เนื้องอกที่ไขสันหลัง (Spinal cord tumors)
สมองและไขสันหลังถูกเรียกว่าระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) ไขสันหลังเป็นส่วนที่ยาวต่อลงมาจากก้านประกอบด้วยเซลล์ประสาท, เซลล์เกลีย (glia) ที่ช่วยค้ำจุนเซลล์ประสาท, โพรงน้ำไขสันหลัง, และเยื่อหุ้ม 3 ชั้นเหมือนสมอง บรรจุอยู่ภายในกระดูกสันหลัง ทำหน้าที่ถ่ายทอดกระแสประสาทระหว่างสมองกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ควบคุมการเกิดรีเฟล็กซ์ (reflex) เช่น การยกขาทันทีเมื่อเผลอเหยียบตะปู และควบคุมศูนย์สร้างรูปแบบการเคลื่อนไหวกลาง (central pattern generator)
ไขสันหลังของมนุษย์แบ่งออกเป็น 31 ปล้อง (segments) คือ 8 ปล้องส่วนคอ 12 ปล้องส่วนอก 5 ปล้องส่วนเอว 5 ปล้องส่วนกระเบนเหน็บ และ 1 ปล้องส่วนก้นกบ ในแต่ละปล้องจะมีคู่ของเส้นประสาทไขสันหลัง (spinal nerve) ออกมาจากด้านซ้าย-ขวา ซึ่งเส้นประสาทเหล่านี้เป็นเส้นประสาทที่มีเส้นใยประสาทแบบผสม คือมีทั้งส่วนที่รับความรู้สึกและสั่งการ
ไขสันหลังมีการป่องออกที่บริเวณคอและเอว เมื่อดูภาพตัดขวาง บริเวณรอบนอกของไขสันหลังจะมีสีอ่อนกว่าเรียกว่า เนื้อขาว (white matter) เป็นบริเวณที่มีเส้นใยประสาทที่งอกออกมาจากตัวเซลล์ประสาท ในส่วนกลางที่มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อจะมีสีเข้มกว่าเรียกว่า เนื้อเทา (gray matter) เป็นส่วนตัวเซลล์ประสาท ช่องว่างตรงกลางบรรจุน้ำไขสันหลัง ซึ่งไหลออกที่ส่วนล่างสุดของไขสันหลัง แล้วกระจายหุ้มโดยรอบไขสันหลังเพื่อป้องกันการกระแทกอีกชั้นหนึ่ง
ชนิดของเนื้องอกที่ไขสันหลัง
เนื้องอกที่ไขสันหลังพบประมาณร้อยละ 20 ของเนื้องอกที่ระบบประสาททั้งหมด โดยแบ่งตามตำแหน่งที่เกิดออกได้เป็น 3 ส่วน คือ
A. เนื้องอกในเนื้อไขสันหลัง (Intramedullary) พบได้น้อยมาก และมักจะเกิดบริเวณไขสันหลังส่วนคอ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เนื้อร้าย แต่มีข้อเสียตรงที่บริเวณที่เกิดจะเป็นบริเวณที่ผ่าตัดนำเนื้องอกออกได้ยากที่สุด เนื่องจากอยู่ที่ไขสันหลังส่วนบน มีความเสี่ยงที่จะพิการจากการผ่าตัดค่อนข้างสูง ชนิดของเนื้อที่พบมากคือ astrocytoma, ependymoma ถ้าสามารถผ่าตัดแยกเนื้องอกออกได้หมดมักจะไม่เกิดซ้ำอีก
B. เนื้องอกนอกเนื้อไขสันหลังแต่อยู่ภายในเยื่อหุ้มดูรา (Intradural-extramedullary) เนื้องอกในบริเวณนี้จะเป็นพวกเนื้องอกของเยื่อหุ้มไขสันหลัง (meningioma) และเนื้องอกของเส้นประสาท (schwannoma, neurofibroma) มักเป็นเนื้องอกไม่ร้าย แต่ผ่าตัดออกได้ค่อนข้างยาก และอาจจะเกิดซ้ำได้
C. เนื้องอกนอกไขสันหลัง (Extradural) เป็นเนื้องอกที่เกิดนอกเยื่อหุ้มไขสันหลังแต่โตเข้ามาในช่องไขสันหลัง ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งที่กระจายมาจากอวัยวะอื่น เช่น ปอด เต้านม ไต ต่อมไทรอยด์ ต่อมลูกหมาก ส่วนน้อยเป็นเนื้อปฐมภูมิของกระดูกสันหลังเอง เช่น osteosarcoma, osteoblastoma และ osteoid osteoma
อาการของเนื้องอกที่ไขสันหลัง
อาการจะขึ้นกับระดับของไขสันหลังที่เนื้องอกไปกดทับรากประสาท
ถ้าเป็นที่ระดับ คอ จะมีอาการ
- ปวดต้นคอ ร้าวลงแขนข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง
- ชา และ/หรือ อ่อนแรงที่แขนหรือมือ
- ถ้าเป็นมาก ขาจะอ่อนแรง และมีปัญหาระบบขับถ่ายร่วมด้วย
ถ้าเป็นที่ระดับ อก จะมีอาการ
- ปวดร้าวไปตามชายโครง, ปวดรัด ๆ แน่นอึดอัด
- ชาตั้งแต่ช่วงลำตัวลงไป
- ถ้าเป็นมาก ขาจะอ่อนแรง และมีปัญหาระบบขับถ่ายร่วมด้วย
ถ้าเป็นที่ระดับ เอว จะมีอาการ
- ปวดเอว ร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง
- ขาชา และ/หรือ มีปัญหาระบบขับถ่าย
อาการปวดหลังจากเนื้องอกที่ไขสันหลังมักปวดตอนกลางคืน ต่างจากอาการปวดหลังจากโรคกระดูกสันหลังเสื่อม ที่มักปวดเวลาขยับ เอี้ยวตัว ก้ม หรือเดิน และอาการปวดจากเนื้องอกไม่หายสนิทเมื่อนวดหรือใช้ยาบรรเทา
บ่อยครั้งที่เนื้องอกไม่แสดงอาการกดรากประสาทเลยจนกระทั่งโตไปเบียดอัดกับเนื้อของไขสันหลังโดยตรง ในกรณีนี้ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดหลังมาก และสูญเสียการควบคุมของอวัยวะระดับล่างลงไปทั้งหมด รวมทั้งการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระด้วย
สำหรับเนื้องอกที่ไม่ร้าย อาการอาจค่อยเป็นค่อยไปจนเข้าใจว่าเป็นการเจ็บป่วยจากโรคกระดูกสันหลัง เช่น หมอนรองกระดูกเสื่อม กระดูกทับเส้น หรือโรคปลายประสาทอักเสบ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังร่วมกับอาการชาและหรืออ่อนแรง ควรได้รับการตรวจด้วยเอกซเรย์ และ/หรือ MRI ทุกราย
การวินิจฉัย
นอกจากประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจทางระบบประสาทอย่างละเอียดแล้ว แพทย์จะทำเอกซเรย์กระดูกสันหลัง, CT-scan, หรือ MRI ในที่ที่สามารถทำได้ ถ้าไม่มีเครื่องตรวจพิเศษดังกล่าวก็อาจใช้การเอกซเรย์ร่วมกับฉีดสารทึบรังสีเข้าในช่องไขสันหลังที่เรียกว่า myelogram แต่การวินิจฉัยสุดท้ายว่าเป็นเนื้องอกชนิดใดต้องอาศัยผลตรวจชิ้นเนื้อ
การรักษา
กรณีที่เป็นเนื้องอกในเนื้อไขสันหลัง แพทย์มักจะแนะนำให้ผ่าตัดแยกเนื้องอกออกให้หมด แต่เนื่องจากเนื้องอกที่พบส่วนใหญ่เป็นเนื้อไม่ร้าย ดังนั้นการผ่าตัดจึงไม่ต้องทำกระทันหัน ขึ้นอยู่กับอาการของโรค ณ ขณะนั้น ถ้ามีอาการปวดร่วมกับชา ยังไม่มีอาการอ่อนแรง คุณยังมีเวลาในการหาแพทย์เพื่อคุยถึงแนวทางผ่าตัดที่ทำให้คุณมั่นใจที่สุด เนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่มีความเสี่ยงมาก จำเป็นต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และถ้าไม่สามารถผ่าเอาเนื้องอกออกได้หมดก็อาจจำเป็นต้องมีการรักษาต่อด้วยการฉายแสง ขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้องอกว่ามีการตอบสนองต่อวิธีการฉายแสงดีแค่ไหน
กรณีที่เป็นเนื้องอกนอกเนื้อไขสันหลังแต่อยู่ภายในเยื่อหุ้มดูรา การผ่าตัดควรรีบทำตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้การฟื้นตัวของไขสันหลังได้ดีขึ้น และเพื่อจะได้ชิ้นเนื้อไปตรวจให้ทราบชนิดของเนื้องอก
กรณีที่เป็นเนื้องอกนอกเยื่อดูรา ส่วนใหญ่จะเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจายมาจากที่อื่น การรักษาจะมุ่งเน้นให้เคมีบำบัดสำหรับมะเร็งระยะลุกลามของอวัยวะต้นตอ ส่วนที่ไขสันหลังจะใช้รังสีรักษาเป็นหลัก หรืออาจพิจารณาผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังที่เสียความมั่นคงไป
ผลการรักษา
เนื้องอกที่ไขสันหลังแม้จะเป็นเนื้อไม่ร้าย ผลการรักษาก็ยังขึ้นกับระดับของรอยโรคและอาการอ่อนแรงก่อนการผ่าตัด
- ยิ่งรอยโรคเกิดที่ไขสันหลังในระดับที่สูงขึ้นเท่าใด โอกาสเสี่ยงต่อความพิการหลังผ่าตัดก็มีสูงมากขึ้น
- จากการศึกษาพบว่า
ถ้าผู้ป่วยยังเดินได้เอง หลังผ่าตัดมีโอกาสที่จะเดินได้เอง > 60%
ถ้าผู้ป่วยอ่อนแรงขาสองข้าง หลังผ่าตัดมีโอกาสที่จะเดินได้เอง 35%
ถ้าผู้ป่วยเป็นอัมพาตขาสองข้าง (ขยับไม่ได้เลย) หลังผ่าตัดมีโอกาสที่จะเดินได้เอง 0-25%