การเกิดเนื้องอก

ก้อนเนื้อผิดปกติที่เกิดขึ้นในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเรานั้น เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ในร่างกายมากจนเกินไป (ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค จึงไม่ใช่โรคติดต่อ) การแบ่งตัวนี้มี 2 ชนิด คือ

  1. เซลล์เนื้องอกที่แบ่งตัวช้า ไม่ค่อยทำลายเซลล์ข้างเคียงที่ปกติ ไม่มีการกินทะลุเข้าไปในหลอดเลือดและท่อน้ำเหลือง ทำให้ไม่มีโอกาสที่เซลล์เนื้องอกจะกระจายตามหลอดเลือดและหลอดน้ำเหลือง ไปเติบโตเป็นก้อนที่อวัยวะอื่นที่อยู่ไกลออกไปได้ การเติบโตแบบนี้ก่อให้เกิดเนื้องอกไม่ร้าย (benign tumor) ตัวอย่างเช่น Fibroadenoma ของเต้านม, Follicular adenoma ของต่อมไทรอยด์ , Myoma ของมดลูก, Mixed tumor ของต่อมน้ำลาย, Lipoma ของเนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนัง เป็นต้น
  2. เซลล์เนื้องอกที่แบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว มีการเบียดแทรกและทำลายเซลล์ปกติที่อยู่ข้างเคียง อีกทั้งยังสามารถแทรกตัวทะลุเข้าไปในหลอดน้ำเหลืองและหลอดเลือดได้ และอาศัยการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองพัดพามันไปเจริญเติบโตเป็นก้อนที่อวัยวะอื่นได้ การแบ่งตัวแบบนี้ก่อให้เกิดเนื้องอกร้าย (malignant tumor) หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า มะเร็ง ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ตามชนิดของเซลล์ ดังนี้
    • มะเร็งกลุ่ม Carcinoma ได้แก่ มะเร็งที่มาจากเซลล์เยื่อบุผิว เป็นชนิดที่พบมากที่สุด
    • มะเร็งกลุ่ม Sarcoma ได้แก่ มะเร็งที่มาจากเซลล์ไขมัน กล้ามเนื้อ เส้นประสาท เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน กระดูก และกระดูกอ่อน
    • มะเร็งกลุ่ม Lymphoma ได้แก่ มะเร็งที่มาจากเซลล์ของต่อมน้ำเหลืองและเนื้อเยื่อของระบบภูมิต้านทาน
    • มะเร็งกลุ่ม Leukemia ได้แก่ มะเร็งของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่อยู่ในไขกระดูก
    • มะเร็งกลุ่ม Melanoma ได้แก่ มะเร็งที่มาจากเซลล์ผลิตเม็ดสี (Melanocytes) ซึ่งพบตามผิวหนัง

ความจริงเนื้องอกไม่ร้ายพบมากกว่าเนื้องอกร้ายหลายเท่า และสามารถเกิดได้ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวัยชรา แต่เราอาจไม่สนใจนัก เพราะรักษาได้ไม่ยากและรอได้หากยังไม่อยากรักษา ผิดกับมะเร็งที่รักษาได้เฉพาะในระยะเริ่มต้นเท่านั้น

ปัจจัยภายใน

การเกิดเนื้องอกโดยเฉพาะมะเร็งมาจากปัจจัยภายในร่างกายของเราเองมากกว่าปัจจัยจากภายนอก ปัจจัยภายในเหล่านี้คือ

  • ยีนที่ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ ซึ่งมี 2 กลุ่ม คือ
    1. ยีนที่ยับยั้งการแบ่งเซลล์ (tumor suppressor gene) ตัวอย่างยีนชนิดนี้ ได้แก่ p53 gene โดยเมื่อเซลล์ถูกแสงอัลตร้าไวโอเลต ซึ่งอาจทำให้ DNA เกิดความเสียหายได้ p53 gene จะสร้าง transcription factor โดยหยุดเซลล์ไว้ที่ระยะ G1 เพื่อซ่อมแซม DNA ที่แตกหักเสียหายก่อนที่จะปล่อยให้เซลล์เข้าสู่ระยะ S ซึ่งมีการสังเคราะห์ DNA ใหม่ ในกรณีที่ DNA แตกหักเสียหายจนไม่อาจซ่อมแซมให้กลับดังเดิมได้ p53 จะกำหนดให้เซลล์ตาย (Apoptosis) ในภาวะที่เซลล์ขาด p53 gene จะส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็ง
    2. ยีนที่กระตุ้นการแบ่งเซลล์ (oncogene) เพื่อควบคุมจำนวนเซลล์ในร่างกายของเราให้มีเพียงพอแก่การใช้งานได้ตลอดเวลา ยีนกลุ่มนี้เมื่อมีการแสดงออกมากเกินไปจะทำให้เซลล์แบ่งตัวโดยไม่มีที่สิ้นสุด
  • ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของแต่ละบุคคล โดยปกติเซลล์มะเร็งจะสร้างสารต่าง ๆ ในรูปของโปรตีนและโพลีเปปไทด์ออกมาที่พื้นผิว เสมือนเป็นสิ่งแปลกปลอมให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราตรวจจับได้ (เรียกว่า Tumor Associated Antigen -TAA) หรือ Tumor Specific Transplantation Antigen - TSTA) แต่โดยเหตุใดก็ตามที่ร่างกายไม่สามารถจะตรวจพบหรือไม่สามารถทำลายแอนติเจนเหล่านี้ เซลล์มะเร็งก็จะแบ่งตัวไปได้เรื่อย ๆ
  • เชื้อชาติ อายุ กรรมพันธุ์ และเพศ เนื้องอกบางชนิดพบมากในเฉพาะบางเชื้อชาติ มะเร็งกลุ่ม Sarcoma พบมากในคนอายุน้อย ขณะที่มะเร็งกลุ่ม Carcinoma จะพบมากในคนอายุมาก และมะเร็งบางชนิดจะพบเฉพาะในเด็กเท่านั้น เช่น มะเร็งของลูกตาชนิดเรติโนบลาสโตมา (Retinoblastoma) ยีนที่เราได้รับมาจากบรรพบุรุษ เช่น BRCA1 และ BRCA2 จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ นอกจากนั้น มะเร็งบางชนิดก็พบมากในเพศชาย เช่น มะเร็งปอด มะเร็งตับ แต่มะเร็งเต้านมกลับพบมากในเพศหญิง จึงเชื่อว่ายังมีปัจจัยภายในอีกมากที่เรายังไม่ทราบ ที่กระตุ้นให้เกิดเนื้องอกขึ้น
  • รอยโรคตั้งต้น (precancerous lesion) เช่น ไฝดำ ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ แผลที่หลอดอาหารที่เกิดจากกรดไหลย้อนในกระเพาะเรื้อรัง รอยโรคเหล่านี้มีโอกาสที่จะกลายเป็นเนื้องอกร้ายในภายหลัง

บางท่านอาจมองว่าปัจจัยหลักภายในเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ในศาสตร์การแพทย์ทางตะวันออกระบุว่าเราสามารถเสริมกลไกของธรรมชาติภายในร่างกายของเราได้ง่าย ๆ จากความรู้สึกของเราเอง ความรู้สึกกลัว คาดหวัง ด้อยค่า ขาดแคลน ฯลฯ จะบั่นทอนพลังการสมานตัวภายในร่างกายเราเอง ขณะที่ความกล้าเผชิญกับทุกสิ่งที่จะเข้ามา รู้ค่าและพอใจกับสิ่งที่มีที่เป็นอยู่ ไม่คาดหวังหรือวางแผนอะไรที่ฝืนธรรมชาติ จะกลับช่วยให้ร่างกายของเราทำหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่ถูกกำหนดมาได้อย่างเรียบร้อยสมบูรณ์

ปัจจัยภายนอก

ปัจจัยภายนอกแม้จะเป็นส่วนน้อย แต่ก็เป็นส่วนที่เราสามารถจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อให้เสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกต่าง ๆ น้อยลง ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่

  • บุหรี่ เป็นสารก่อมะเร็งตัวสำคัญของโลก และยังเป็นสาเหตุต้น ๆ ของโรคทุพพลภาพทางปอดต่าง ๆ อีกด้วย
  • สุรา เป็นปัจจัยเสริมของการเกิดมะเร็งหลายชนิด รวมทั้งมะเร็งตับจากโรคตับแข็ง อีกทั้งยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุและคดีความต่าง ๆ มากมายในแต่ละปีอีกด้วย
  • เนื้อสัตว์ที่ผ่านการปิ้งย่างจนเกรียม มีสารที่ส่งเสริมการเกิดมะเร็งของกระเพาะอาหารได้
  • อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อราอะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) เช่น ในถั่วลิสงบดที่เก็บไว้เป็นเวลานาน
  • เชื้อโรคบางชนิด เช่น ไวรัสเอชพีวี (Human papillomavirus), Epstein-Barr virus, ไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง, ไวรัสเอดส์, แบคทีเรีย H. pylori, พยาธิใบไม้ในตับ เป็นต้น
  • สารเคมีบางชนิด เช่น แร่ใยหิน (asbestos), ไดออกซิน (dioxin), สารหนู (arsenic), เบนซีน, นิเกิล, แคดเมียม, โครเมียม, ไวนิลคลอไรด์ (vinyl chloride) เป็นต้น
  • รังสีบางชนิด เช่น รังสีแกมมา, อนุภาคแอลฟา, รังสีเอกซ์, รังสียูวี, สารกัมมันตภาพรังสี ที่ได้รับในปริมาณมาก
  • วิถีชีวิตของคนเมือง ที่เร่งรีบ มุ่งมั่นแข่งขัน, กินพวกธัญพืช ผัก และผลไม้น้อย (กินแต่แป้ง-เนื้อสัตว์-ไขมัน-น้ำตาล), พักผ่อนไม่พอ สัมผัสกับธรรมชาติน้อย

ปัจจัยเหล่านี้จะมีความเสี่ยงก็ต่อเมื่อได้รับเข้าไปเป็นเวลานาน และแม้ในผู้ที่สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้เป็นเวลานาน ๆ ก็ไม่ใช่จะเกิดเนื้องอกได้ทุกคน หากระบบภายในดี โรคภัยไข้เจ็บใด ๆ ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้