เนื้องอกที่สมอง (Brain tumors)
ระบบประสาทของคนเราแบ่งออกเป็น 3 ระบบใหญ่ คือ
- ระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมอง และไขสันหลัง
- ระบบประสาทส่วนปลาย ได้แก่ เส้นประสาทสมอง 12 คู่ และเส้นประสาทไขสันหลัง 31 คู่
-ระบบประสาทอัตโนมัติ ได้แก่ ระบบการทำงานของอวัยวะภายในที่เราไม่สามารถจะควบคุมให้เป็นไปในทิศทางที่เราต้องการได้
ในส่วนของสมองยังแบ่งตามโครงสร้างใหญ่ ๆ ออกเป็นสมองใหญ่ (cerebral hemisphere) 2 ซีก, สมองน้อย (cerebellar hemisphere) 2 ซีก, และก้านสมอง (brain stem) รวมกันอยู่ภายในเยื่อหุ้ม 3 ชั้น ก่อนที่จะบรรจุลงในกะโหลกศีรษะที่แข็งแรง ภายในเนื้อสมองยังมีโพรงน้ำสมองและเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเซลล์ประสาทอีกมากมาย
เนื้องอกที่สมองพบประมาณร้อยละ 2 ของเนื้องอกทั้งหมดในร่างกาย และประมาณร้อยละ 10 ของมะเร็งทั้งหมด แบ่งเป็น
- เนื้องอกปฐมภูมิ ได้แก่ เนื้องอกของเเนื้อสมอง, เยื่อหุ้มสมอง, และอวัยวะอื่นภายในสมอง
- เนื้องอกทุติยภูมิ ซึ่งก็คือเนื้อร้ายของอวัยวะอื่นที่กระจายมาที่สมอง
เนื้องอกปฐมภูมิที่สมองค่อนข้างจะแตกต่างจากเนื้องอกที่อวัยวะอื่น เพราะในเนื้องอกชนิดเดียวกันมีทั้งเนื้อร้ายและไม่ร้าย และแม้จะเป็นเนื้องอกไม่ร้าย อาการแสดงก็ร้ายแรง เพราะเมื่อก้อนมีขนาดโตขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจกดเบียดตัวเนื้อสมองซึ่งทำหน้าที่ควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย หรือกระทั่งกดศูนย์ดำรงชีพ ทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนั้นการระบุชนิดของเซลล์รวมทั้งระบุว่าเซลล์นั้นเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ก็ทำได้เฉพาะเมื่อเข้าห้องผ่าตัดไปแล้ว ไม่สามารถตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิเพื่อให้ทราบล่วงหน้าก่อนการผ่าตัดได้เหมือนอวัยวะอื่น การวินิจฉัยโรคก่อนการผ่าตัดจะทำได้คร่าว ๆ โดยอาศัยข้อมูลทางสถิติของตำแหน่งและภาพทางรังสีเท่านั้น
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกปฐมภูมิที่สมอง
สาเหตุของเนื้องอกปฐมภูมิที่สมองยังไม่ทราบแน่ชัด บางส่วนมีสาเหตุมาจากโรคทางพันธุกรรม เช่น โรค Von Hippel-Lindau, Tuberous sclerosis, Neurofibromatosis เป็นต้น บางส่วนเกิดมาจากยีนที่ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ทำหน้าที่บกพร่อง บางส่วนเกิดจากการฉายรังสีในวัยเด็ก บางส่วนเกิดจากการได้รับสารเคมี เช่น ปิโตรเคมี Ethyl/Methyl nitrosourea, Anthracine derivatives, Vinyl chloride, Hydrocarbon และบางส่วนเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น PolyomaJC virus แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุ โดยรวมแล้วเนื้องอกที่สมองสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย
ชนิดและความรุนแรงของเนื้องอกปฐมภูมิที่สมอง
เนื้องอกปฐมภูมิที่สมองมีมากมายหลายชนิด ถ้าใช้เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกจะมีถึงกว่า 100 ชนิด โดยแบ่งความรุนแรงออกเป็น 4 เกรด คือ
- เกรด I เป็นพวกเนื้อไม่ร้าย โตช้า เซลล์ดูเหมือนเซลล์สมองปกติ
- เกรด II เป็นเนื้อร้ายแต่โตช้า มีการแทรกซึมไปเนื้อเยื่อข้างเคียง แต่เซลล์ยังดูคล้ายเซลล์ปกติ เมื่อตัดออกมีโอกาสกลับเป็นขึ้นมาอีกและเลื่อนเป็นเกรด III หรือ IV
- เกรด III เป็นเนื้อร้ายที่เซลล์มีลักษณะของมะเร็งชัดเจน โตเร็ว เมื่อตัดออกไปมักกลับเป็นขึ้นมาอีก
- เกรด IV เป็นเนื้อร้ายที่โตเร็วมาก มีการสร้างเส้นเลือดใหม่มาเลี้ยงก้อนของตัวเอง มีแนวโน้มที่จะเกิดการเน่าตายภายในก้อน
เนื้องอกปฐมภูมิที่สมองอาจจำแนกตามชนิดของเซลล์ตั้งต้นได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
A. Gliomas เป็นกลุ่มของเนื้องอกที่มีกำเนิดมาจาก glia cells ซึ่งเป็นเซลล์ที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของเซลล์ประสาท พบมากเกือบร้อยละ 80 ของเนื้องอกสมองทั้งหมด ตัวอย่างของเนื้องอกกลุ่มนี้ได้แก่
เกรด I | เกรด II | เกรด III | เกรด IV |
- Pilocytic astrocytoma - Subependymal giant cell astrocytoma - Protoplasmic astrocytoma - Ganglioglioma - Xanthomatous astrocytoma - Subependymoma | - Fibrillary astrocytoma - Ependymoma - Oligodendroglioma - Mixed oligo-astrocytoma - Optic nerve glioma | - Anaplastic astrocytoma - Anaplastic oligodendroglioma - Anaplastic mixed glioma | - Glioblastoma multiforme - Gliosarcoma - Gliomatosis cerebri |
B. Meningioma เป็นเนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง พบเกือบร้อยละ 20 ของเนื้องอกที่สมองทั้งหมด มีตั้งแต่เกรด I-III
C. กลุ่มอื่น ๆ ที่พบได้น้อย ได้แก่
- กลุ่ม Primitive neuroectodermal tumors (PNET) เป็นเนื้องอกของเนื้อเยื่อประสาทแรกเริ่ม มีความรุนแรงขั้นเกรด IV ทั้งหมด มักพบในเด็ก ได้แก่
- กลุ่มเนื้องอกบริเวณต่อมใต้สมอง ได้แก่
- กลุ่มเนื้องอกบริเวณต่อมไพเนียล ได้แก่
- กลุ่มเนื้องอกของ Choroid plexus ได้แก่
- Choroid plexus papilloma
- Choroid plexus carcinoma
- กลุ่มเนื้องอกของกระโหลกศีรษะและกล้ามเนื้อ มีทั้งเนื้อร้ายและไม่ร้าย ได้แก่
- Chondroma
- Chordoma
- พวก Sarcomas เช่น Gliosarcoma, Chondrosarcoma, Rhabdomyosarcoma
- พวก Lymphoma ของเนื้อสมอง
- พวกถุงน้ำในสมอง เช่น Colloid cyst, Arachnoid cyst, Dermoid cyst, Epidermoid cyst, Rathke's cleft cyst,
Pineal cyst
- เนื้องอกอื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นเกรด I เช่น Neurocytoma, Dysembroplastic neuroepithelial tumor (DNT), Lipoma, Hemangioblastoma, Hamartoma, Teratoma
อาการของเนื้องอกที่สมอง
เนื้องอกที่สมองอาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติได้หลายรูปแบบ ขึ้นกับว่าก้อนเนื้อไปกดที่ส่วนไหน อาการโดยทั่วไปได้แก่ อาการชัก, ปวดศีรษะร่วมกับอาเจียน, มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขา ถ้าไปกดทำลายส่วนที่ควบคุมเกี่ยวกับการพูดคุย คนไข้ก็จะสูญเสียความสามารถในการรับรู้ การเขียนอ่าน หรือการพูดคุย ถ้าก้อนอยู่ที่สมองน้อย (cerebellum) จะไปทำลายเกี่ยวกับการทรงตัว คนไข้อาจจะมีอาการเดินเซ ถ้าก้อนอยู่บริเวณฐานของกระโหลกจะไปกดเบียดเส้นประสาทตา คนไข้ก็จะมีอาการตามัว ตาเข หรือเห็นภาพผิดปกติ
คนไข้บางรายอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและพฤติกรรมคล้ายกับผู้ป่วยทางจิตได้
อาการที่เป็นอยู่จะค่อย ๆ ทรุดลงตามเวลา เนื่องจากเนื้องอกที่เป็นสิ่งที่ขยายตัวใหญ่ขึ้นตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอาการก็จะทรุดลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะความรู้สึกตัว ถ้าก้อนมีขนาดโตมากจนเบียดดันเนื้อสมองทั้งซีกไปอยู่อีกข้างหนึ่งก็อาจหมดสติหรือถึงขั้นเสียชีวิต
การวินิจฉัยเนื้องอกที่สมอง
แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกสมองจากการตรวจร่างกายทางระบบประสาทอย่างละเอียดร่วมกับการส่งทำ CT-scan หรือ MRI ของสมอง แต่การจะบอกชนิดและความรุนแรงที่แน่ชัดต้องอาศัยการตรวจทางพยาธิวิทยาของชิ้นเนื้อที่ได้จากการผ่าตัด
การรักษาเนื้องอกที่สมอง
การผ่าตัดเป็นทั้งการวินิจฉัยและการรักษาเบื้องต้นสำหรับเนื้องอกที่สมองแทบทุกชนิด (อาจยกเว้นเนื้องอกทุติยภูมิ หากทราบอวัยวะตั้งต้นแล้ว และเนื้องอกไม่ร้ายบางชนิดที่โดช้า) ในการผ่าตัดศัลยแพทย์ประสาทจะพยายามตัดเนื้องอกออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
หากผลชิ้นเนื้อออกมาเป็นเนื้อร้ายก็ต้องฉายรังสีรักษาต่อ เคมีบำบัดมีบทบาทน้อยสำหรับพวกมะเร็งสมอง เพราะเลือดที่ไปเลี้ยงสมองทั้งหมดจะผ่านตัวกรองพิเศษ ไม่ให้สารหรือยาใดใดเข้าถึงสมองได้โดยง่าย ยาเคมีจึงออกฤทธิ์ได้ไม่ดีนัก เคมีบำบัดมักนำมาเสริมการรักษาเนื้องอกร้ายของสมองที่เกิดในเด็ก เพราะรังสีรักษาอาจมีผลต่อการพัฒนาสมองในเวลาต่อมา
ผลการรักษาขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของเนื้องอก ตำแหน่งและขนาดของก้อน และอายุและสุขภาพของผู้ป่วย
เนื้องอกสมองทุกชนิดมักทำให้เนื้อสมองบวม และผู้ป่วยบางรายก็มีอาการชักร่วมด้วย ดังนั้น ก่อนและหลังผ่าตัดจึงควรให้ยาลดสมองบวมและยาควบคุมอาการชักด้วย