วิธีรักษาเนื้องอกร้าย

มะเร็งแต่ละชนิดและแต่ละระยะมีวิธีการรักษาที่ต่างกัน ผลการรักษามะเร็งจะวัดที่ระยะเวลาที่โรคไม่แสดงอาการหลังการรักษา (remission) และอัตราการมีชีวิตยืนยาวต่อไปในอีก 5 ปี (5-year survival rate) บ่อยครั้งที่มะเร็งชนิดนั้นหรือในระยะนั้นตอบสนองต่อวิธีการรักษาต่าง ๆ ไม่ดี ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายและผลข้างเคียงจากการรักษา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้เลือกทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับเรา ในหน้านี้จะได้อธิบายถึงวิธีการรักษามะเร็งเท่าที่มีในปัจจุบันและผลข้างเคียงที่พบบ่อย ซึ่งเราอาจต้องตัดสินใจเสี่ยงเพื่อแลกกับโอกาสหายหรือโอกาสที่จะมีชีวิตยืนยาวต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ผ่าตัด

เมื่อมีเนื้องอกเกิดขึ้น การผ่าตัดจะเข้ามามีบทบาททั้งเพื่อการวินิจฉัยและเพื่อการรักษา หากเป็นมะเร็งระยะแรก การผ่าตัดเป็นวิธีที่ให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด หากเป็นในระยะกลางอาจต้องใช้วิธีรักษาอย่างอื่นร่วมด้วยหลังผ่าตัด และหากเป็นในระยะที่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปที่อื่นแล้ว การผ่าตัดอาจเพียงช่วยบรรเทาอาการลงไปบ้างเท่านั้น

หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องอยู่กับร่างกายใหม่ที่ปราศจากอวัยวะที่เป็นมะเร็งนั้น เช่น ไม่มีเต้านมข้างหนึ่ง, ต้องมีถุงเก็บอุจจาระที่หน้าท้อง, หรืออาจมีความพิการบางอย่างที่คงอยู่ตลอดไป ซึ่งผู้ป่วยควรจะเตรียมใจรับสภาพนั้นให้ได้ก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด แต่การมีหรือไม่มีอวัยวะใดไม่สามารถเปลี่ยนตัวตนที่แท้จริงของเราได้ มันอาจทำให้เรารู้จักกับตัวเองมากขึ้นด้วยซ้ำ หากการผ่าตัดนั้นมีโอกาสที่จะหายขาดได้สูงก็ควรที่จะทำ และผู้ใกล้ชิดก็ควรจะให้กำลังใจผู้ป่วยให้มากหลังจากนั้น

มะเร็งที่เกิดเฉพาะที่ ที่ถูกประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะแรกนั้น อาจมีการกระจายไปแล้วหลังทราบผลพยาธิวิทยาของชิ้นเนื้อที่ผ่าตัดออกไป ดังนั้นระยะของโรคที่แท้จริงจะทราบแน่ชัดหลังการผ่าตัด

รังสีรักษา

รังสีที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง ได้แก่ รังสีแกมมา และรังสีเอ็กซ์ รังสีทั้งสองชนิดนี้ทำให้เซลล์มะเร็งตายหรือเซลล์สูญเสียคุณสมบัติในการแบ่งตัว การฉายรังสีไปยังตำแหน่งที่เป็นโรคสามารถคำนวณพื้นที่ครอบคลุมและความลึกของปริมาณรังสีสูงสุดได้อย่างแม่นยำ แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนนิ่ง ๆ ในขณะที่ฉายรังสี ซึ่งกินเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น การฉายรังสีไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดเหมือนอย่างการผ่าตัด แต่ปริมาณรังสีรวมสำหรับการฆ่าเซลล์มะเร็งแต่ละชนิดโดยที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนมากจึงทำให้ต้องค่อย ๆ ให้ไปในแต่ละวัน ระยะเวลาในการให้รักษาทั้งหมดนานประมาณ 4-6 สัปดาห์

นอกจากการฉายรังสีรักษาแล้ว ยังมีการให้รังสีรักษาแบบหนึ่ง คือ การสอดใส่หรือการฝังแร่เข้าไปยังตำแหน่งที่เป็นมะเร็ง วิธีนี้จะใช้กับก้อนมะเร็งขนาดเล็ก ตำแหน่งเดียว และไม่มีต่อมน้ำเหลืองโต เป็นการเพิ่มปริมาณรังสีเฉพาะที่ อวัยวะข้างเคียงจะได้รับรังสีลดลง อาจใช้ร่วมไปกับการฉายรังสีก็ได้

อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยจากการฉายรังสี

  1. ผิวหนังบริเวณที่ได้รับรังสีจะแห้ง แดง และคล้ำขึ้น แต่จะไม่มีการไหม้หรือพองเกิดขึ้น ถ้าฉายรังสีบริเวณศีรษะ ผมจะร่วง แต่เมื่อหยุดฉายรังสี ผมก็จะงอกขึ้นใหม่ได้ และอาจเกิดอาการหูอื้อ ซึ่งถ้าเกิดควรปรึกษาแพทย์ทันที
  2. ถ้าฉายรังสีบริเวณช่องปากและคอ จะทำให้ต่อมน้ำลายทำงานลดลง ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าปากและคอแห้ง น้ำลายเหนียว รับประทานอาหารไม่อร่อย เจ็บคอเวลากลืน และอาจมีแผลในปากเกิดขึ้น ผู้ป่วยจึงควรดูแลภายในช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ โดยใช้สำลีชุบน้ำทำความสะอาดฟันและบ้วนปากหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง ดื่มน้ำบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงจากอาหารรสจัด ร้อนหรือเย็นจนเกินไป เหล้าเบียร์ บุหรี่ รวมทั้งงดเคี้ยวหมากด้วย หากริมฝีปากแห้งให้ทาปากด้วยลิปมัน หรือวาสลินเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น
  3. ถ้าฉายรังสีบริเวณท้องก็อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียได้บ้าง จึงควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ รับประทานอาหารน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ
  4. ถ้าฉายรังสีบริเวณท้องน้อย ผู้ป่วยอาจจะปัสสาวะบ่อย มีอาการปวดถ่วงท้อง อยากอุจจาระตลอดเวลา ซึ่งอาการนี้จะหายไปหากฉายรังสีครบแล้ว
  5. ผู้ป่วยบางรายอาจมีความต้านทานโรคต่ำ อ่อนเพลีย ซีด เลือดออกง่าย เพราะไขกระดูกที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดได้รับผลกระทบชั่วคราวจากจากการฉายรังสี ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้บุคคลที่เป็นหวัด ไอ จาม ควรรักษาความสะอาดของร่างกายและภาชนะที่ใส่อาหาร รับประทานแต่อาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ หากมีไข้ตัวร้อนควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

อาการแทรกซ้อนต่าง ๆ เหล่านี้จะค่อย ๆ เกิดขึ้นในระหว่างที่ได้รับรังสี ผู้ป่วยแทบทุกรายสามารถทนการรักษาต่อไปได้ และเมื่อรักษาครบ เนื้อเยื่อต่าง ๆ ก็จะซ่อมแซมตัวเอง อาการต่าง ๆ ก็จะทุเลาลงและหายภายใน 2-4 สัปดาห์

มะเร็งระยะต้นที่มีขนาดก้อนไม่เกิน 3 ซม. สามารถใช้รังสีรักษาเพียงอย่างเดียว ซึ่งได้ผลการรักษาเท่ากับการผ่าตัด แต่เมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้น การรักษาด้วยรังสีรักษาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ควรพิจารณาการผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษา หรือถ้ามีต่อมน้ำเหลืองโต โอกาสที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายไปในกระแสเลือดก็มีมากขึ้น จึงควรพิจารณายาเคมีบำบัดร่วมด้วย

เคมีบำบัด

ขณะที่รังสีรักษาและการผ่าตัดเป็นการรักษาเฉพาะส่วน แต่ยาเคมีบำบัดสามารถกระจายไปได้ทุกส่วนของร่างกายเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เคมีบำบัดจึงมักใช้ร่วมกับการผ่าตัด และ/หรือ รังสีรักษา เมื่อมะเร็งอยู่ในระยะกระจายตัวแล้ว ยาเคมีบำบัดจะออกฤทธิ์เฉพาะกับเซลล์ที่มีการแบ่งตัวเท่านั้น (โดยไม่แยกว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือเซลล์ปกติที่กำลังแบ่งตัว) ไม่ออกฤทธิ์กับเซลล์ที่อยู่ในระยะพัก ดังนั้น เซลล์รากผม เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร เซลล์เม็ดเลือด หรือเซลล์อื่นที่มีการแบ่งตัวเป็นประจำจะได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบำบัด ในปัจจุบันมียาเคมีบำบัดมากกว่า 100 ขนาน ยาแต่ละขนานก็มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งแต่ละชนิด มีวิธีการใช้ รวมทั้งมีผลข้างเคียงของยาแตกต่างกัน

  1. การกดไขกระดูก เม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือดจะลดจำนวนลงถึงระดับต่ำสุดภายในระยะเวลา 7-14 วันหลังการให้ยาแต่ละรอบ ซึ่งช่วงนี้ผู้ป่วยจะติดเชื้อง่ายและมีเลือดออกง่าย เสี่ยงต่อการเสียชีวิตในทุก ๆ รอบของการให้ยาเคมีบำบัด ถ้ามีไข้หรือเลือดออกตามไรฟันต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันที ส่วนเม็ดเลือดแดงจะลดสู่ระดับต่ำสุดภายในระยะ 3-4 สัปดาห์หลังจากได้ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลีย ซีด เวียนศีรษะ หายใจเร็ว ความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นเร็ว หากซีดมากแพทย์จะให้เลือดหรือให้ยาที่กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
  2. คลื่นไส้อาเจียน เป็นอาการที่พบบ่อยมากแม้แพทย์จะให้ยาต้านอาเจียนแล้ว ผู้ป่วยอาจดื่มน้ำขิง น้ำส้ม ใช้จินตนาการบำบัดหรือดนตรีบำบัดช่วย
  3. ผมร่วง ภาวะผมร่วงจะเริ่มประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังจากได้ยาเคมีบำบัด เป็นภาวะที่เกิดชั่วคราวเท่านั้น ผมจะเริ่มขึ้นหลังจากสิ้นสุดการรักษา
  4. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่ทำให้ผู้ป่วยไม่อยากอาหาร การรับรสเปลี่ยนไป เจ็บปาก เจ็บคอ มีแผลในปาก อาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นชั่วคราวในระหว่างวันที่ 5-14 หลังได้รับยา และเป็นอยู่ประมาณ 2-3 สัปดาห์ อาการจะหายสนิทเมื่อเสร็จสิ้นการให้ยาเคมีบำบัด
  5. ท้องเสีย อาจพบร่วมกับท้องอืดหรือปวดท้องได้ ซึ่งพบถึง 3 ใน 4 ของผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด เนื่องจากยาเคมีบำบัดทำลายเซลล์เยื่อบุลำไส้ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำเข้าไปชดเชยทุกครั้งที่ถ่าย และหากอุจจาระมีสีดำควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  6. ผลต่ออวัยวะภายใน ยาเคมีบำบัดบางชนิดมีพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ เนื้อเยื่อปอด เซลล์ตับ ไต หรือเซลล์ประสาท โดยทั่วไปแพทย์จะประเมินการทำงานของระบบเหล่านี้ก่อนที่จะตัดสินใจให้ยา
  7. ผลต่อระบบสืบพันธุ์ ยาเคมีบำบัดอาจมีผลต่อการสร้างตัวอสุจิซึ่งมีทั้งแบบชั่วคราวและถาวร ดังนั้นหากผู้ป่วยต้องการมีบุตรในภายหลังอาจพิจารณานำตัวอสุจิออกมาแช่แข็งภายนอกร่างกายก่อนได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และในช่วงที่ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดควรคุมกำเนิดด้วย เนื่องจากยาเคมีบำบัดอาจก่อให้เกิดการเจริญเติบโตผิดปกติของตัวอ่อนได้ ในผู้ป่วยหญิงที่อายุมากกว่า 30 ปีจะมีโอกาสน้อยลงที่รังไข่จะกลับมาทำหน้าที่ตามปกติและอาจจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนภายหลังได้รับยาเคมีบำบัด

เนื่องจากผู้ที่ได้รับเคมีบำบัดจะมีระดับยาที่สูงในเลือดและสามารถขับออกทางร่างกายทั้งทางปัสสาวะ อุจจาระ และการอาเจียน ซึ่งอาจเกิดการระคายเคืองเมื่อสัมผัสถูกร่างกาย ยาส่วนใหญ่จะถูกขับออกหมดภายใน 48 ชั่วโมง ดังนั้นภายใน 48 ชั่วโมงหลังได้รับยาผู้ป่วยควรนั่งปัสสาวะทั้งหญิงและชายเพื่อไม่ให้กระเด็น กดชักโครก 2 ครั้ง และปิดฝาชักโครกทุกครั้งที่กด หากอาเจียนควรทำความสะอาดอย่างน้อยสองรอบ ผู้ดูแลควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการสัมผัสสารน้ำจากตัวผู้ป่วย ควรสวมถุงมือแบบใช้ครั้งเดียวทุกครั้งที่ทำความสะอาด และล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทุกครั้ง เสื้อผ้าและผ้าปูที่นอนของผู้ป่วยควรซักด้วยเครื่องซักผ้า 2 ครั้งด้วยน้ำอุ่น ไม่ควรซักร่วมกับเสื้อผ้าของผู้อื่น และหากยังไม่สามารถซักได้ทันทีควรเก็บในถุงพลาสติกและปิดให้มิดชิด

วิธีอื่น ๆ

การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem cell transplantation) เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกฝ่อ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคภูมิต้านทานผิดปกติบางชนิด และโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบเลือดอื่น ๆ ปัจจุบันสามารถพัฒนาจนใช้ไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่เหมือนกันเพียงครึ่งเดียวได้ โดยใช้ยากดภูมิคุ้มกันสูตรที่จำเพาะและแรงขึ้น ภายหลังการปลูกถ่ายไขกระดูกผู้ป่วยจะต้องอยู่ในห้องแยกเพื่อป้องกันการติดเชื้อเนื่องจากมีภูมิต้านทานต่ำมาก ผู้ป่วยอาจซีดลง มีเลือดออกตามไรฟันหรือปัสสาวะเป็นเลือด และอาจมีปฏิกิริยาระหว่างเซลล์ของผู้ให้ต่อผู้รับทำให้เกิดอาการ เช่น ท้องเสีย ออกผื่น ตัวเหลือง น้ำตาแห้ง ปากแห้ง เป็นต้น เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่ให้เข้าไปใหม่จะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ในการเจริญแบ่งตัวเป็นเซลล์เม็ดเลือดที่ปกติต่อไป

รังสีผ่าตัด (Radiosurgery) เป็นการใช้เลเซอร์ หรือแกมมาไนฟ์ช่วยในการผ่าตัดเนื้องอกที่มีขนาดเล็กที่อยู่ในตำแหน่งที่ยากจะเข้าถึง หรือในระยะก่อนเป็นมะเร็ง (precancerous lesion) การผ่าตัดด้วยรังสีจะเสียเลือดและมีการทำลายของเนื้อเยื่อข้างเคียงน้อยกว่าการผ่าตัดด้วยมีด แต่ผลการผ่าตัดอาจอยู่ไม่นาน เพราะพื้นที่ที่กำจัดเนื้องอกอาจไม่ครอบคลุมทั้งหมด และเนื้องอกมีโอกาสที่จะโตขึ้นมาใหม่ จึงมักต้องทำซ้ำ และการผ่าตัดแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

ฮอร์โมนบำบัด (Hormonal therapy) เป็นการใช้ยาที่ระงับผลของฮอร์โมนในมะเร็งบางชนิดที่มีความไวกับฮอร์โมน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น วิธีนี้ช่วยเสริมผลการรักษาของวิธีอื่น ๆ ยังไม่สามารถใช้เป็นวิธีเดี่ยวในการรักษาได้

การให้ยาเจาะจงที่เซลล์มะเร็ง (Targeted therapy) เป็นการให้ยาที่มีโมเลกุลเล็ก หรือ Monoclonal antibodies ที่ผูกติดกับสารกัมมันตภาพรังสี ไปโจมตีเซลล์มะเร็งโดยตรง ทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาน้อยกว่าเคมีบำบัด การรักษาแบบนี้กำลังก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันสามารถใช้รักษามะเร็งหลายชนิด แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูง

ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) มี 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นการให้ยาหรือวัคซีนมะเร็งเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของเราให้มาจัดการกับเซลล์มะเร็ง ปัญหาของวิธีนี้คือระบบภูมิคุ้มกันของเรามักไม่จดจำเซลล์ที่มีกำเนิดมาจากตัวเราเองแม้มันจะเป็นเซลล์มะเร็ง จึงต้องใช้ควบคู่ไปกับวิธีการรักษาอื่น ประเภทที่สองเป็นการให้ Monoclonal antibodies ที่มนุษย์ผลิตขึ้นเพื่อให้ที่สามารถจดจำและทำลายเซลล์มะเร็งแต่ละชนิดได้ (ซึ่งถ้า Monoclonal antibodies นี้ถูกผูกไว้กับยาเคมีหรือสารกัมมันตภาพรังสีด้วย ก็จะเป็น targeted therapy ด้วย) การรักษาแบบนี้ก็กำลังพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ

การใช้แสงกระตุ้นยาเคมี (Photodynamic therapy, PDT) เป็นการใช้ยาที่เรียกว่า photosensitizing agents ร่วมกับการฉายแสงที่ความยาวคลื่นจำเพาะต่อยานั้นในการฆ่าเซลล์มะเร็ง ยาจะถูกฉีดเข้าไปในร่างกายก่อนประมาณ 24-72 ชั่วโมง เพื่อรอให้เซลล์ปกติขับถ่ายยาบางส่วนออกไปก่อน เหลือแต่เซลล์มะเร็งที่ยังคงจับยาอยู่ จากนั้นจึงเริ่มฉายแสงตรงบริเวณเนื้องอก แสงจะเป็นตัวกระตุ้นให้ยาออกฤทธิ์ วิธีนี้จะใช้กับเนื้องอกขนาดเล็กที่อยู่ใต้ผิวหนังหรืออยู่ภายในทางเดินอาหาร เพราะแสงไม่สามารถส่องผ่านเนื่อเยื่อที่ลึกกว่า 1 ซม.ได้ และได้ผลไม่ดีกับเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่หรือมีการกระจายตัวไปแล้ว และแสงก็อาจทำให้มีการไหม้ บวม ปวด และเป็นแผลเป็นได้ นอกจากนั้น ผู้ป่วยยังต้องระวังไม่อยู่กลางแดดหรือภายในอาคารที่มีแสงไฟจัด ๆ หลังได้รับยาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ เพราะเซลล์ปกติที่ยังกำจัดยาออกไปไม่หมดอาจมีผลกระทบได้