เนื้องอกที่รังไข่ (Ovarian tumors)

รังไข่เป็นอวัยวะสำคัญของผู้หญิงเทียบเท่ากับอัณฑะในผู้ชาย รังไข่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางร่างกายของเด็กผู้หญิง ตลอดจนมีการเจริญของไข่ และมีการตกไข่เกิดขึ้นในทุก ๆ รอบเดือน

ก้อนที่รังไข่เป็นภาวะที่พบได้บ่อยตั้งแต่เด็กไปจนถึงคนสูงอายุ โดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ ถุงน้ำ ( พบประมาณ 24%) เนื้องอกไม่ร้าย (พบ 70%) และมะเร็งรังไข่ (พบ 6%)

ถุงน้ำและเนื้องอกไม่ร้ายที่รังไข่ (Benign ovarian tumors)

ถุงน้ำที่รังไข่ เป็นก้อนที่เกิดขึ้นจากการทำงานของรังไข่ บ่อยครั้งจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวในแต่ละรอบเดือน แต่บางชนิดก็จัดเป็นเนื้องอกที่ผลิตมูกหรือน้ำอยู่ภายใน ซึ่งมีโอกาสโตขึ้นเรื่อย ๆ ถุงน้ำที่รังไข่สามารถหมุนไปมาได้ และบางครั้งอาจบิดเป็นเกลียวที่ขั้ว ทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงคล้ายเวลาที่ลูกอัณฑะบิดเป็นเกลียว หรือบางครั้งถุงน้ำที่รังไข่ก็อาจมีเลือดออกมาปะปนกับน้ำที่อยู่ภายใน นานไปเม็ดเลือดที่แตกตัวจะทำให้น้ำดูเป็นสีน้ำตาลที่เรียกกันว่า "ช็อกโกแลตซิสต์"

ถุงน้ำที่ผลิตน้ำเรียกว่า Serous cystadenoma มักพบระหว่างอายุ 40-50 ปี ร้อยละ 20 เป็นทั้งสองข้าง และมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ 25%

ถุงน้ำที่ผลิตมูกเรียกว่า Mucinous cystadenoma มักพบเป็นก้อนขนาดใหญ่มาก และมีโอกาสฉีกขาดหรือแตกได้ ส่วนใหญ่พบในระหว่างอายุ 20-40 ปี ร้อยละ 10 เป็นทั้งสองข้าง และมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ 5%

ถุงน้ำที่มีองค์ประกอบภายในหลายอย่างเรียกว่า Teratoma หรือ Dermoid cyst ภายในอาจมีเส้นผม ฟัน และน้ำ ร้อยละ 20 เป็นทั้งสองข้าง และมักพบในหญิงสาว น้อยมากที่จะกลายเป็นมะเร็ง

ถุงน้ำที่อาจมีขึ้นชั่วคราวในระหว่างรอบเดือน เช่น follicle cyst, corpus luteum cyst, theca lutein cyst เหล่านี้ไม่เป็นอันตราย เว้นแต่จะเกิดการแตกหรืออักเสบ

เนื้องอกไม่ร้ายของรังไข่ ได้แก่ Fibroma, Thecoma, Adenofibroma, Brenner's tumor, Androblastoma, Dysgerminoma และ Struma ovarii tumor เนื้องอกเหล่านี้มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้น้อยกว่าพวก cystadenoma มาก

รังไข่เป็นอวัยวะที่สามารถเกิดเนื้องอกได้หลายชนิดภายในก้อนเดียวกัน และบางครั้งก็มีทั้งก้อนเนื้อและถุงน้ำรวมอยู่ด้วยกัน

ปัจจัยเสี่ยงที่พบว่าสัมพันธ์กับการเกิดเนื้องอกไม่ร้ายที่รังไข่ ได้แก่ โรคอ้วน, การมีระดูครั้งแรกเมื่ออายุน้อยกว่า 11 ปี, ภาวะที่มีบุตรยาก, เคยมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้, การกินยาต้านฮอร์โมนเพศหญิง (Tamoxifen), และการสูบบุหรี่

อาการและการวินิจฉัย

ส่วนใหญ่ตอนที่มันยังมีขนาดเล็กมักไม่มีอาการ แต่เมื่อมันโตขึ้น อาการที่พบบ่อยคือ การคลำได้ก้อนด้วยตัวเองที่ท้องน้อย บางรายอาจจะมีอาการปวดท้องน้อยหรือมีความผิดปกติของประจำเดือน บางรายอาจรู้สึกว่าท้องโตขึ้น ก้อนที่โตขึ้นอาจกดทับอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงรังไข่ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย, ลำไส้ใหญ่ ทำให้ท้องผูก ถ่ายอุจจาระลำบาก บางครั้งก้อนอาจบิดตัว (Twisted ovarian tumor) ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยอย่างเฉียบพลัน ซึ่งอาจร่วมกับมีไข้

ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการแพทย์อาจตรวจพบจากการตรวจภายในหรือตรวจร่างกายประจำปี หากมีขนาดเล็กก้อนหรือถุงน้ำนั้นอาจหายไปได้เองหลังจากนั้นอีก 1/2 - 3 เดือน โดยแพทย์อาจให้รับประทานยาคุมกำเนิด แล้วติดตามดูขนาดของก้อนด้วยอัลตราซาวด์

กรณีที่ไม่หายหรือก้อนมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะหายไปได้เอง แพทย์จะทำการตรวจแยกเนื้อร้ายกับไม่ร้ายด้วยค่า CA 125 ซึ่งบอกถึงโอกาสที่จะเป็นมะเร็งรังไข่, ส่องกล้องเข้าไปดูในช่องท้อง (Laparoscopy), ทำ CT-scan หรือ MRI, และทำการเจาะน้ำในช่องท้องออกมาตรวจ (หากมี) พร้อมกับแนะนำให้ผ่าตัดก้อนออกเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาให้แน่ชัดต่อไป

มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)

มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่พบไม่บ่อยในสตรี แต่มักจะไม่แสดงอาการ จึงทำให้ระยะของโรคลุกลามไปมากเมื่อตรวจพบ อายุของหญิงที่เป็นมะเร็งรังไข่จะอยู่ในช่วง 35-74 ปี ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ

  • ภาวะที่มีบุตรยาก
  • การที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม, รังไข่, หรือลำไส้ใหญ่
  • ผู้ที่ตรวจพบว่ามียีน BRCA1 หรือ BRCA2
  • ผู้ที่เป็นกลุ่มอาการ HNPCC (หรือ Lynch syndrome)

ส่วนปัจจัยที่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมคือ

  • การรับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันนานกว่า 3 ปี พบว่าลดอัตราเสี่ยงลงได้ 30-50%
  • การมีลูกตั้งแต่ก่อนอายุ 25 ปี (จากการตั้งครรภ์) และมีการให้นมบุตร
  • การทำหมันโดยการผูกท่อรังไข่
  • ผู้ที่ตัดมดลูกออกไปก่อนแล้วก็พบว่ามีอัตราการเกิดมะเร็งรังไข่ลดลง

มะเร็งรังไข่มีมากกว่า 30 ชนิด แต่อาจแบ่งคร่าว ๆ ตามเซลล์ต้นกำเนิดของมันได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. Common Epithelial Tumors เป็นมะเร็งของเซลล์เยื่อบุรังไข่ชั้นนอก พบ 85-90%
  2. Germ Cell Tumors เป็นมะเร็งของเซลล์ไข่โดยตรง มักพบในผู้หญิงที่อายุยังน้อย
  3. Stromal Tumors เป็นมะเร็งของเนื้อเยื่อที่ยึดรังไข่ไว้กับส่วนอื่น ๆ พบได้น้อยมาก และส่วนใหญ่เป็นมะเร็งชนิดที่ไม่ดุร้าย (low-grade) โตช้า มักพบตั้งแต่ระยะที่ I

อาการและการวินิจฉัย

มะเร็งรังไข่มักเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่ระยะที่ III ไปแล้ว และอาจพบเป็นพร้อมกันทั้งสองข้าง อาการที่พบได้แก่ ท้องอืดโตขึ้น ปวดท้องน้อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ท้องผูก มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด อ่อนเพลีย ปวดหลัง เจ็บท้องน้อยเวลามีเพศสัมพันธ์

ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ที่มีประสิทธิภาพ การตรวจภายในเป็นประจำ, การทำอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด, การตรวจหาค่า CA-125 และการตรวจหายีน BRCA1 และ BRCA2 แนะนำให้ทำเฉพาะในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น และยังไม่มีข้องแนะนำในระยะเวลาที่ควรทำ

ระยะของมะเร็งรังไข่

  • ระยะที่ I มะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะที่รังไข่ โดย
    - ระยะ IA เป็นที่รังไข่เพียงข้างเดียว
    - ระยะ IB เป็นที่รังไข่ทั้งสองข้าง
    - ระยะ IC เป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ แต่มีเซลล์มะเร็งที่ผนังชั้นนอกของรังไข่ หรือแคปซูลได้แตกออก หรือมีเซลล์มะเร็งอยู่ในน้ำในช่องท้องแล้ว
  • ระยะที่ II มะเร็งกระจายไปในอุ้งเชิงกราน โดย
    - ระยะ IIA มะเร็งลามไปที่มดลูกหรือปีกมดลูก
    - ระยะ IIB มะเร็งลามไปที่อวัยวะอื่นในอุ้งเชิงกราน
    - ระยะ IIC มะเร็งอยู่ในอุ้งเชิงกรานและมีเซลล์มะเร็งอยู่ในน้ำในช่องท้องแล้ว
  • ระยะที่ III มะเร็งลุกลามไปที่เยื่อบุช่องท้องหรือต่อมน้ำเหลืองแล้ว โดย
    - ระยะ IIIA สูตินรีแพทย์ยังไม่เห็นมะเร็งที่เยื่อบุช่องท้องหรือที่ต่อมน้ำเหลืองด้วยตาเปล่าขณะผ่าตัด
    - ระยะ IIIB สูตินรีแพทย์เห็นมะเร็งที่เยื่อบุช่องท้องขณะผ่าตัด ขนาดไม่เกิน 2 ซม. และยังไม่เห็นมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง
    - ระยะ IIIC สูตินรีแพทย์เห็นมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว หรือเห็นที่เยื่อบุช่องท้องขณะผ่าตัด ขนาดโตกว่า 2 ซม.
  • ระยะที่ IV มะเร็งได้กระจายออกนอกอุ้งเชิงกรานไปยังอวัยวะอื่นที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด

นอกจากนั้นยังมีการแบ่งเกรดตามหน้าตาของเซลล์ที่เห็นจากในกล้องจุลทรรศน์ ถ้าเซลล์มะเร็งยังดูคล้ายเซลล์ปกติก็จัดเป็นเกรด 1 (low grade หรือ well differentiated) ซึ่งมักจะโตช้า ถ้าเซลล์มะเร็งดูไม่เหมือนเซลล์ทั่วไปเลยก็จัดเป็นเกรด 3 (high grade หรือ poorly differentiated หรือ undifferentiated) ซึ่งมักจะโตและลามไปที่อื่นได้เร็ว ถ้าอยู่ระหว่างนี้ก็เป็นเกรด 2 (moderately differentiated)

การรักษามะเร็งรังไข่

การรักษาขึ้นกับระยะของโรค ชนิดและเกรดของเซลล์มะเร็ง และจำนวนข้างที่เป็น ในระยะ IA ที่ low grade (ซึ่งความจริงพบได้น้อยมาก) ส่วนที่จำเป็นจะต้องตัดออกคือรังไข่และท่อรังไข่ข้างนั้นเท่านั้น แต่ในคนไข้ที่เข้าวัยหมดประจำเดือนไปแล้วอาจเลือกที่จะตัดมดลูกออกไปด้วยก็ได้ เพื่อป้องกันการเป็นมะเร็งมดลูกในภายหลัง

ในระยะ IB และ IC จำเป็นต้องตัดทั้งรังไข่ ปีกมดลูก และมดลูก (ซึ่งรวมทั้งปากมดลูก) หลังผ่าตัดสำหรับระยะ IC ที่ high grade แพทย์มักแนะนำให้เคมีบำบัดเสริม เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำอีก

สำหรับระยะที่ II-IV ของมะเร็งรังไข่จัดว่าเป็นระยะลุกลาม การผ่าตัดยังคงเป็นการรักษาหลัก บวกกับเคมีบำบัด ซึ่งอาจให้ก่อนหรือหลังผ่าตัด ส่วนรังสีรักษาปัจจุบันมีบทบาทน้อยมากในมะเร็งรังไข่ โดยทั่วไปสูตินรีแพทย์จะตัดออกหมดทั้งรังไข่ 2 ข้าง, ปีกมดลูก 2 ข้าง, และมดลูก จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของชุดของยาเคมี ปกติแล้วมะเร็งรังไข่ที่ไม่ใช่ cystadenocarcinoma ตอบสนองดีมากต่อยาเคมีบำบัด โดยเฉพาะยาในกลุ่ม Platinum และ Taxane แต่เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มาในระยะที่ III ขึ้นไป โอกาสกลับเป็นซ้ำใหม่จึงค่อนข้างสูง ยาเคมีบำบัดอาจให้เข้าทางหลอดเลือดดำหรือให้เข้าทางช่องท้อง แต่พิษของยาเคมีที่ให้เข้าทางช่องท้องก็มีมากกว่า