เนื้องอกที่องคชาต (Penile tumors)
รอยโรคที่องคชาตมีได้หลากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อกามโรคและโรคผิวหนังที่บังเอิญมาเกิดในบริเวณนี้มากกว่าจะเป็นจากเนื้องอก อย่างไรก็ตาม รอยโรคระยะแรกก็แยกจากกันได้ยาก ควรที่จะให้แพทย์ช่วยวินิจฉัย ไม่ควรอายและไม่ควรจะรักษาเอง แม้เนื้องอกที่องคชาตจะพบได้น้อยมาก แต่การจะรักษาให้หายขาดได้ก็ต้องเป็นในระยะเริ่มแรกจริง ๆ
เนื้องอกไม่ร้ายที่องคชาต (Benign tumors of penis)
- Bowen's disease
ส่วนมากพบในคนอายุ 35 ปีขึ้นไป ลักษณะเป็นแผ่นหนา ๆ แข็ง ๆ สีขาวเทา ผิวบนลอกเล็กน้อย รอยโรคนี้ความจริงเป็นระยะเริ่มแรกของมะเร็ง (Carcinoma in situ) พยาธิสภาพทางกล้องจุลทรรศน์จะพบมีการเพิ่มจำนวนของเซลล์ในชั้นเยื่อบุผิว (squamous cells) เป็นจำนวนมาก และมีทิศทางการเรียงตัวที่ไม่แน่นอน นิวเคลียสมีรูปร่างค่อนข้างน่ากลัว ติดสีน้ำเงินคล้ำ และมีการแบ่งตัวที่ผิดปกติ แต่ฐานชั้นล่างของเยื่อบุผิว (basement membrane) ยังคงดีอยู่ตลอดแนว ถ้าทิ้งไว้นานรอยโรคอาจกินลึกลงไปในตัวองคชาตได้
การรักษาหลักคือการตัดผิวหนังบริเวณนั้นออก ซึ่งมีตั้งแต่การใช้มีด การใช้ความเย็น หรือการใช้เลเซอร์ช่วยผ่าตัด หากทำไม่ได้เพราะรอยโรคกว้างหรืออยู่ตรงหัวขององคชาติพอดี ก็อาจใช้ยา 5-FU หรือ Imiquimod 5% cream ทาเป็นเวลา 3-4 เดือน แต่ยาค่อนข้างจะระคายเคืองมาก นอกจากนั้นยังอาจใช้ Photodynamic therapy (PDT) มาช่วยด้วย
- Bowenoid papulosis
เป็นตุ่มเนื้อสีน้ำตาลแดงหลาย ๆ ตุ่มคล้ายหูด พบที่ลำขององคชาต ส่วนใหญ่พบในวัยเจริญพันธุ์ ประมาณร้อยละ 80 ของตุ่มเนื้อเหล่านี้พบส่วนประกอบของ HPV 16 ที่เป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่ด้วย แต่รอยโรคไม่นูนและหยักตรงปลายแบบแตกหงอนเหมือนหูดหงอนไก่นัก
โรคนี้ความจริงหายได้เอง แต่เกิดเป็นซ้ำได้บ่อย รอยโรคมีโอกาสที่จะกลายเป็นเนื้อร้ายได้เหมือนกันแต่ไม่มาก การรักษาอาจใช้วิธีตัดตุ่มออกโดยใช้ไฟฟ้าจี้ตุ่ม, ใช้ความเย็น, หรือใช้เลเซอร์ หรือใช้ยาทา เช่น retinoic acid, podophyllum resin, หรือ 5-fluorouracil เป็นต้น แม้จะรักษาด้วยวิธีเหล่านี้แล้วก็ยังมีโอกาสเกิดเป็นซ้ำอีกได้
- Erythroplasia of Queyrat
ลักษณะคล้ายปานแดงที่เกิดที่หัวขององคชาต มีขอบเขต ชัดเจนและดูเป็นมัน รอยโรคค่อนข้างแข็งเมื่อเทียบกับเนื้อรอบข้าง พยาธิสภาพทางกล้องจุลทรรศน์เป็น Carcinoma in situ เหมือน Bowen's disease
การรักษาจะใช้วิธีการผ่าตัดแบบ Mohs micrographic surgery การใช้ยาและวิธีอื่น ๆ แบบการรักษา Bowen's disease ก็ได้ผล แต่มีอัตราการเกิดซ้ำที่สูงกว่าวิธีแรก
เนื่องอกไม่ร้ายอื่น ๆ ที่อาจเกิดที่องคชาตได้ก็เหมือนเนื้องอกไม่ร้ายของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังทั่วไป คือ Hemangioma ซึ่งเป็นก้อนของหลอดเลือด, เนื้องอกของเส้นประสาท, เนื้องอกของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ซึ่งรอยโรคพวกนี้จะอยู่ใต้ผิวหนัง ลักษณะจะเป็นการคลำก้อนได้ที่ใต้ผิวหนัง การตัดก้อนอออกไปตรวจจะเป็นทั้งการวินิจฉัยและการรักษาไปในตัว
เนื้องอกร้ายที่องคชาต (Malignant tumors of penis)
มะเร็งองคชาตเป็นมะเร็งที่พบได้น้อยมาก ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ อายุที่มากกว่า 60 ปี, การไม่ดูแลรักษาความสะอาดขององคชาต และการสูบบุหรี่ มะเร็งองคชาตแทบจะไม่พบเลยในกลุ่มชนที่นับถือศาสนามุสลิมหรือยิว ซึ่งทำการขริบปลายหนังหุ้มองคชาตตั้งแต่เด็ก
เนื้องอกร้ายที่องคชาตมีได้หลายรูปแบบ แต่ร้อยละ 95 จะเป็น Squamous cell carcinoma ที่เหลือจะเป็น Basal cell carcinoma, Kaposi sarcoma, Melanoma, Leiomyosarcoma, และ Sarcomatoid carcinoma
ลักษณะของโรค
ปกติมะเร็งองคชาตมักพบที่บริเวณส่วนหัวขององคชาต (glans) หรือที่ผนังด้านในของปลายหนังหุ้มองคชาต (prepuce) ใกล้กับร่องหัวองคชาต (coronal sulcus) ลักษณะของรอยโรคขึ้นกับชนิดของมะเร็ง ถ้าเป็น Squamous cell carcinoma เริ่มแรกผิวหนังที่เป็นจะหนาและขาวด้าน กินเนื้อที่ประมาณ 1 เซนติเมตร (คล้ายรูปของ Bowen's disease ข้างบน) ต่อมาจะแตก มีหย่อมเนื้อตายตรงกลาง เกิดเป็นแผลที่มีขอบหนาและขรุขระ บางรายไม่พบเป็นแผล แต่เป็นช่อหรือพุ่มคล้ายหูดหงอนไก่ แล้วจะค่อย ๆ โตจนมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำคล้ายดอกกระหล่ำ
ถ้าเป็น Kaposi sarcoma (ซึ่งพบมากในคนไข้เอดส์) จะเป็นก้อนเนื้อสีม่วงแดง ขอบเขตชัด มีหลายก้อนขนาดต่าง ๆ กัน ถ้าเป็น Melanoma จะเป็นก้อนสีน้ำตาลเข้ม ถ้าเป็น Leiomyosarcoma ก้อนจะอยู่ลึก บีบดูจะหยุ่น ๆ คล้ายยางลบ แต่ในระยะกระจายก็อาจแตกขึ้นมาเป็นแผลที่ผิวหนัง
การวินิจฉัย
แพทย์จะสอบถามประวัติ อาการ ระยะเวลาที่เกิด และตรวจร่างกายโดยละเอียด (รวมทั้งผิวหนังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย) เพื่อวินิจฉัยแยกโรคที่มีรอยโรคคล้ายกัน จากนั้นจะทำการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ แล้วจึงทำการตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคไปดูเซลล์ทางพยาธิวิทยาให้แน่ชัด หากผลเป็นเนื้อร้ายผู้ป่วยจะได้รับการตรวจทางรังสีวิทยาเพื่อประเมินระยะของโรคต่อไป
ระยะของมะเร็งองคชาต
- ระยะที่ I เซลล์มะเร็งกินเลยชั้น basement membrane ของผิวหนังลงไป แต่ยังไม่ลามเข้าหลอดเลือดหรือหลอดน้ำเหลือง
- ระยะที่ II เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าหลอดเลือดหรือหลอดน้ำเหลืองแล้ว หรือลามไปถึงเนื้อเยื่อที่ทำให้อวัยวะแข็งตัว
- ระยะที่ III โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ
- ระยะที่ IV โรคลุกลามไปยังต่อมลูกหมาก หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง หรือไปยังอวัยวะอื่นที่ไกลออกไป
แนวทางการรักษา
ระยะที่ I-III จะใช้การผ่าตัดเป็นหลัก อาจต้องตัดองคชาติออกทั้งหมดหรือบางส่วนขึ้นกับขนาดของรอยโรคและเกรดความรุนแรงของเซลล์จากพยาธิวิทยา ถ้ามีการลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง ก็ต้องเลาะออกให้หมดด้วย ในระยะที่ I และ II จะตามด้วยรังสีรักษา ส่วนระยะที่ III จะบวกเคมีบำบัดเช้าไปอีก
การรักษาในระยะที่ IV จะทำเพียงเพื่อบรรเทาอาการและพยุงคุณภาพชีวิตไว้เท่านั้น