เนื้องอกที่ต่อมทอนซิล (Tonsillar tumors)
ต่อมทอนซิลคือต่อมน้ำเหลืองในช่องปาก มีหลายตำแหน่งได้แก่ ตำแหน่ง A คือ ต่อมอดีนอยด์ (adenoid หรือ pharyngeal tonsil) อยู่ในโพรงหลังจมูก ตำแหน่ง B คือ ต่อมทอนซิลที่ที่อยู่หลังรูเปิดของท่อยูสเตเชี่ยน (tubal tonsil) มีขนาดเล็ก ตำแหน่ง C คือ ต่อมทอนซิลที่เรารู้จักกันทั่วไป (palatine tonsil) อยู่สองข้างของโคนลิ้น และตำแหน่ง D คือต่อมทอนซิลที่อยู่ใต้ลิ้น (lingual tonsil) พยาธิสภาพของทอนซิลส่วนใหญ่จะเกิดที่ตำแหน่ง C
เนื้องอกไม่ร้ายที่ต่อมทอนซิล (Benign tonsillar tumors)
เนื้องอกไม่ร้ายที่ต่อมทอนซิลพบบ่อยในสองลักษณะคือ ติ่งเนื้อ (Squamous papilloma - รูปซ้ายมือ) และถุงน้ำ (tonsillar cyst - รูปขวามือ) นอกจากนั้นยังมีก้อนของหลอดน้ำเหลืองฝอย (Lymphangioma) ซึ่งเป็นการขยายตัวและคดเคี้ยวของหลอดน้ำเหลืองที่รวมกลุ่มกัน ทั้งหมดนี้ไม่อันตราย และไม่จำเป็นต้องตัดออก
เนื้องอกร้ายที่ต่อมทอนซิล (Malignant tonsillar tumors)
ร้อยละ 90 ของมะเร็งทอนซิลจะเป็น Squamous cell carcinoma ที่เหลือจะเป็นพวก Lymphomas (large cell lymphoma, diffuse lymphocytic lymphoma, Hodgkin's lymphoma) และ Undifferentiated carcinoma
Squamous cell carcinoma มักพบในช่วงอายุ 50-70 ปี เพศชายมากกว่าเพศหญิง 3-4 เท่า Large cell lymphoma มักพบในเด็ก Diffuse lymphocytic lymphoma พบในวัยผู้ใหญ่ทั่วไป และสัมพันธ์กับการมี lymphoma ในทางเดินอาหารด้วย
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การสูบบุหรี่และการดื่มสุราเป็นประจำ นอกจากนั้นยังมีการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) สายพันธุ์ที่ 16 จากการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก
อาการของโรค
มะเร็งทอนซิลมักเป็นข้างเดียวและไม่มีอาการในระยะที่มันยังมีขนาดเล็ก แต่เมื่อมันเริ่มมีขนาดโตกว่า 2 ซม. ก็จะเริ่มกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงในปาก ต่อมาก็ไปที่ต่อมน้ำเหลืองข้างลำคอ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์ด้วยอาการมีก้อนแข็งข้างลำคอมากกว่าจะสังเกตว่าตัวเองมีก้อนในช่องปาก
ก้อนที่ทอนซิลที่มีแนวโน้มจะเป็นเนื้อร้ายคือเป็นก้อนโตข้างเดียว ไม่เจ็บ ไม่มีจุดขาวของหนอง แต่มักมีหลุมของแผลและอาจมีเลือดออก ก้อนมีลักษณะแข็งและลามไปยึดติดกับเพดานอ่อน โคนลิ้น และกระพุ้มแก้มข้างนั้น
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งจะทำให้แยกชนิดของมะเร็งได้ และการทำ CT หรือ MRI เพื่อประเมินการกระจายของโรค
ระยะของโรคสำหรับ Squamous cell carcinoma
- ระยะที่ I เซลล์มะเร็งอยู่เฉพาะในต่อมทอนซิล
- ระยะที่ II เซลล์มะเร็งกระจายไปที่เพดานอ่อน โคนลิ้น หรือกระพุ้มแก้ม โดยที่ยังไม่มีต่อมน้ำเหลืองอื่นที่โตจนคลำได้
- ระยะที่ III ก้อนมะเร็งกินอวัยวะข้างเคียงมากเกินกว่า 3 แห่งของระยะที่ II หรือ มีต่อมน้ำเหลืองอื่นที่โตจนคลำได้แล้ว
- ระยะที่ IV มะเร็งกินออกมาถึงผิวหนัง หรือกระจายไปที่อวัยวะไกล ๆ
แนวทางการรักษา
ในระยะที่ I อาจเลือกวิธีผ่าตัดหรือรังสีรักษาก็ได้ขึ้นกับความพร้อมของแพทย์และปัจจัยความแข็งแรงและความเต็มใจของตัวผู้ป่วยเอง แต่โอกาสจะตรวจพบมะเร็งทอนซิลในระยะที่ I มีน้อยมาก ในระยะที่ II-IV การรักษาหลักคือการฉายรังสี หลังการฉายรังสีถ้าก้อนยุบลงไปมากและมีทางที่จะผ่าตัดออกได้แพทย์จะตัดสินใจร่วมกันกับผู้ป่วยอีกครั้ง หากมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่นที่ไกล ๆ แล้วมักเลือกให้เคมีบำบัดต่อแทนการผ่าตัด การฉายรังสีและเคมีบำบัดจะช่วยลดอาการปวด เลือดออก และกลืนลำบากของมะเร็งระยะลุกลามไปได้สักระยะหนึ่ง
ปัจจุบันมีการศึกษาวิธี Photodynamic therapy ที่ใช้ยาจับกับเซลล์มะเร็งก่อนที่จะให้มันออกฤทธิ์โดยฉายแสงไปที่ก้อนมะเร็งนั้น เพื่อลดอาการข้างเคียงของยาเคมีบำบัด