เนื้องอกที่ปากมดลูก (Tumors of cervix, cervical tumors)

ปากมดลูก หรือคอมดลูก เป็นส่วนหนึ่งของตัวมดลูกที่ยื่นเข้ามาในช่องคลอด มีลักษณะคอดเหมือนปากขวด โดยตัวมดลูกเสมือนเป็นขวดคว่ำ ปากมดลูกจะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนนอกจะมีผิวเรียบสีขาวปนชมพู บุด้วยเซลล์ชนิดแบนเป็นแผ่น (squamous cells) เรียกว่า ectocervix ส่วนในมีสีแดงปนชมพูคล้ายกำมะหยี่ บุด้วยเซลล์รูปร่างเป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้า (columnar cells) รอบรูเปิดเข้าไปในมดลูก เรียกส่วนนี้ว่า endocervix บริเวณที่เป็นรอยต่อระหว่าง ectocervix และ endocervix นี้มักเป็นจุดเริ่มต้นของมะเร็งปากมดลูก

เนื้องอกไม่ร้ายที่ปากมดลูก (Benign tumors of cervix)

เนื้องอกที่ปากมดลูกไม่ได้มีเฉพาะมะเร็ง เนื้องอกไม่ร้ายที่ปากมดลูกมี 3 ชนิด ได้แก่

  1. Cervical polyps เป็นติ่งเนื้อที่ยื่นออกมาในรูของ endocervix ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดคล้ายมะเร็ง
  2. Nabothian cyst เป็นถุงน้ำที่ภายในบรรจุมูกที่ผลิตจาก endocervix ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ มักตรวจพบในระหว่างการตรวจภายใน
  3. Cervical fibroid (หรือ Leiomyoma) เป็นก้อนเนื้อที่โตมาจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูก เป็นเนื้องอกไม่ร้าย แต่ถ้ามีขนาดใหญ่อาจพิจารณาตัดออก

เนื้องอกร้ายที่ปากมดลูก (Malignant tumors of cervix)

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งในผู้หญิงไทย ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papilloma virus) ที่อวัยวะเพศ นอกจากนั้นยังพบบ่อยในหญิงที่มีคู่นอนหลายคน, เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, สูบบุหรี่, หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

มะเร็งที่ ectocervix และตรงบริเวณรอยต่อจะเป็น Squamous cell carcinoma พบมากถึงร้อยละ 85 ของมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด ส่วนมะเร็งที่ endocervix จะเป็น Adenocarcinoma พบประมาณร้อยละ 10 ที่เหลือเป็นเซลล์ชนิดอื่นที่พบได้น้อย เช่น Adenosquamous carcinoma, Glassy cell carcinoma, Adenoid cystic carcinoma, Adenoid basal epithelioma, Small cell carcinoma, Melanoma, Lymphoma, และมะเร็งพวก carcinoid กับพวก sarcoma

อาการของมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการ เมื่อโรคขยายไปแล้ว อาการที่พบได้มากที่สุด คือ มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด อาจเป็น

เมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้นจะกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ, กระเพาะปัสสาวะ, ลำไส้ใหญ่, กระดูกก้นกบ ทำให้มีอาการ

ระยะของมะเร็งปากมดลูก

  • ระยะที่ 0 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งยังอยู่เฉพาะที่เยื่อบุผิว (carcinoma in situ) ตรวจพบจากการตรวจคัดกรองโดยวิธี Pap smear
  • ระยะที่ I มะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะที่ปากมดลูก อัตราการมีชีวิตรอดหลังรักษาแล้ว 5 ปี (5-year survival rate) มีสูงถึง 85%
  • ระยะที่ II มะเร็งลุกลามไปที่เนื้อเยื่อข้างปากมดลูก และ/หรือผนังช่องคลอดส่วนบน
  • ระยะที่ III มะเร็งลุกลามไปที่ด้านข้างของผนังเชิงกราน และ/หรือผนังช่องคลอดส่วนล่าง หรือกดท่อไตจนเกิดภาวะไตบวมน้ำ
  • ระยะที่ IV มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นที่อยู่ใกล้เคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ตรง หรืออวัยวะอื่นที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ กระดูก

นอกจากนี้ยังมีการให้เกรดตามลักษณะและความไวในการแบ่งตัวของเซลล์ด้วย เป็น Well differentiated คือเซลล์มะเร็งดูคล้ายเซลล์ปกติ แสดงว่ามันโตช้า ไม่ค่อยลุกลาม กับ Poorly differentiated (หรือ Undifferentiated) คือเซลล์มะเร็งดูหน้าตาแปลกประหลาดออกไป ไม่เหมือนเซลล์ปกติ แสดงว่ามันโตเร็วและมักกระจายไปที่อื่น

การรักษามะเร็งปากมดลูก

ระยะก่อนมะเร็งหรือระยะที่ศูนย์สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยไม่ต้องตัดมดลูกออก และมีได้หลายวิธี เช่น

  • ติดตามอย่างใกล้ชิด (ตรวจภายใน ทำแพปสเมียร์ และตรวจด้วยกล้องขยาย ทุก 4-6 เดือน) รอยโรคขั้นต่ำบางชนิดสามารถหายไปได้เองภายใน 1-2 ปี
  • ตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า
  • จี้ปากมดลูกด้วยความเย็น
  • จี้ด้วยเลเซอร์

สำหรับระยะที่ I-IV การเลือกวิธีรักษาขึ้นกับสภาพของผู้ป่วย ระยะของมะเร็ง และความพร้อมของโรงพยาบาลหรือแพทย์ผู้ดูแลรักษา

  • ระยะที่ I และ II บางรายรักษาโดยการตัดมดลูกออกแบบกว้างร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองเชิงกรานออก
  • ระยะที่ II-IV บางรายรักษาโดยการฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด