellison, โรค Scleroderma เป็นต้น
  2. ความผิดปกติบางอย่างที่ทำให้อาหารไม่ผ่านลงกระเพาะโดยง่าย แต่กลับสะสมอยู่ในหลอดอาหารเป็นเวลานาน เช่น โรคอะคาเลเซีย (Achalasia), Plummer-Vinson syndrome, Hiatal hernia รวมทั้งภาวะที่มีการตีบแคบของหลอดอาหารจากสาเหตุต่าง ๆ
  3. ผู้ที่เป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น Tylosis, Celiac sprue
  4. ผู้ที่ได้รับการฉายรังสีรักษาบริเวณทรวงอกตั้งแต่ยังเด็ก
  5. ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งปอด มะเร็งในช่องปาก และมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ
  6. ผู้ที่ติดเชื้อ Human papillomavirus และเชื้อราที่หลอดอาหาร
  7. ผู้ที่ได้รับการตัดกระเพาะอาหารทิ้งบางส่วนหรือทั้งหมดมากว่า 20 ปี
  8. ผู้ที่ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่
  9. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนจัด ๆ เป็นประจำ

อาการของมะเร็งหลอดอาหาร

ในระยะเริ่มต้นไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการ เนื่องจากมะเร็งหลอดอาหารมักลามจากเยื่อบุผิวลงไปที่ผนัง ไม่ได้โตออกมาในท่อจนกว่ามันจะมีขนาดใหญ่แล้ว ดังนั้น โรคจึงมักถูกตรวจพบในระยะลุกลามแล้ว อาการที่พบบ่อยมีดังนี้

  • กลืนอาหารไม่ลง คนไข้จะรู้สึกว่ามันติดอยู่ในทรวงอก และสักพักจะขย้อนกลับออกมา โดยอาการจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในตอนแรกจะเป็นเฉพาะกับอาหารแข็ง เช่น เนื้อสัตว์ ขนมปัง หรือผัก ต่อมาเมื่อก้อนมะเร็งโตไปอุดตันหลอดอาหารทั้งหมดก็จะกลืนไม่ลงไม่ว่าจะเป็นของที่บดแล้วหรือน้ำก็ตาม
  • รู้สึกปวดตื้อ ๆ หรือแสบร้อนในช่องอก บางรายจะปวดที่กระดูกซี่โครงส่วนบนหรือในลำคอ
  • รู้สึกท้องอืด อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน สะอึก สำลักอาหารบ่อย บางรายถึงขั้นเป็นปอดอักเสบจากการสำลักอาหาร
  • ไอหรือเสียงแหบ
  • น้ำหนักตัวลด
  • ถ่ายอุจาระเหลวเละสีดำ (เนื่องจากมีเลือดออกจากก้อนมะเร็ง)
  • คลำได้ก้อนแข็งบริเวณลำคอ (เป็นต่อมน้ำเหลืองที่มะเร็งกระจายไป)

การวินิจฉัยมะเร็งหลอดอาหาร

ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งหลอดอาหารในคนที่ยังไม่มีอาการ มีเพียงการส่องกล้องติดตามในผู้ป่วยที่เป็น Barrett's esophagus ส่วนจะติดตามภายในระยะเวลาเท่าไรก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันแน่ชัด

ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น แพทย์อาจทำการตรวจเอกซเรย์กลืนแป้ง (สารทึบรังสี) หรือส่องกล้องเข้าไปในหลอดอาหาร ถ้ามีรอยโรคก็จะทำการตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิต่อไป และหากผลทางพยาธิออกมาเป็นมะเร็งก็จะส่งตรวจ CT-scan, MRI, หรือ PET-scan เพื่อระบุระยะของโรคให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ชนิดและระยะของมะเร็งหลอดอาหาร

มะเร็งหลอดอาหารมี 2 ชนิด คือ

  • Squamous cell carcinoma พบได้ทั่วไปทั้งหลอดอาหาร
  • Adenocarcinoma พบที่รอยต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร เป็นมะเร็งที่พัฒนามาจาก Barrett's esophagus และภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้เซลล์เยื่อบุของหลอดอาหารซึ่งปกติเป็น squamous cells เปลี่ยนแปลงเป็น gland cells

มะเร็งหลอดอาหารแต่ละชนิดมีการแบ่งระยะของโรคแตกต่างกัน

ระยะของมะเร็งหลอดอาหารชนิด Squamous cell carcinoma ตำแหน่งที่เกิดมะเร็งมีส่วนในการกำหนดระยะด้วย เพราะมีผลต่อการรักษามาก

  • ระยะที่ 0 เป็นระยะก่อนมะเร็ง พบเซลล์ที่มีลักษณะ high-grade dysplasia เฉพาะที่เยื่อบุผิว ยังไม่มีการแทรกซึมลงไปใด ๆ
  • ระยะที่ IA พบเซลล์มะเร็งที่เยื่อบุผิวถึงชั้นกล้ามเนื้อ ลักษณะเป็น well differentiated และยังไม่มีการลามไปถึงต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะที่ IB ลักษณะเหมือนระยะ IA แต่เซลล์มะเร็งเป็น moderately หรือ poorly differentiated หรือเซลล์มะเร็งเป็น well differentiated แต่กินถึงผนังชั้นนอกของหลอดอาหารแล้ว โดยมะเร็งอยู่ตรงตำแหน่งล่างสุดของหลอดอาหาร
  • ระยะที่ IIA เซลล์มะเร็งเป็น well differentiated, กินถึงผนังชั้นนอกของหลอดอาหาร, โดยมะเร็งอยู่ตรงตำแหน่งบนสุดหรือตรงกลางของหลอดอาหาร หรือเซลล์มะเร็งเป็น moderately หรือ poorly differentiated แต่มะเร็งอยู่ตรงตำแหน่งล่างสุดของหลอดอาหาร
  • ระยะที่ IIB เซลล์มะเร็งเป็น moderately หรือ poorly differentiated, กินถึงผนังชั้นนอกของหลอดอาหาร, โดยรอยโรคอยู่ตรงตำแหน่งบนสุดหรือตรงกลางของหลอดอาหาร หรือเซลล์มะเร็งยังอยู่แค่ชั้นกล้ามเนื้อ แต่ลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงแล้วจำนวน 1-2 ต่อม
  • ระยะที่ IIIA เซลล์มะเร็งยังอยู่แค่ชั้นกล้ามเนื้อ แต่ลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงแล้วจำนวน 3-6 ต่อม หรือเซลล์มะเร็งทะลุผนังชั้นนอกของหลอดอาหารแล้ว แต่โดนต่อมน้ำเหลืองเพียง 1-2 ต่อม หรือเซลล์มะเร็งลามไปถึงอวัยวะข้างเคียงที่อยู่ติดกันแล้ว แต่ยังไม่พบมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะที่ IIIB เซลล์มะเร็งทะลุผนังชั้นนอกของหลอดอาหารแล้ว และไปถึงต่อมน้ำเหลืองจำนวน 3-6 ต่อม
  • ระยะที่ IIIC เซลล์มะเร็งลามไปถึงอวัยวะข้างเคียงที่อยู่ติดกันแล้ว และไปถึงต่อมน้ำเหลืองจำนวน 3-6 ต่อม หรือเซลล์มะเร็งลามไปถึงอวัยวะข้างเคียงที่อยู่ติดกันที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ เช่น หลอดลมใหญ่ หลอดเลือดแดงเอออร์ตา หรือเซลล์มะเร็งลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ 7 ต่อมขึ้นไป
  • ระยะที่ IV เซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองไกลๆ เช่น ในช่องท้อง ไหปลาร้า หรือที่คอ และ/หรือ เข้ากระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่น ๆ

ระยะของมะเร็งหลอดอาหารชนิด Adenocarcinoma ตำแหน่งของรอยโรคไม่มีผลกับการกำหนดระยะ ดังนั้นระยะที่ 0, III, IV จึงเหมือนกับ Squamous cell carcinoma ทุกประการ ในที่นี้จะแสดงเฉพาะระยะที่แตกต่างกัน

  • ระยะที่ IA พบเซลล์มะเร็งที่เยื่อบุผิวถึงชั้นลึกลงไปเล็กน้อย ลักษณะเป็น well หรือ moderately differentiated และยังไม่มีการลามไปถึงต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะที่ IB ลักษณะเหมือนระยะ IA แต่เซลล์มะเร็งเป็น poorly differentiated หรือเซลล์มะเร็งลามไปถึงชั้นกล้ามเนื้อ แต่เป็น well หรือ moderately differentiated
  • ระยะที่ IIA เซลล์มะเร็งลามไปถึงชั้นกล้ามเนื้อ และเป็น poorly differentiated
  • ระยะที่ IIB เซลล์มะเร็งกินถึงผนังชั้นนอกของหลอดอาหาร หรือเซลล์มะเร็งยังอยู่แค่ชั้นกล้ามเนื้อ แต่ลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงแล้วจำนวน 1-2 ต่อม

การรักษามะเร็งหลอดอาหาร

  1. การผ่าตัด
  2. ในกรณีที่ผ่าตัดได้ แพทย์จะตัดหลอดอาหารออกและต่อกระเพาะอาหารเข้ากับหลอดอาหารส่วนดีที่เหลืออยู่ ซึ่งมักจะต้องดึงกระเพาะให้ขึ้นไปอยู่ในทรวงอก แต่ก็จะทำให้ผู้ป่วยยังสามารถกลืนอาหารได้ตามปกติ แพทย์บางท่านอาจเลือกวิธีให้เคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงก่อนการผ่าตัดเพื่อให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงก่อนก็ได้

    ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์อาจเลือกวิธีดังต่อไปนี้เพื่อช่วยผู้ป่วยให้สามารถรับอาหารได้มากขึ้น เช่น
    - ใส่สายยางเข้าไปในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็ก ผ่านทางหน้าท้อง เพื่อใช้ในการให้อาหารเหลวแก่ผู้ป่วย
    - ขยายหลอดอาหารที่ตีบ วิธีนี้มักต้องทำหลายครั้ง เพราะก้อนมะเร็งจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
    - ใส่ท่อหรือวัสดุถ่างขยายหลอดอาหารที่ตีบอยู่คาไว้เลย เพื่อให้อาหารผ่านลงไปได้
    - สร้างทางเดินอาหารสู่กระเพาะอาหารใหม่ (Bypass)
    - ใช้แสงเลเซอร์ทำลายก้อนมะเร็ง เพื่อลดอาการตีบตันของหลอดอาหาร

    ผู้ป่วยที่มีความยากลำบากในการกลืน อาจต้องได้สารอาหารทางเส้นเลือดหลายวันก่อนและหลังผ่าตัด ร่วมกับยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อ และผู้ป่วยยังต้องเรียนรู้วิธีการไอและการหายใจเพื่อไม่ให้เกิดภาวะปอดแฟบหลังการผ่าตัด

  3. การฉายแสง
  4. การฉายแสงเป็นการใช้รังสีที่มีพลังงานสูงฆ่าเซลล์มะเร็ง การฉายแสงอาจมาจากเครื่องที่อยู่นอกร่างกาย หรือจากท่อกัมมันตรังสีที่ฝังอยู่ในร่างกายใกล้ตำแหน่งของมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสงอาจมีอาการอ่อนเพลีย บริเวณที่ได้รับการฉายแสงอาจเป็นผื่นแดงและแห้ง การฉายแสงบริเวณหน้าอกและคอ อาจทำให้เจ็บคอ คอแห้ง และไอได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหายใจลำบากระหว่างการฉายแสงได้

  5. เคมีบำบัด
  6. เคมีบำบัดเป็นการใช้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ยาอาจให้ทางปากหรือฉีดเข้าเส้นเลือด มักจะใช้หลังการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีโอกาสของการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำสูง และยังเป็นมาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารในระยะลุกลามด้วย

    ยาเคมีบำบัดทำลายทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติ จึงทำให้เกิดอาการข้างเคียง ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของยาที่ใช้ ผู้ป่วยอาจมีการติดเชื้อโรคง่ายขึ้น อ่อนเพลีย ผมร่วง เจ็บปากและคอ และคลื่นไส้อาเจียนได้ อย่างไรก็ตาม อาการข้างเคียงเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ด้วยยา และจะหายไปเมื่อหยุดการรักษา

  7. การรักษาอื่น ๆ
  8. การให้ยาเจาะจงที่เซลล์มะเร็ง (Targeted therapy) เป็นอีกวิธีการหนึ่งของการให้เคมีบำบัดในผู้ป่วยที่ค่อนข้างจะอ่อนแอ เพื่อลดผลข้างเคียงของยาเคมีที่ให้แบบทั่วไป แต่ยาที่ให้โดยวิธีนี้ยังมีราคาแพงมาก

    การใช้แสงกระตุ้นยาเคมี (Photodynamic therapy, PDT) เป็นการใช้ยาเคมีชนิดที่ออกฤทธิ์เฉพาะเมื่อโดนแสงที่ความยาวคลื่นจำเพาะต่อยานั้น ใช้รักษา Barrett's esophagus และมะเร็งหลอดอาหารระยะเริ่มแรก

ผลการรักษามะเร็งหลอดอาหารยังไม่ดีเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น อาจเป็นเพราะหลอดอาหารเป็นอวัยวะที่อยู่ลึก ผ่าตัดยาก และมีพื้นที่จำกัด นอกจากนั้นผู้ป่วยแทบทุกรายยังอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ ดังนั้นผู้ที่จะตัดสินใจสู้กับมันจึงต้องเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ต้องยอมรับอาหารทางสายยางหรือทางเส้นเลือดเพื่อฟื้นฟูและบำรุงร่างกาย และภายหลังการรักษาครบแล้วจึงยังต้องไปตรวจกับแพทย์เป็นประจำ เพราะมะเร็งหลอดอาหารเป็นมะเร็งที่มีการกลับคืนมาใหม่ได้บ่อยชนิดหนึ่ง