เนื้องอกที่ต่อมไทมัส (Thymic tumors)

ต่อมไทมัสเป็นโรงงานสร้างเม็ดเลือดขาวของระบบน้ำเหลือง (lymphocytes) และยังสร้างฮอร์โมนไทโมซิน (thymosin) กระตุ้นให้ลิมโฟไซต์ที่ยังอ่อนอยู่พัฒนาไปเป็นลิมโฟไซต์ที่เจริญเต็มที่ ลิมโฟไซต์ที่เจริญเต็มที่แล้วจะออกจากต่อมไทมัสไปอยู่บริเวณม้ามและต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกายคอยป้องกันเราจากการติดเชื้อต่าง ๆ

ต่อมไทมัสวางตัวอยู่หลังกระดูกหน้าอก หน้าต่อเส้นเลือดใหญ่ของหัวใจ ในช่องที่เรียกว่า เมดิแอสตินั่ม (mediastinum = ช่องกลางทรวงอกที่อยู่ระหว่างปอดทั้งสองข้าง ภายในมีหัวใจ เส้นเลือดใหญ่ หลอดลม หลอดอาหาร ต่อมไทมัส ต่อมน้ำเหลือง และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบรรจุอยู่) ต่อมไทมัสในเด็กจะมีขนาดใหญ่ ยาวลงมาเกือบจะถึงกลางอก แล้วจะค่อย ๆ ลดขนาดลงหลังพ้นช่วงวัยรุ่นไปแล้ว ในผู้ใหญ่ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ต่อมไทมัสจะมีขนาดเพียง 0.5 เซ็นติเมตร อยู่ช่วงบนของเมดิแอสตินั่ม

เนื้องอกของต่อมไทมัสพบได้น้อย และอาจอยู่นอกต่อมไทมัส เช่น พบที่คอ เยื่อหุ้มหัวใจ เยื่อหุ้มปอด และที่ปอด ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการเคลื่อนตัวของเนื่อเยื่อและเซลล์ตามระบบน้ำเหลือง ในหน้านี้จะกล่าวถึงแต่เฉพาะเนื้องอกที่ต่อมไทมัส

เนื้องอกไม่ร้ายที่ต่อมไทมัส (Benign thymic tumors)

เนื้องอกไม่ร้ายที่ต่อมไทมัสมักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นพวกถุงน้ำ (Thymic cysts), ต่อมโตธรรมดา (Thymic hyperplasia), และเนื้องอกของเนื้อเยื่อไขมัน (Thymolipomas) 2 ใน 3 ของเนื้องอกเหล่านี้ไม่แสดงอาการ แต่หากโตมาก ๆ ก็จะกดหลอดลม ทำให้รู้สึกแน่น ๆ ในอก หายใจลำบาก

การวินิจฉัย

เนื้องอกที่ต่อมไทมัสวินิจฉัยได้ง่ายจากภาพเอกซเรย์ทรวงอกธรรมดา 2 ท่า คือท่าตรงกับท่าด้านข้าง ในท่าตรงจะเห็นเงาของเมดิแอสตินั่มส่วนบนกว้างขึ้น (รูปที่ 1) ในท่าด้านข้างจะเห็นเงาของก้อนเนื้อสีขาวอยู่ในช่องเมดิแอสตินั่มส่วนหน้า (ช่อง A ในรูปกลาง) (รูปที่ 2 นี้แสดงปอดในท่าด้านข้างของคนปกติ ไม่ควรจะเห็นอะไรอยู่ในเมดิแอสตินั่มส่วนหน้า) จากนั้นจะทำการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อให้เห็นรายละเอียดและขอบเขตของก้อนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อแยกว่าเป็นถุงน้ำ เนื้อต่อมธรรมดา ก้อนไขมัน หรือก้อนเนื้อ และมีการกระจายตัวเหมือนเนื้อร้ายหรือไม่ หากเป็นก้อนเนื้อและยังไม่เห็นการกระจายตัวจากภาพเอกซเรย์ก็ถึงขั้นตอนของการตรวจพิสูจน์ชิ้นเนื้อ ซึ่งทำโดยการใช้เข็มเจาะเข้าไปในทรวงอกตรงตำแหน่งของก้อน โดยอาศัยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่วยนำทิศทาง

การรักษา

ในกรณีที่เป็นเนื้องอกไม่ร้าย การผ่าตัดเอาก้อนที่มีอาการออกก็เพียงพอ

เนื้องอกร้ายที่ต่อมไทมัส (Malignant thymic tumors)

ต่อมไทมัสประกอบด้วยเซลล์หลัก 2 ส่วน คือ เซลล์เยื่อบุชั้นนอก (epithelial cells) กับลิมโฟไซต์ เนื้องอกร้ายของ epithelial cells คือ Thymoma และ Thymic carcinoma ส่วนเนื้องอกร้ายของลิมโฟไซต์คือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)

Thymoma เป็นเนื้องอกร้ายชนิดที่พบบ่อยที่สุด ผู้ป่วยที่เป็นโรค Thymoma มักมีโรคทางภูมิคุ้มกันร่วมด้วย เช่น Myasthenia gravis, Acquired pure red cell aplasia, Hypogammaglobulinemia, Polymyositis, Lupus erythematosus, Rheumatoid arthritis, Thyroiditis, Sjögren syndrome เซลล์ของ Thymoma จะดูคล้ายเซลล์ปกติ โตช้า และไม่ค่อยลุกลามไปยังอวัยวะไกล ๆ (มักไปที่ปอด เยื่อหุ้มปอด และอวัยวะในทรวงอกเท่านั้น) การรักษาจะง่ายกว่าเนื้องอกร้ายชนิดอื่น

ส่วน Thymic carcinoma เซลล์จะดูต่างจากเซลล์ปกติมาก โตเร็ว และมักลามไปยังอวัยวะไกล ๆ แล้วทันทีที่ได้รับการวินิจฉัย การรักษาจึงยากกว่า

มีเนื้องอกร้ายอีกชนิดหนึ่งที่นาน ๆ มาเกิดที่ต่อมไทมัส คือ Thymic carcinoid tumors เป็นกลุ่มของ neuroendocrine tumors ที่กำเนิดมาจากเซลล์ endodermal ของที่อื่น โดยปกติมักพบในทางเดินอาหารและที่ปอดมากกว่าที่ต่อมไทมัส

อาการของโรค

เนื้องอกร้ายของต่อมไทมัสมักพบในช่วงอายุ 20-40 ปี ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยไม่แสดงอาการอะไร แต่ตรวจพบจากภาพเอกซเรย์เมื่อป่วยเป็นโรคอื่น พวกที่แสดงอาการจะเป็นในลักษณะไอเรื้อรัง เจ็บหรือแน่นหน้าอก และหายใจลำบาก

บ่อยครั้งกว่าที่ผู้ป่วย Thymoma มาด้วยอาการของระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอื่น ๆ ที่เกิดร่วม เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซีดมาก ติดเชื้อง่าย ปวดตามข้อ ไทรอยด์โต ตาแห้ง ปากแห้ง

การวินิจฉัย

เนื้องอกที่ต่อมไทมัสวินิจฉัยได้ไม่ยากจากเอกซเรย์ดังกล่าว แต่การวินิจฉัยเนื้อร้ายต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อ

ระยะของโรค

  • ระยะที่ I ก้อนเนื้อยังอยู่ภายในแคปซูลของต่อมไทมัส
  • ระยะที่ II ก้อนเนื้อกินผ่านแคปซูลของต่อม ไปอยู่ในเนื้อเยื่อไขมันรอบ ๆ ต่อม
  • ระยะที่ III ก้อนมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงในทรวงอก เช่น ปอด เยื่อหุ้มหัวใจ เส้นเลือดใหญ่
  • ระยะที่ IV ก้อนมะเร็งมีการลุกลามมากขึ้น โดยแบ่งเป็น
    - IVA มะเร็งกระจายไปทั่วทั้งปอดและหัวใจ
    - IVB มะเร็งกระจายเข้าระบบหลอดเลือดและน้ำเหลืองไปอยู่ตามอวัยวะที่ไกลออกไป

การรักษา

Thymoma ระยะที่ I รักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว แต่ในระยะที่ II ต้องตามด้วยรังสีรักษา ในระยะที่ III และ IV ต้องดูว่าสามารถผ่าตัดก้อนออกได้หมดหรือไม่ ถ้าผ่าได้หมดก็จะตามด้วยรังสีรักษาหรือเคมีบำบัดอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าผ่าไม่ได้หมดก็จะให้ทั้งการรักษาเท่าที่จะทำได้

สำหรับ Thymic carcinoma ก็เช่นกัน ถ้าสามารถผ่าตัดออกได้ทั้งหมดก็จะผ่าตัดก่อน ตามด้วยรังสีรักษา ถ้าผ่าไม่ได้หมดก็จะให้ทั้งการรักษาเท่าที่จะทำได้ Thymic carcinoma เป็นเนื้องอกที่มีการกลับเป็นซ้ำหลังรักษาได้บ่อย

ส่วน Thymic carcinoid tumor รักษาด้วยการผ่าตัดและเคมีบำบัดเป็นหลัก