มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
ระบบน้ำเหลืองประกอบด้วย
- น้ำเหลือง ซึ่งมีเม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte ทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย
- หลอดน้ำเหลือง ที่ทอดคู่ขนานไปกับหลอดเลือดของร่างกายและลำเลียงน้ำเหลืองจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายกลับเข้าหัวใจ
- ต่อมน้ำเหลืองขนาดเล็กจำนวนมาก วางเรียงรายตามแนวของหลอดน้ำเหลือง ทำหน้าที่เป็นด่านกรองเชื้อโรคและเศษขยะออกจากน้ำเหลือง
- ต่อมน้ำเหลืองขนาดใหญ่ 3 ต่อม คือ ต่อมทอนซิล ม้าม และ ต่อมไทมัส ทำหน้าที่เหมือนต่อมน้ำเหลืองขนาดเล็ก
- ท่อน้ำเหลืองใหญ่ 2 ท่อ คือ Thoracic duct กับ Right lymphatic duct ที่รวบรวมน้ำเหลืองจากหลอดน้ำเหลืองทั้งหมดเทเข้าหัวใจห้องบนขวา
ชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีมากมายหลายชนิดตามเซลล์ต้นกำเนิด แต่ในทางการแพทย์แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
- ฮอดจ์กิน (Hodgkin's disease, HD, Hodgkin's lymphoma)
เซลล์ตั้งต้นของมะเร็งชนิดนี้คือกลุ่มของ "บีเซลล์" (B-cells) ในทางพยาธิจะพบเซลล์ตัวโต ๆ ที่มีนิวเคลียสขนาดใหญ่หลายอัน (มักมีสองอัน) ภายในมีนิวคลีโอลัสกลมใหญ่ติดสีเข้ม ถูกตั้งชื่อตามผู้ค้นพบว่า เซลล์รีดสเติร์นเบอร์ก (Reed-Sternberg cell)
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กินมักพบในคนอายุ 15-35 ปี มีการดำเนินโรคไปอย่างช้า ๆ ตอบสนองดีต่อยาเคมีบำบัด และพยากรณ์โรคดีกว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองทุกชนิดในระยะเดียวกัน
- นอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin lymphoma, NHL)
เป็นกลุ่มใหญ่ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ไม่พบเซลล์รีดสเติร์นเบอร์ก พบได้บ่อยกว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กินมาก ในกลุ่มนี้อาจแบ่งย่อยลงไปอีกตามกลุ่มเซลล์ตั้งต้นเป็น
กลุ่ม B-cell non-Hodgkin lymphoma พบ 90% ได้แก่
- Diffuse large B-cell lymphoma มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด เซลล์มีการแบ่งตัวเร็ว ผู้ป่วยจะทรุดลงเร็วภายใน 1-2 ปี
- Follicular lymphoma พบบ่อยเป็นอันดับสอง เป็นชนิดที่เซลล์มีการแบ่งตัวช้า ผู้ป่วยมีอาการน้อย มักจะอยู่ได้นานเป็นสิบปี ดังนั้นผู้ป่วยส่วนมากมักไปพบแพทย์ในระยะที่โรคมีการกระจายไปมากแล้ว มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้จะตอบสนองดีต่อการรักษา แต่มักมีการกลับเป็นซ้ำของโรคได้บ่อย
- Small lymphocytic lymphoma พบประมาณ 5% จัดเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง
- Splenic marginal zone lymphoma เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่เริ่มเป็นที่ม้าม พบได้ไม่บ่อย ส่วนมากมักโตช้าและไม่ต้องรักษา ยกเว้นในบางรายที่อาจจำเป็นต้องตัดม้ามออก
- Extranodal marginal zone B-cell lymphoma of mucosa-associated tissue (MALT) เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่มักเริ่มเป็นที่กระเพาะอาหาร พบสัมพันธ์กับการติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ผู้ป่วยบางส่วนมีประวัติโรคภูมิแพ้ตนเอง (Autoimmune disease) มาก่อน
- Nodal marginal zone lymphoma พบน้อยมาก มักเป็นในคนสูงอายุ
- Lymphoplasmacytic lymphoma มักพบร่วมกับภาวะที่มีความหนืดของเลือดเพิ่มขึ้น (Hyperviscosity syndrome)
- Mantle cell lymphoma จัดเป็นชนิดที่รุนแรง มักพบมีการกระจายของโรคไปที่ไขกระดูกและม้าม ไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษา ในปัจจุบันยังไม่มีสูตรยามาตรฐานที่ใช้
- Mediastinal large B-cell lymphoma มักพบก้อนขนาดใหญ่ที่กลางทรวงอก ซึ่งอาจกดเบียดเส้นเลือดใหญ่บริเวณลำคอ ทำให้เกิดภาวะ superior vena cava syndrome มักพบในผู้หญิงอายุระหว่าง 30-40 ปี
- Primary effusion lymphoma มักพบในกลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV หรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน จัดเป็นชนิดรุนแรงมาก ทำให้มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดหรือช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
- Burkitt’s lymphoma มักพบในชาวแอฟริกัน และมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส EBV
กลุ่ม T-cell non-Hodgkin lymphoma พบเพียง 10% ได้แก่
- Precursor T lymphoblastic lymphoma พบในเด็ก ลักษณะเป็นก้อนขนาดใหญ่บริเวณทรวงอก กระจายไปที่ไขกระดูกได้เร็ว จัดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่รุนแรงมาก
- Adult T-cell lymphoma มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส HTLV-1 มักพบเซลล์มะเร็งภายในกระแสเลือด ไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษา
- Angioimmunoblastic T-cell lymphoma มีลักษณะพิเศษคือ พบต่อมน้ำเหลืองโต มีไข้ น้ำหนักลด ผื่นผิวหนัง ร่วมกับระดับโปรตีนในเลือดที่สูงขึ้น ผู้ป่วยส่วนมากมักพบการติดเชื้อแทรกซ้อนได้บ่อย
- Extranodal T-cell lymphoma มักเป็นก้อนที่บริเวณจมูก พบบ่อยในเด็กและวัยรุ่นแถบเอเชีย
- Peripheral T-cell lymphoma พบในคนสูงอายุ
- Enteropathy type T-cell lymphoma พยาธิสภาพเริ่มที่ลำไส้ มักพบในผู้ป่วยโรค celiac disease
- Gamma-delta hepatosplenic T-cell lymphoma พบน้อยมาก แต่รุนแรง ทำให้มีตับม้ามโต ซีด เกล็ดเลือดต่ำและเม็ดเลือดขาวสูงคล้ายมะเร็งเม็ดเลือดขาว มักพบในเพศชายตั้งแต่วัยรุ่นถึงคนหนุ่ม
- พวกที่มีรอยโรคเริ่มต้นที่ผิวหนัง เช่น Subcutaneous panniculitis-like T-cell lymphoma, Anaplastic large cell lymphoma
อาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
อาการเริ่มต้นของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบได้บ่อยคือการพบก้อนที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ที่คอ รักแร้ ขาหนีบ โดยก้อนที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นมักไม่เจ็บ ซึ่งต่างจากการติดเชื้อที่มักมีอาการเจ็บที่ก้อน นอกจากนั้นผู้ป่วยอาจมีไข้, เหงื่อออกจนชุ่มเสื้อผ้าในเวลากลางคืน, อ่อนเพลีย, คันทั่วร่างกาย, บางรายจะปวดที่ต่อมน้ำเหลืองหลังการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นอาการของมะเร็งที่มีต้นกำเนิดมาจากบีเซลล์ หรือ B-symptoms ในระยะลุกลามจะเริ่มเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ต่อมทอนซิลโต ตับม้ามโต ซีด และติดเชื้อง่าย
ถ้าโรคเป็นปอดจะมีไอเรื้อรัง และหายใจไม่สะดวก ถ้าเป็นในสมองจะมีอาการปวดศีรษะ ถ้าเป็นในช่องท้องจะมีอาการแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย คลำได้ก้อนในช่องท้อง ต่อมน้ำเหลืองที่โตอาจกดหลอดเลือดหรือเส้นประสาทจนทำให้บวมหรือชาตามแขนขา
การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอกจากจะต้องซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้ว จะต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา (Biopsy), ตรวจไขกระดูก เพื่อประเมินว่ามีการกระจายเข้าไปในไขกระดูกหรือไม่, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan), เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), การสแกนกระดูก (Bone scan), และการตรวจ PET scan เพื่อประเมินระยะของโรค
ระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งง่าย ๆ ออกเป็น 4 ระยะ คือ
- ระยะที่ I มีรอยโรคที่ต่อมน้ำเหลืองหรือนอกต่อมน้ำเหลืองเพียงแห่งเดียว
- ระยะที่ II มีรอยโรคที่ต่อมน้ำเหลืองหรือนอกต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ 2 ตำแหน่งขึ้นไป ภายในด้านเดียวกันของกะบังลม (บนหรือล่างของลำตัว)
- ระยะที่ III มีรอยโรคที่ต่อมน้ำเหลืองหรือนอกต่อมน้ำเหลืองที่อยู่คนละด้านของกะบังลม และ/หรือ พบรอยโรคที่ม้ามร่วมด้วย
- ระยะที่ IV มีรอยโรคกระจายออกไปเกินกว่าต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะเริ่มต้นที่พบ ที่พบว่ากระจายไปบ่อย คือ ที่ตับ ไขกระดูก และปอด
การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองรักษาด้วยเคมีบำบัดเป็นหลัก อาจให้ร่วมกับการฉายรังสี การผ่าตัด และการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem cell transplantation) ปัจจุบันเริ่มมีการใช้แอนติบอดีที่เป็นสารสังเคราะห์ไปจับกับโปรตีนบนผิวของเซลล์มะเร็ง แล้วส่งผลให้มีการกระตุ้นการทำลายของเซลล์มะเร็งเพิ่มขึ้น อาจใช้เดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด
ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยควรมารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายโดยเฉพาะในช่องปากเพื่อป้องกันการติดเชื้อ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นเดินออกกำลังกายเท่าที่จะทำได้ และกลับมาพบแพทย์ทันทีที่มีไข้หนาวสั่น, มีเลือดออกผิดปกติหรือมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง, หรือวูบเวลาลุกขึ้นยืนบ่อย ๆ