การตรวจคัดกรองเนื้องอกร้าย

เนื้องอกทุกชนิดเมื่อเริ่มแรกจะโตช้า อาการต่าง ๆ จึงแทบจะไม่มี ต่อเมื่อโตจนเริ่มเบียดเนื้อดีที่อยู่ข้าง ๆ จึงจะเริ่มมีอาการ หากเป็นเนื้อร้ายก็อาจสายเกินไปที่จะรักษาให้หายขาด ขณะเดียวกันเนื้องอกร้ายบางชนิดสามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ซึ่งถ้าพบก็จะช่วยให้การรักษาง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การตรวจแต่ละชนิดก็มีค่าใช้จ่ายมาก ดังนั้นการจะเข้ารับการตรวจและความถี่ในการตรวจควรขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคลต่อมะเร็งชนิดนั้น ๆ

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์มีโปรแกรมประเมินความเสี่ยงของโรคมะเร็งให้ประชาชนทั่วไปได้ลองประเมินตัวเองก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งของอวัยวะต่าง ๆ ผู้สนใจสามารถคลิกได้ ที่นี่

การคัดกรองมะเร็งตับและท่อน้ำดี

มะเร็งตับและมะเร็งของท่อน้ำดีเป็นมะเร็งที่รักษายากเมื่อเกิดอาการขึ้นมาแล้ว ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งตับและท่อน้ำดีได้แก่

ความเสี่ยงต่อมะเร็งตับความเสี่ยงต่อมะเร็งท่อน้ำดี
- ผู้ที่เป็นโรคตับแข็งจากสาเหตุต่าง ๆ
- ผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ
- ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองได้รับสารพิษอะฟลาท็อกซินเข้าไปเป็นประจำ
- ผู้ที่มีธาตุเหล็กสะสมที่ตับจากโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ
- ผู้ที่มีภาวะอักเสบเรื้อรังของท่อน้ำดี (Primary sclerosing cholangitis)
- ผู้ที่มีพยาธิใบไม้ในตับ หรือผู้ที่ชอบกินปลาน้ำจืดสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ก้อยปลา
- ผู้ที่มีนิ่วในท่อน้ำดีเรื้อรัง
- ผู้ที่มีท่อน้ำดีขยายตัวเป็นถุงน้ำ
- ผู้ที่มีติ่งเนื้อในท่อน้ำดี
- ผู้ที่ได้รับรังสี Thorotrast

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งตับโดยตรวจเลือดหาค่าอัลฟาฟีโตโปรตีน (α-fetoprotein, AFP) ร่วมกับการทำอัลตราซาวด์ ทุก 6 เดือน

กรณีที่อัลตราซาวด์ตรวจพบก้อนในตับ ให้พิจารณาดังนี้

  1. ก้อนขนาด < 1 ซม. ให้ติดตามผลอัลตราซาวด์ทุก 3-4 เดือน ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของก้อน ใน 2 ปี กลับไปเฝ้าระวังทุก 6 เดือน แทน ถ้าก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้น ให้ดูข้อ 2
  2. ก้อนขนาด 1-2 ซม. และผลการตรวจด้วย CT และ MRI พบว่า
    • เข้าได้กับมะเร็งตับทั้ง 2 วิธี ให้วินิจฉัย และให้การรักษาแบบมะเร็งตับ
    • เข้าได้กับมะเร็งตับเพียงวิธีเดียว หรือ ไม่เหมือนเลยจากทั้ง 2 วิธี แนะนำทำการตรวจชิ้นเนื้อ และให้การรักษา ถ้าผลเป็นมะเร็งตับ ถ้าไม่ใช่ให้ติดตามทุก 3 เดือน อาจพิจารณาการตรวจชิ้นเนื้อซ้ำ ถ้าน่าสงสัยมาก
  3. ก้อนขนาด > 2 ซม. และผลการตรวจด้วย CT หรือ MRI พบว่า
    • มีลักษณะ Typical vascular pattern หรือ AFP > 200 ng/ml สามารถวินิจฉัยและให้การรักษาแบบมะเร็งตับได้เลย
    • มีลักษณะ Atypical vascular pattern ให้พิจารณาทำการตรวจชิ้นเนื้อก่อน

กรณีที่อัลตราซาวด์ตรวจไม่พบก้อน ให้พิจารณาค่า AFP ดังนี้

  1. ค่า AFP ปกติ ให้ตรวจติดตามผลอัลตราซาวด์และ AFP ทุก 6 เดือน
  2. ค่า AFP สูงกว่าค่าปกติ (> 200 ng/ml) หรือค่า AFP เพิ่มสูงอย่างชัดเจนในระหว่างการตรวจติดตามผลให้ทำ CT หรือ MRI
    • ถ้า CT หรือ MRI ไม่พบความผิดปกติให้ตรวจติดตามผลอัลตราซาวด์และ AFP ทุก 3 เดือน
    • ถ้า CT หรือ MRI พบก้อนให้พิจารณาตามกรณีที่อัลตราซาวด์ตรวจพบก้อนในตับ

การตรวจหาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะแรกในกลุ่มเสี่ยงในประเทศไทย

ผู้ที่ควรได้รับการตรวจช่องท้องด้วยเครื่องอัลตราซาวด์เพื่อหามะเร็งท่อน้ำดีระยะแรกคือผู้ที่มีคุณสมบัติดังนี้

  1. ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นชาวอีสานโดยกำเนิดและมีอาการอืดแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย อาการคล้ายโรคกระเพาะอาหาร ได้รับการรักษาด้วยยาลดกรด 1 เดือนแล้วไม่ดีขึ้น ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ตับและทางเดินน้ำดีอย่างน้อย 1 ครั้ง
  2. ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นชาวอีสาน และมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งตับมาก่อน ควรได้รับการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ทุก 6 เดือน

การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกจัดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย แต่ระยะที่รักษาได้ผลดีคือตั้งแต่ระยะที่หนึ่งลงมา ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่แสดงอาการ การตรวจคัดกรองด้วยวิธีแพ็บสเมียร์ (Pap smear) สามารถให้การวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะที่ศูนย์ (คือระยะก่อนที่จะเป็นมะเร็ง) จึงช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

สตรีที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 20 ปี, มีคู่นอนหลายคน, เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, ติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papilloma virus), สูบบุหรี่, มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

แต่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ตรวจ Pap smear ในประชากรหญิงวัย 35 - 60 ปี ทุกรายที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว อย่างน้อย ทุก ๆ 5 ปี และอาจตรวจหาเชื้อเอชพีวีร่วมด้วย ในระดับปฐมภูมิแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

นอกจากนั้น สตรีที่มีอาการผิดปกติ เช่น เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมีกลิ่นเหม็น ตกขาวปนเลือด เลือดออกผิดปกติก่อนวัยหมดประจำเดือนและหลังจากวัยหมดประจำเดือน ควรรีบไปพบแพทย์

การคัดกรองมะเร็งเต้านม

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมได้แก่

  • ผู้ที่ได้รับรังสีที่ทรวงอกตั้งแต่เด็ก
  • สตรีที่เคยได้รับการเจาะชิ้นเนื้อหรือผ่าตัดเต้านมแล้วเป็น Lobular carcinoma in situ หรือ Atypical ductal hyperplasia หรือ เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาแล้วข้างหนึ่ง
  • สตรีที่มีประวัติมะเร็งเต้านม และ/หรือ มะเร็งรังไข่ในครอบครัว โดยเฉพาะในญาติสายตรงได้แก่ ยาย มารดา พี่สาวหรือน้องสาว (และจะมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นถ้าญาติสายตรงเหล่านี้เป็นก่อนอายุ 50 ปี
  • สตรีที่มีระดูครั้งแรกเร็วตั้งแต่ก่อนอายุ 12 ปี และหมดช้ากว่าปกติคือหมดหลังอายุ 55 ปี
  • สตรีที่ไม่เคยตั้งครรภ์มีบุตร หรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี
  • สตรีที่ไม่เคยมีน้ำนมหรือไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง
  • สตรีที่ได้รับฮอร์โมนเสริมทดแทนในวัยทองเป็นเวลานานกว่า 5 ปี

ทางหน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แนะนำให้สตรีที่อายุมากกว่า 40 ปี ทุกรายควรได้รับการตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) ทุก 1-2 ปี ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นควรจะได้รับการตรวจแมมโมแกรมทุก 1 ปี

ส่วนการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ควรจะทำอย่างน้อยเดือนละครั้ง ในสตรีที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ทุกราย ระยะเวลาที่เหมาะสมในการตรวจคือหลังหมดระดูแล้ว 3-10 วัน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่คัดตึงทำให้ตรวจได้ง่าย สำหรับผู้หญิงที่หมดระดูหรือได้รับการตัดมดลูกไปแล้วอาจตรวจเองทุกวันที่หนึ่งของทุกเดือน และหากพบอะไรที่สงสัยก็ควรขอรับการตรวจจากแพทย์โดยทันที