เนื้องอกที่ลำไส้เล็ก (Small intestine tumors)

ลำไส้เล็กเป็นท่อยาวประมาณ 6-10 เมตร มีหน้าที่ย่อยและดูดซึมอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ภายในลำไส้เล็กจะมีติ่งยื่นออกมาเรียกว่า วิลไล (Villi) เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวในการดูดซึมอาหาร ลำไส้เล็กแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

  1. ส่วนต้น (Duodenum) เป็นส่วนสั้น ๆ ที่ต่อมาจากกระเพาะอาหาร และเป็นที่เปิดของท่อน้ำดีและท่อน้ำย่อยจากตับอ่อน เป็นส่วนแรกที่สัมผัสกับกรดจากกระเพาะโดยตรง โรคแผลในกระเพาะอาหารบางครั้งก็ลามมาถึงลำไส้เล็กส่วนต้น
  2. ส่วนกลาง (Jejunum) ยาวประมาณ 8-9 ฟุต ในคนที่เสียชีวิตแล้วจะพบว่าส่วนนี้จะว่างเสมอ
  3. ส่วนปลาย (Ileum) เป็นส่วนที่ยาวมากที่สุด มีการดูดซึมอาหารมากที่สุดและมีการย่อยอาหารมากที่สุด

เนื้องอกไม่ร้ายที่ลำไส้เล็ก (Benign small intestinal tumors)

ติ่งเนื้อที่ลำไส้เล็กโดยทั่วไปมักเป็นติ่งเดี่ยว ๆ ยกเว้นในบางกลุ่มอาการ เช่น intestinal polyposis ถึงจะพบหลายติ่งตลอดทั่วทั้งทางเดินอาหาร ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการให้เห็น ผู้ป่วยเกือบครึ่งพบติ่งเนื้อในลำไส้เล็กโดยบังเอิญ จากการส่องกล้องหรือตรวจพิเศษด้วยเหตุผลอื่น เนื้องอกไม่ร้ายที่ลำไส้เล็กส่วนใหญ่ได้แก่

  1. อะดีโนมา (Adenoma) เป็นเนื้องอกที่มักพบบริเวณ duodenum โดยเฉพาะตำแหน่งใกล้รูเปิดของท่อน้ำดีและท่อน้ำย่อยจากตับอ่อน ถ้ามีขนาดใหญ่มากอาจอุดทางเปิดของท่อ เกิดภาวะดีซ่านขึ้นได้ และเนื้องอกชนิดนี้มีโอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งได้ในภายหลัง ดังนั้น เมื่อส่องกล้องเข้าไปพบติ่งเนื้อในบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น แพทย์จะทำการตัดออกให้จนหมด
  2. ไลโอมัยโอมา (Leiomyoma) เป็นเนื้องอกของชั้นกล้ามเนื้อของผนังลำไส้ พบได้ทั่วทุกส่วนของลำไส้เล็ก อาการส่วนใหญ่คือทำให้เกิดแผลและมีเลือดออกมาในทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเหลวเละสีดำ ซึ่งวินิจฉัยได้ค่อนข้างยากเพราะเนื้องอกอาจอยู่เฉพาะที่ผนังลำไส้ ไม่ได้โตเข้ามาในท่อ ส่วนใหญ่แพทย์จะทำการตรวจโดยการส่องกล้องอัลตราซาวด์ (Endoscopic ultrasound) เพื่อประเมินขนาดของก้อนภายในผนังลำไส้ และแนะนำให้ผ่าตัดออก เพราะ Leiomyoma ก็มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้เช่นกัน
  3. ฮามาร์โตมา (Hamartoma) เป็นติ่งเนื้อที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในลำไส้ส่วนกลางและส่วนปลาย สัมพันธ์กับกลุ่มอาการ Peutz-Jeghers มักทำให้เกิดอาการเลือดออกและอุดตันทางเดินอาหาร มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้แต่น้อยกว่าพวก adenoma และ leiomyoma
  4. ไลโปมา (Lipoma) เป็นการรวมตัวกันของเนื้อเยื่อไขมันใต้เยื่อบุลำไส้ เวลาส่องกล้องเข้าไปจะเห็นเป็นก้อนสีเหลือง ๆ ที่ผนัง ไม่มีอันตราย ไม่จำเป็นต้องตัดออก
  5. ฮีแมงจิโอมา (Hemangioma) เป็นกลุ่มของหลอดเลือดที่รวมตัวกันที่ผนังกระเพาะหรือลำไส้ มักสัมพันธ์กับภาวะทางกรรมพันธุ์บางชนิด เช่น Turners syndrome, Tuberous sclerosis, Blue-rubber-bleb syndrome and Osler-Weber-Rendu syndrome ฮีแมงจิโอมาอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกในทางเดินอาหารเป็นจำนวนมากได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เป็นภาวะฉุกเฉินทางศัลยกรรม ต้องรีบผ่าตัดลำไส้ส่วนนั้นออก แต่ถ้าส่องกล้องเข้าไปพบโดยบังเอิญอาจเพียงแค่จี้หลอดเลือดด้วยแท่งความร้อน แพทย์บางสำนักอาจใช้ยาเพื่อลดโอกาสในการฉีกขาดของหลอดเลือดกลุ่มนี้
  6. นิวโรไฟโบรมา (Neurofibroma) เป็นเนื้องอกของเนื้อเยื่อประสาท ถ้าพบเป็นจำนวนมากจะสัมพันธ์กับโรค Neurofibromatosis ควรที่จะตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจทางพยาธิเพื่อแยกจากภาวะ polyposis อย่างอื่น

เนื้องอกร้ายที่ลำไส้เล็ก (Malignant small intestinal tumors)

มะเร็งลำไส้เล็กพบได้น้อยเมื่อเทียบกับมะเร็งของทางเดินอาหารส่วนอื่น ๆ มักเป็นในเพศชายมากกว่าเพศหญิง กว่าร้อยละ 90 จะตกอยู่ในชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. Adenocarcinoma เป็นมะเร็งที่พัฒนามาจากเนื้องอก adenoma ที่พบที่ลำไส้เล็กส่วนต้น จึงมักทำให้เกิดการอุดตันทางออกของท่อน้ำดี เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดนี้คือ
    • การมีภาวะอักเสบเรื้อรังของทางเดินอาหารอยู่แล้ว เช่น โรค Crohn's disease, โรค Celiac sprue
    • ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งของลำไส้ใหญ่มาก่อน, ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดในช่องท้องมาก่อนไม่ว่าด้วยสาเหตุใด
    • ผู้ที่เป็นโรคทางกรรมพันธุ์บางชนิด เช่น Neurofibromatosis, Familial adenomatous polyposis, Lynch syndrome, Peutz-Jeghers syndrome, Cystic fibrosis, หรือมียีนกลายพันธุ์ เช่น MUTYH
    • การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และการรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย
  2. Leiomyosarcoma เป็นมะเร็งของเซลล์กล้ามเนื้อที่ผนังลำไส้ อาจพัฒนาต่อมาจาก leiomyoma อาการส่วนใหญ่คือทำให้มีเลือดออกในทางเดินอาหาร
  3. Intestinal lymphoma เป็นมะเร็งของระบบน้ำเหลืองภายในลำไส้ มักเป็นผลมาจากโรคบางโรค เช่น เอดส์, celiac sprue อาการสำคัญคือ ทำให้ปวดท้องบิด ท้องเสียเรื้อรัง น้ำหนักลด เกิดภาวะทุพโภชนาการ และมีเลือดออก หากมีขนาดโตมากก็อาจอุดตันลำไส้ได้
  4. Gastrointestinal carcinoid tumors เป็นมะเร็งของเซลล์ประสาทที่หลั่งฮอร์โมนได้ (neuroendocrine cells) ปกติพบได้ในหลายอวัยวะ เช่น ปอด ตับอ่อน และในทางเดินอาหาร มักจะโตช้า ถ้าเป็นที่ลำไส้เล็กจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด คลื่นไส้อาเจียน เป็นพัก ๆ และนานไปจะมีน้ำหนักตัวลด
  5. Gastrointestinal stromal tumors (GISTs) เป็นเนื้องอกของทางเดินอาหารที่พบได้น้อยมาก มีกำเนิดมาจาก interstitial cells of Cajal (ICCs) ซึ่งเป็นเซลล์ของระบบประสาทอัตโนมัติ เนื้องอก GISTs มีทั้งเนื้อร้ายและไม่ร้าย อาการส่วนใหญ่จะเป็นท้องอืดท้องเฟ้อเรื้อรัง ต่อเมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นจึงจะอุดตันทางเดินอาหารหรือทำให้มีเลือดออก

นอกจากนั้นยังมีมะเร็งของอวัยวะอื่นกระจายมาที่ลำไส้เล็ก แต่ก็พบได้น้อยมาก

การวินิจฉัย

การค้นหามะเร็งลำไส้เล็กไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการส่องกล้องเข้าทางปากมักไปถึงได้แค่ลำไส้เล็กส่วนต้น และถ้าเข้าทางทวารหนักก็ไปได้ไกลแค่ลำไส้ใหญ่ส่วนซีกัม แต่ในรายที่มีอาการเลือดออก (ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือถ่ายดำ), ลำไส้อุดตัน (ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน คลำได้ก้อนในบริเวณช่องท้อง), หรือปวดท้องเรื้อรัง เป็นไข้ น้ำหนักลด แล้วส่องกล้องทั้งบนและล่างแล้วยังไม่พบสาเหตุ ควรทำการตรวจเพิ่มดังต่อไปนี้

  1. ตรวจอุจจาระเพื่อดูภาวะเลือดซ่อนเร้นในอุจจาระ (Stool occult blood) การตรวจนี้ไม่จำเป็นในรายที่ถ่ายเป็นเลือดหรือถ่ายดำให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว
  2. การกลืนกล้องแคปซูล (Capsule Endoscopy) เป็นให้คนไข้กลืนกล้องแคปซูลพร้อมน้ำโดยไม่ต้องเคี้ยว หลังจากนั้นกล้องแคปซูลจะเดินทางไปตามส่วนต่าง ๆ ของระบบทางเดินอาหาร พร้อมกับบันทึกภาพภายในระบบทางเดินอาหาร จนกว่าจะถูกถ่ายออกมากับอุจจาระ ซึ่งแพทย์จะนำมาวิเคราะห์ต่อไป
  3. การส่องกล้องดูลำไส้เล็ก (Enteroscopy) และการส่องกล้องอัลตราซาวด์ (Endoscopic Ultrasonography) ซึ่งต้องอาศัยแพทย์ผู้ชำนาญโดยเฉพาะ

ส่วนการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ (CEA) จะใช้ในการติดตามผู้ป่วยมะเร็งลำไส้หลังรักษาว่ามีการตอบสนองดี หรือจะกลับมาเกิดซ้ำหรือไม่ ไม่ควรใช้ในการเฝ้าระวังหรือตรวจหามะเร็งลำไส้ในคนทั่วไป เพราะไม่มีความไวหรือความจำเพาะเจาะจงเพียงพอ

การรักษา

ในระยะแรกของโรคจะใช้การผ่าตัด แต่หากไม่สามารถตัดออกได้หมดจะใช้เคมีบำบัดและการฉายรังสีร่วมด้วย ในกรณีที่เกิดการอุดตันของลำไส้จนเกิดการอักเสบเน่าตายของผนังลำไส้ที่รุนแรงและกินบริเวณกว้าง ศัลยแพทย์อาจต้องทำการตัดต่อลำไส้และนำลำไส้ส่วนปลายเปิดไว้ที่ผนังหน้าท้องที่เรียกว่า ileostomy