เนื้องอกจากเซลล์โอลิโกเด็นโดรไซต์ (Oligodendroglial tumors)

โอลิโกเด็นโดรไซต์ (oligodendrocyte) เป็นเซลล์เกลียอีกชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายไข่ดาว มีแขนงมน ๆ สั้น ๆ ยื่นออกไป ทำหน้าที่สร้างฉนวนไมอีลินหุ้มเส้นประสาทในสมอง (เหมือนเซลล์ชวานน์ที่ทำหน้าที่สร้างไมอีลินหุ้มเส้นประสาทในไขสันหลัง) เนื้องอกของเซลล์โอลิโกเด็นโดรไซต์เรียกว่า "โอลิโกเด็นโดรไกลโอมา" (oligodendroglioma) บางครั้งเป็นเนื้องอกผสมกับเซลล์แอสโตรไซต์จะเรียกว่า "โอลิโกแอสโตรไซโตมา" (oligoastrocytoma หรือ mixed glioma)

เนื้องอกจากเซลล์ชนิดนี้พบประมาณ 10-15% ของเนื้องอกจากเซลล์เกลียทั้งหมด เป็นเนื้องอกที่แทรกซึมอยู่ในเนื้อสมองเช่นเดียวกับเนื้องอกแอสโตรโซโตมาแต่มีความรุนแรงน้อยกว่า คือโตช้ากว่า และขอบของก้อนก็พอจะเห็นได้ชัดกว่า มักพบบริเวณ frontal และ temporal lobe ภายในก้อนเนื้อไม่เรียบ มักมีส่วนของน้ำ เลือด และหินปูนอยู่ภายใน มักพบในผู้ใหญ่วัยประมาณ 40-45 ปี

ความรุนแรงของโรค

เนื้องอกชนิดนี้มีความรุนแรงเป็นสองระดับ คือ เกรด II และเกรด III โดยเกรด II สามารถกลายพันธุ์เป็นเกรด III ได้เมื่อเวลาผ่านไป เกรด III มีการแพร่กระจายและการขยายตัวที่รวดเร็วกว่า

อาการของโรค

อาการเริ่มต้นที่พบบ่อยคือ ปวดศีรษะ ชัก พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง จะอะไรไม่ค่อยได้ ต่อเมื่อก้อนใหญ่ขึ้นจึงมีอาการอ่อนแรงของแขน ขา ใบหน้า หรือกล้ามเนื้อตาให้เห็น

การรักษา

ในเกรด II แพทย์จะทำผ่าตัด เนื้องอกที่ยังหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัดนั้นแพทย์อาจจะแนะนำให้สังเกตอาการต่อโดยไม่ทำอะไร หรืออาจจะแนะนำให้ยาเคมีบำบัด หรือทำการฉายแสงตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

ในเกรด III ต้องใช้วิธีผ่าตัด ฉายแสง และให้ยาเคมีบำบัดร่วมกัน

พยากรณ์โรค

ในเกรด II ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่ได้นานอาจจะมากกว่า 10 ปี สาเหตุการเสียชีวิตมักเกิดจากเซลล์เนื้องอกมีการงอกซ้ำหลังการรักษา หรือมีการกลายพันธุ์เป็นชนิดที่ร้ายแรงขึ้น

ในเกรด III ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 4-5 ปี