เนื้องอกที่เต้านม (Breast tumors)

เต้านมเป็นอวัยวะสำคัญอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับเพศหญิง เมื่อเติบโตเข้าระยะวัยรุ่น เต้านมของผู้หญิงพัฒนาทั้งขนาดและหน้าที่มากกว่าของผู้ชาย โรคของเต้านมจึงมักพบในเพศหญิง โดยเฉพาะเนื้องอกของเต้านม ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้หญิงเสียโอกาสที่จะรักษาเนื้องอกร้ายในระยะเริ่มแรกให้หายขาดเพียงเพราะความเขินอายที่จะไปขอรับการตรวจความผิดปกติที่เต้านมจากแพทย์ จึงนำไปสู่การการรณรงค์ให้สตรีรู้จักวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้สตรีทุกคนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปหมั่นตรวจเต้านมของตนเองเป็นประจำทุกเดือน โดยการส่องกระจกดูขนาด สี รอยนูน และรอยบุ๋ม ของเต้านมทั้งสองข้าง รวมทั้งการคลำในขณะอาบน้ำหรือขณะนอนหงาย การคลำจะใช้แผ่นนิ้วมือ 4 นิ้วของมือซ้ายคลำเต้านมด้านขวา (ไม่ใช้นิ้วโป้ง) ใช้นิ้ว 4 นิ้วค่อย ๆ สัมผัสจากด้านนอกโดยรอบ แล้ววนเข้ามาหาห้วนม จากนั้นคลำที่รักแร้ขวาแบบเดียวกัน แล้วสลับมาใช้แผ่นนิ้วมือ 4 นิ้วของมือขวาคลำเต้านมและรักแร้ด้านซ้าย ท่านที่มีรูปร่างผอมบางอาจคลำพบกระดูกหน้าอกเหมือนเป็นก้อน ให้ท่านจดจำตำแหน่งเปรียบเทียบกันทั้งสองข้าง ก้อนที่ผิดปกติไม่ควรจะเกิดตรงตำแหน่งเดียวกันทั้งสองข้าง หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที

เนื้องอกไม่ร้ายที่เต้านม (Benign breast tumors)

ก้อนที่เต้านมร้อยละ 80 เป็นเนื้องอกไม่ร้าย มักเกิดหลังอายุ 30 ปีไปแล้ว ลักษณะของก้อนส่วนใหญ่จะหยุ่น ๆ คล้ายยางลบ กลิ้งไปมาได้ ไม่ติดกับผิวหนังหรือกระดูกอก และไม่มีต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกันโต การตรวจที่จะช่วยในการยืนยันว่าไม่ใช่มะเร็งเต้านม ได้แก่ การตรวจอัลตราซาวด์, แมมโมแกรม, และการตรวจชิ้นเนื้อ ตัวอย่างเนื้องอกไม่ร้ายที่เต้านมได้แก่

  • Fibrocystic changes เป็นพังผืดและถุงน้ำเล็ก ๆ ที่เกาะตัวเป็นกลุ่ม เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศตามรอบเดือน มักคลำก้อนได้ไม่ชัดเจนทั้งสองข้างของเต้านม ก้อนมีผิวขรุขระ เคลื่อนที่ได้ มักมีอาการเจ็บเต้านมหรือเจ็บที่ก้อนเนื้อด้วย รวมทั้งรู้สึกตึงแน่นหรือคัดเต้านม บางรายเจ็บไปถึงรักแร้ โดยอาการต่าง ๆ จะเป็นมากขึ้นเมื่อใกล้วันประจำเดือนมา และจะดีขึ้นเมื่อประจำเดือนมาแล้ว ก้อนเนื้อชนิดนี้อาจยุบหายไปเองหรือเปลี่ยนตำแหน่งเมื่อเข้าสู่รอบประจำเดือนใหม่ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดออก
  • Fibroadenoma เป็นก้อนเนื้อสีขาว กลม ผิวเรียบ มีผนังหุ้มแยกจากเนื้อเยื่อของไขมันได้ชัดเจน ไม่เจ็บ อาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อนในเต้านมข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ เป็นเนื้องอกไม่ร้ายชนิดที่พบมากที่สุดในหญิงวัยเจริญพันธุ์ พบบ่อยในผู้หญิงที่ทานยาคุมกำเนิดตั้งแต่ก่อนอายุ 20 ปี ก้อนอาจยุบหายไปเองเมื่อพ้นวัยมีประจำเดือนแล้ว
  • Fat necrosis พบได้ภายหลังจากที่เต้านมถูกกระแทก ได้รับบาดเจ็บ ได้รับการผ่าตัดหรือฉายรังสีบริเวณเต้านม ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์ไขมันซึ่งมีอยู่มากมายในเต้านมตาย เกิดเป็นพังผืดและถุงน้ำมัน จึงเกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้น อาจเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ อาจทำให้เกิดรอยบุ๋มที่ผิวหนัง หรือรอยจ้ำเลือด ภาพรังสีของ Fat necrosis อาจดูคล้ายกับมะเร็งเต้านมมาก อาจต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อแยกให้แน่ใจยิ่งขึ้น
  • Lipoma เป็นก้อนไขมันที่มีขอบเขตชัดเจน ลักษณะกลม นิ่ม ไม่เจ็บ (ยกเว้นโดนกระแทก) เคลื่อนที่ได้ แต่ขนาดไม่เปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน ไม่จำเป็นต้องตัดออก
  • Adenosis เป็นก้อนเนื้อที่เกิดจากต่อมน้ำนมขยายใหญ่ขึ้น และมีจำนวนต่อมเพิ่มกว่าปกติจนทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้น มักเกิดกับเต้านมเพียงข้างเดียว บางครั้งมีพังผืดทำให้เต้านมมีรูปร่างผิดไป
  • Phyllodes พบได้น้อยมาก ลักษณะอาการคล้าย Fibroadenoma ยกเว้นมีโอกาสกลับมาเป็นก้อนซ้ำได้สูงหลังตัดออกไป
  • Duct ectasia เป็นความผิดปกติของท่อน้ำนม มีผนังหนาจนคลำได้เป็นก้อนเนื้ออยู่ใต้หัวนม ไม่แข็งมาก หัวนมอาจบุ๋ม และอาจมีน้ำสีเขียวหรือสีดำคล้ำออกมาจากหัวนม มักเกิดกับเต้านมเพียงข้างเดียว อาการมักดีขึ้นเองหลังดูแลความสะอาดบริเวณหัวนม แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ถ้าไม่ดีขึ้นถึงค่อยพิจารณาผ่าตัดเอาท่อน้ำนมส่วนที่ผิดปกติออกไป
  • Intraductal papilloma เป็นเนื้องอกที่เกิดในท่อน้ำนม อาการจะคล้ายกับ Duct ectasia โดยคลำก้อนได้ที่ใต้หัวนม และอาจมีน้ำนม น้ำเหลือง หรือเลือดไหลออกจากหัวนม เนื้องอกชนิดนี้เปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งได้บ้าง แต่โอกาสเกิดน้อยมาก

ในการตรวจชิ้นเนื้อของก้อนที่เต้านม พยาธิแพทย์จะรายงานเซลล์ที่มีการเจริญผิดรูปแบบ (atypia) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการกลายเป็นเซลล์มะเร็งให้ด้วย

เนื้องอกร้ายที่เต้านม (Malignant breast tumors)

เนื้องอกร้ายที่เต้านมมักมาจากเซลล์ภายในเต้านมเอง ไม่ค่อยพบเซลล์จากที่อื่นกระจายเข้ามา มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับสองของหญิงไทย และเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงทั่วโลก ถือเป็นโรคที่ควรเฝ้าระวังในสตรีทุกคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงควรได้รับการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี ในเพศชายก็พบมะเร็งเต้านมได้ แต่น้อยมาก

มะเร็งเต้านมยังจำแนกตามชนิดของเซลล์ต้นกำเนิดออกได้เป็น เซลล์ของท่อน้ำนม (ductal carcinoma), เซลล์ของต่อมน้ำนม (lobular carcinoma), เซลล์รอบหัวนม (Paget disease of nipple), เซลล์ของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในเต้านม (cystosarcoma phyllodes), และเซลล์ของหลอดเลือด (angiosarcoma) ที่พบบ่อยที่สุดคือมะเร็งของเซลล์ท่อน้ำนม ซึ่งอาจลุกลามไปถึงหัวนม รองลงมาคือมะเร็งของเซลล์ต่อมน้ำนม แต่ไม่ว่าจะเป็นเซลล์ชนิดใดการรักษาก็คล้ายกัน

อาการของมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการ ไม่มีแม้กระทั่งก้อนเนื้อ แต่สามารถตรวจพบได้จากการคัดกรองด้วยเครื่องแมมโมแกรม เครื่องแมมโมแกรมสามารถตรวจมะเร็งของเต้านมได้ตั้งแต่ระยะที่ศูนย์ ซึ่งเป็นระยะที่การรักษาได้ผลดีที่สุด

มะเร็งเต้านมเมื่อเริ่มแทรกซึมเนื้อเยื่อข้างเคียงแล้วถึงจะเริ่มแสดงอาการต่าง ๆ มะเร็งของท่อน้ำนมมักมีก้อนให้คลำได้ แต่มะเร็งของต่อมน้ำนมมักคลำได้เป็นเนื้อเยื่อที่บวมหนา ไม่มีลักษณะเป็นก้อนชัดเจน บางครั้งอาจพบเป็นรอยบุ๋มที่ผิวหนัง หรือการเปลี่ยนสีหรือรูปร่างของเต้านม มะเร็งชนิด Paget จะพบความผิดปกติที่หัวนม อาจมีเลือดหรือของเหลวไหลออกจากหัวนม, หัวนมเปลี่ยนสี หนาตัว คัน หรือถูกดังรั้งให้บุ๋มลงไป

เมื่อมะเร็งกระจายตัวจะไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกันก่อน หากคลำได้ก้อนที่รักแร้อย่างเดียวโดยไม่พบความผิดปกติที่เต้านมมักเป็นต่อมน้ำเหลืองที่โตจากสาเหตุอื่น

อาการเจ็บปวดที่เต้านม เป็นอาการที่พบได้น้อยสำหรับเนื้อร้าย เมื่อมีอาการเจ็บจะนึกถึงเต้านมอักเสบก่อน ยกเว้นมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม

การแบ่งระยะของมะเร็งเต้านม

  • ระยะที่ 0 พบเฉพาะมะเร็งของท่อน้ำนม เป็นระยะเริ่มต้นที่เซลล์มะเร็งยังอยู่ภายในท่อ (Ductal carcinoma in situ, DCIS)
  • ระยะที่ I ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 ซม. และยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง อัตราการมีชีวิตรอดหลังรักษาแล้ว 5 ปี (5-year survival rate) มีสูงถึง 85%
  • ระยะที่ II ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 ซม. และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว หรือก้อนมะเร็งที่มีขนาด 2-5 ซม.
  • ระยะที่ III ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 ซม.
  • ระยะที่ IV ก้อนมะเร็งขนาดใดก็ตามที่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นแล้ว เช่น ที่กระดูก ตับ ปอด หรือสมอง

การรักษามะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในมะเร็งที่มีการพัฒนาการรักษาออกไปมาก นอกจากจะรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด การให้เคมีบำบัดเข้าทางหลอดเลือดดำ และ/หรือ การให้รังสีรักษาแล้ว ยังมี...
- การให้ยาเคมีบำบัดเข้าไปยังหลอดเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงเนื้องอก เพื่อจะสามารถใส่ยาเข้าไปที่เนื้องอกได้โดยตรง
- การใช้ความเย็นบวกความร้อนมารักษาเนื้องอก โดยการปล่อยก๊าซอาร์กอนที่มีอุณหภูมิติดลบให้เซลล์มะเร็งแข็งตัวตายไป แล้วปล่อยก๊าซฮีเลียมที่มีความร้อนออกมาให้เซลล์มะเร็งสลายไปในที่สุด
- การฝังแร่ไอโอดีน 125 ซึ่งจะปล่อยรังสีออกมารอบ ๆ ก้อนมะเร็งเป็นเวลานาน มีประโยชน์เหมือนการฉายรังสี
- และวิธีการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด โดยฉีดเซลล์ภูมิคุ้มกันที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านมะเร็งเข้าไปฆ่าเซลล์มะเร็งโดยตรง หรือช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

นอกจากนั้นยังมีการรักษาเสริมด้วยฮอร์โมนหากตรวจพบว่าเซลล์มะเร็งมีตัวรับการตอบสนองต่อฮอร์โมน (receptors) โดยอาจใช้วิธีผ่าตัดรังไข่ออกเพื่อหยุดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน หรืออาจใช้ยา Tamoxifen ไปจับกับตัวรับแทนเพื่อไม่ให้ฮอร์โมนทำงาน อีกทั้งการรณรงค์ให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอทำให้ผลการรักษาดีขึ้นเป็นลำดับ