เนื้องอกที่กระดูก (Bone tumors)

ร่างกายของคนเราประกอบด้วยกระดูก 206 ชิ้น ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือด เป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อเพื่อใช้ในการเคลื่อนไหว ปกป้องอวัยวะภายใน เป็นแกนรับน้ำหนักของร่างกาย เนื้องอกที่กระดูกแบ่งออกเป็น

  1. เนื้องอกปฐมภูมิ คือเนื้องอกที่มีต้นกำเนิดมาจากกระดูกในตำแหน่งนั้นเอง ซึ่งพบได้น้อย เพียง 0.5% ของเนื้องอกปฐมภูมิของทุกอวัยวะ
  2. เนื้องอกทุติยภูมิ คือมะเร็งของอวัยวะอื่นที่กระจายมาที่กระดูก ซึ่งพบมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน มะเร็งที่มักกระจายมาที่กระดูกได้แก่ มะเร็งปอด ต่อมธัยรอยด์ เต้านม ต่อมลูกหมาก และไต

เนื้องอกที่กระดูกชนิดปฐมภูมิ (Primary bone tumors)

เนื้องอกปฐมภูมิของกระดูกมักพบในเด็กโต วัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว ช่วงอายุประมาณ 10-30 ปี พบในเด็กชายบ่อยกว่าเด็กหญิงประมาณ 2-3 เท่า มีหลายชนิด ที่เป็นเนื้อร้ายมีเพียงร้อยละ 25

อาการสำคัญ

  1. คลำได้ก้อนแข็งที่กระดูก มักเป็นอาการเริ่มต้นของเนื้องอกปฐมภูมิชนิดไม่ร้าย
  2. การผิดรูปของกระดูก มักพบในผู้ป่วยเด็กที่อยู่ในวัย เจริญเติบโต
  3. ปวด เป็นอาการปวดลึก ๆ ในขณะอยู่นิ่ง ซึ่งแตกต่างจากอาการปวดจากการบาดเจ็บและการอักเสบที่มักปวดเมื่อใช้งานอวัยวะส่วนนั้น และอาการปวดจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาเมื่อเนื้องอกมีการเติบโตและทำลายกระดูกมากขึ้น เนื้องอกบางชนิด เช่น Osteoid osteoma จะหลั่งสาร prostaglandin E2 ออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้มีอาการปวดบริเวณที่เป็นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน แต่อาการปวดนี้ทุเลาลงได้ด้วยยา aspirin
  4. กระดูกหัก กระดูกที่มีเนื้องอกจะขาดความแข็งแรงจนไม่สามารถรับน้ำหนักของการใช้งานแบบปรกติได้ กระดูกจึงหักง่ายแม้จะเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย
  5. พบโดยบังเอิญจากภาพเอกซเรย์ ส่วนใหญ่พบในกลุ่ม เนื้องอกกระดูกชนิดไม่ร้ายที่หยุดการเจริญเติบโตแล้ว ส่วนน้อยพบเป็นระยะเริ่มต้นของเนื้องอก

ชนิดของเนื้องอกและการวินิจฉัย

แม้การวินิจฉัยโรคของเนื้องอกทุกชนิดต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อเป็นหลัก แต่เนื้องอกของกระดูกที่พบบ่อยหลายชนิดก็มีลักษณะพิเศษให้คาดเดาได้จากอายุ ตำแหน่งของโรค และลักษณะของภาพเอกซเรย์

ระยะของเนื้องอกและการรักษา

เนื้องอกปฐมภูมิของกระดูกชนิดไม่ร้าย มีการกำหนดระยะเป็นตัวเลขอารบิคเป็น 3 ระยะ เพราะวิธีการรักษาและพยากรณ์โรคที่แตกต่างกัน

  • ระยะที่ 1 Latent: เนื้องอกอยู่เฉพาะภายในกระดูก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ก้อนจะโตช้ามาก (หลายปี) หรือหยุดโตแล้ว บางครั้งอาจหายเองได้ หรือรักษาหายด้วยการผ่าตัดก้อนออกไป
  • ระยะที่ 2 Active: เนื้องอกเริ่มมีการทำลายกระดูก แต่ยังไม่แตกทะลุออกมาภายนอก มักมีอาการปวดแต่ไม่รุนแรง มักพบในเด็กที่อยู่ในวัยที่กระดูกยังเจริญเติบโตอยู่ โดยก้อนจะโตตามวัย รักษาหายได้ด้วยการตัดออก แล้วอาจใส่ซีเมนต์กระดูก (PMMA)
  • ระยะที่ 3 Aggressive: เนื้องอกมีการทำลายกระดูกและแตกทะลุออกมาภายนอก มักมีอาการปวดที่รุนแรงมากขึ้น ส่วน ใหญ่ก้อนจะโตขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่ากระดูกจะหยุดเจริญเติบโตแล้วก็ตาม รักษาด้วยการผ่าตัดที่กว้างขึ้น แล้วใส่ซีเมนต์, bone graft, endoprosthesis หรือ allograft-prosthesis composite

มะเร็งปฐมภูมิของกระดูก จะใช้ตัวเลขโรมันและอักษรภาษาอังกฤษตัวใหญ่ในการบอกระยะของมะเร็ง ดังนี้

  • ระยะ IA: เป็นมะเร็งชนิดไม่รุนแรง ก้อนเนื้องอกอยู่นอก capsule แต่ยังอยู่ภายใน compartment เดียวกัน ไม่มีการแพร่กระจายไปที่อื่น
  • ระยะ IB: เหมือนระยะ IA แต่ก้อนเนื้องอกนั้นมีการแพร่ขยายออกภายนอก compartment แล้ว
  • ระยะ IIA: เหมือนระยะ IA แต่เนื้องอกเป็นมะเร็งชนิดที่รุนแรง
  • ระยะ IIB: เป็นมะเร็งชนิดที่รุนแรง ก้อนเนื้องอกมีการแพร่ขยายออกภายนอก compartment แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่น
  • ระยะ III: เป็นมะเร็งที่มีการกระจายไปที่อวัยวะอื่นแล้ว ไม่ว่าเซลล์จะเป็นชนิดใดและมีขนาดใหญ่แค่ไหนก็ตาม

การรักษามะเร็งปฐมภูมิของกระดูกประกอบด้วยการผ่าตัด เคมีบำบัด และรังสีรักษา โดยการผ่าตัดเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ยิ่งถ้าสามารถผ่าตัดเอาเนื้องอกออกได้หมดก็จะมี พยากรณ์โรคที่ดี มะเร็งกระดูกบางกลุ่ม เช่น osteosarcoma, Ewing’s sarcoma จะตอบสนองดีมากต่อการให้เคมีบำบัดและรังสีร่วมรักษา ร่วมกับการผ่าตัด แต่เนื้องอกบางชนิด เช่น chondrosarcoma จะไม่ตอบสนองต่อการให้เคมีบำบัดและรังสีร่วมรักษาเลย ดังนั้นวิธีการรักษาต้องขึ้นกับทั้งชนิดของเนื้องอกและ ระยะของเนื้องอกด้วย

เนื้องอกที่กระดูกชนิดทุติยภูมิ (Secondary bone tumors)

กระดูกนับเป็นอวัยวะที่พบการแพร่กระจายของมะเร็งได้บ่อยเป็นอันดับที่ 3 รองจากปอดและตับ และด้วยความที่การรักษามะเร็งในปัจจุบันสามารถยืดอายุผู้ป่วยออกไปได้อีกระยะหนึ่ง ก่อนที่มะเร็งจะกลับมาแพร่กระจายอีกครั้ง จึงทำให้พบเนื้องอกทุติยภูมิที่อวัยวะเหล่านี้ได้บ่อยขึ้น

ตำแหน่งของกระดูกที่มะเร็งมักจะกระจายมาคือที่กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน และกระดูกต้นขา เพราะกระดูกเหล่านี้จะได้รับเลือดจาก Batson’s plexus ซึ่งเป็นกลุ่มของเส้นเลือดดำที่ไม่มีลิ้น และต่อมาจากช่องท้องโดยตรง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ค่อนข้างจะเป็นผู้ที่ทุกข์ทรมาณ เพราะนอกจากร่างกายจะทรุดโทรมจากโรคมะเร็งตั้งต้นแล้ว ยังจะมีอาการปวดกระดูกอย่างรุนแรงตลอดเวลา อาจมีกระดูกหัก และอาการกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลังจนควบคุมการขับถ่ายไม่ได้

การวินิจฉัยจะอาศัยประวัติที่เป็นมะเร็งของอวัยวะอื่นมาก่อน การเอกซเรย์กระดูกตรงตำแหน่งที่ปวด การทำ bone scan และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจชิ้นเนื้ออาจไม่จำเป็นในกรณีที่ทราบแหล่งที่มาแล้ว แต่ถ้าไม่มีประวัติของการเป็นมะเร็งมาก่อนเลยและการตรวจ CT-scan และ MRI ทั้งตัวไม่พบเนื้องอกที่ใด ก็จำเป็นต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อที่กระดูก

การรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะเป็นการรักษาแบบทุเลาอาการ เนื่องจากเป็นระยะที่มีการกระจายของโรคแล้ว เป้าหมายคือลดอาการปวด รักษาอาการกดทับของเส้นประสาท และป้องกันไม่ให้มีความสูญเสียเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นการฉายรังสีรักษา การผ่าตัดกระดูกที่หักจะพิจารณาจากสภาพร่างกายของผู้ป่วยและภาวะแทรกซ้อนของกระดูกที่หักเป็นสำคัญ ภายหลังการผ่าตัดยังจำเป็นต้องให้รังสีรักษาต่อ