เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง (Meningioma)

สมองและไขสันหลังประกอบด้วยเยื่อหุ้ม 3 ชั้น ชั้นนอกสุดหนา เหนียว แข็งแรง เรียกว่า เยื่อดูรา เป็นชั้นที่เกิดเนื้องอกได้บ่อยที่สุด ชั้นกลางเป็นชั้นบาง ๆ มีเส้นเลือดทอดผ่านทั้งผิวนอกและผิวใน เรียกว่า เยื่ออะแร็กนอยด์ ชั้นในสุดบางมาก แนบชิดไปกับลอนของสมอง เรียกว่า เยื่อเพีย

เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมองพบค่อนข้างบ่อยในผู้ใหญ่ อุบัติการณ์จะสูงขึ้นตามอายุ น้อยมากที่จะเกิดในเด็ก เพศหญิงพบเป็น 2 เท่าของเพศชาย ส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกไม่ร้าย โตช้า บางก้อนมีน้ำอยู่ภายใน บางก้อนมีหินปูนด้วย ซึ่งแสดงถึงสภาพที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และบางก้อนมีกลุ่มของเส้นเลือดจำนวนมาก เนื้องอกร้ายของเยื่อหุ้มสมองพบเพียง 1-3%

ปัจจัยเสี่ยง

พบว่าร้อยละ 50 ของก้อน meningioma มีความผิดปกติของโครโมโซมที่ 22 ซึ่งเป็นโครโมโซมที่ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ แต่สาเหตุที่เกิดความผิดปกติของโครโมโซมนี้ยังไม่ทราบ นอกจากนั้นยังพบว่าในก้อน meningioma มักมี platelet-derived growth factor (PDFGR) และ epidermal growth factor receptors (EGFR) มากกว่าเซลล์ปกติ ซึ่งสารเหล่านี้ส่งเสริมให้เซลล์เจริญเติบโต

ปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่สำคัญคือการได้รับรังสีบริเวณศีรษะ เช่น การได้รับรังสีขนาดต่ำ ๆ ที่หนังศีรษะเพื่อรักษาเชื้อรา Tinea capitis หรือการได้รับรังสีรักษาเนื้องอกในสมองมาก่อน

ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมและโรคทางกรรมพันธุ์บางโรค เช่น Neurofibromatosis type 2 ก็มีโอกาสเกิดเนื้องอกของเยื่อหุ้มสมองได้มากกว่าคนปกติ

อาการของโรค

เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมองมักโตเข้าด้านในสมอง แต่เนื่องจากที่มันโตช้า อาการจึงเป็นไปในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป

  1. อาการชัก เกิดจากการระคายเคืองที่ผิวสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่นำกระแสประสาทไปที่กล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ ให้ทำงานสัมพันธ์กัน
  2. ปวดศีรษะ อาจียน เกิดจากความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น เพราะมีเนื้องอกมากินที่หรือปิดทางเดินของน้ำในโพรงสมอง
  3. อาการผิดปกติทางระบบประสาทตามตำแหน่งที่มันเกิด

รูปซ้ายมือแสดงตำแหน่งที่พบบ่อยของเนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง ตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุดคือแนวกลางลำตัว (Parasagital และ Falcine) ถัดมาคือที่ผิวด้านนอกของสมอง (Convexity) กับบริเวณฐานสมองที่เรียกว่า Sphenoid wing จะเห็นว่าส่วนใหญ่พบในกะโหลกศีรษะ ที่ไขสันหลังพบเพียง 1% ดังนั้นอาการผิดปกติทางระบบประสาทส่วนใหญ่จะเป็นไปตามตำแหน่งที่มันพบบ่อย เช่น ขาหรือแขนข้างตรงข้ามกับก้อนอ่อนแรง, กล้ามเนื้อใบหน้าและ/หรือลูกตาอ่อนแรง ใบหน้าชา ตามัว เห็นภาพซ้อน จมูกไม่ได้กลิ่น หูหนวก กลืนลำบาก เป็นต้น

ก้อนเนื้องอกที่อยู่ทางส่วนหลังของสมองจะเบียดสมองน้อย (cerebellum) ทำให้เสียการทรงตัว เดินเซ กะระยะไม่ได้

กรณีที่ก้อนอยู่ใกล้โพรงสมอง ก้อนจะเบียดทางเดินของน้ำในโพรงสมอง ทำให้ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า (เพิ่มจากขนาดของก้อนและแรงดันน้ำที่ไหลลงไขสันหลังไม่ได้) กรณีนี้คนไข้จะซึมลงเร็ว และอาจถึงขั้นเสียชีวิต

ถ้าเนื้องอกเกิดที่ไขสันหลังจะมีอาการปวดหรือชา และอ่อนแรงของแขนหรือขาข้างเดียวกับตำแหน่งของก้อน

การวินิจฉัย

เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมองมักวินิจฉัยได้เมื่อมันโตแล้ว เพราะตอนที่มันเล็กอยู่ยังไม่แสดงอาการ เมื่อมีอาการทางระบบประสาทดังกล่าว แพทย์จะทำ CT-scan หรือ MRI ของสมองเพื่อดูความผิดปกติของตำแหน่งที่เกิดอาการ ภาพเอกซเรย์ธรรมดาของกะโหลกศีรษะก็อาจเห็นลักษณะของ hyperostosis, increased vascular markings of the skull, และหินปูนในสมอง

การทำ PET scan หรือ MRS (Magnetic resonance spectroscopy) ในปัจจุบันสามารถบอกความรุนแรงของก้อนก่อนผ่าตัดได้ แต่ค่าใช้จ่ายในการทำค่อนข้างสูงและทำได้เฉพาะในสถาบันใหญ่

Arteriogram จะทำในกรณีที่แพทย์ต้องการอุดเส้นเลือดที่ไปเลี้ยง (embolization) สำหรับก้อนเนื้องอกที่มีเส้นเลือดไปเลี้ยงมากก่อนที่จะผ่าตัด เพื่อลดการสูญเสียเลือดในระหว่างการผ่าตัด

การรักษา

เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมองส่วนใหญ่มีความรุนแรงอยู่ในเกรด I และสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการผ่าตัดออกให้หมด แต่ก็มีบางส่วนที่ก้อนนื้องอกเติบโตหุ้มรอบเส้นเลือดสมองหรือเส้นประสาทที่สำคัญ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือพิการถ้าผ่าตัดออกหมด และส่วนน้อยที่มีความรุนแรงในเกรด II-III ซึ่งมีโอกาสกลับคืนมาอีกแม้จะผ่าตัดออกได้ ทั้งสองกรณีนี้แพทย์จะใช้รังสีรักษาเข้ามาช่วย

รังสีรักษาเนื้องอกในสมองโดยทั่วไปจะฉายรังสีในขนาดต่ำ 5 วัน/สัปดาห์ เป็นเวลา 5-6 สัปดาห์ติดต่อกัน แต่มีการรักษาอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า Sterotactic radiosurgery เป็นการฉายลำแสงขนาดเล็กจำนวนมากไปที่ก้อนเนื้องอกเพียงครั้งเดียวแทนการผ่าตัด ซึ่งสามารถควบคุมการเติบโตของเนื้องอกขนาดเล็กได้ (ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่จะไม่สามารถรักษาโดยวิธีนี้ได้) วิธีนี้เนื้องอกจะไม่ยุบหายไป แต่จะมีขนาดคงที่ หรือโตช้าขึ้นมาก และไม่เป็นภัยคุกคามต่อผู้ป่วย โดยทั่วไปแพทย์จะเลือกใช้วิธีแทนการผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัด เช่น อายุมาก สุขภาพไม่แข็งแรง และมีเนื้องอกขนาดเล็กอยู่ในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดสูง ข้อเสียของวิธีนี้คือการไม่ได้ชิ้นเนื้อมาตรวจดูชนิดของเซลล์ที่แท้จริง เพราะไม่มีการผ่าตัด