เนื้องอกที่ต่อมลูกหมาก (Prostatic tumors)

ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่มีเฉพาะในผู้ชาย อยู่โดยรอบทางออกของกระเพาะปัสสาวะ ตรงบริเวณโคนอวัยวะเพศของผู้ชาย ขนาดประมาณลูกเกาลัด ทำหน้าที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ และสาร PSA (Prostate Specific Antigen) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้น้ำอสุจิไม่เกาะกันเป็นก้อนเหนียวข้น โรคเนื้องอกที่ต่อมลูกหมากเป็นโรคของชายสูงวัย ต่อมลูกหมากจะเริ่มโตหลังอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่จะแสดงอาการหลังอายุ 50 ปีไปแล้ว มะเร็งต่อมลูกหมากก็พบหลังอายุ 50 ปีไปแล้ว เนื้องอกที่ต่อมลูกหมากเป็นสาเหตุของการขับถ่ายปัสสาวะลำบากในชายสูงอายุที่พบบ่อยที่สุด

เนื้องอกไม่ร้ายของต่อมลูกหมาก หรือภาวะต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hypertrophy/hyperplasia, BPH, Prostadenoma)

ภาวะต่อมลูกหมากโต หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า "BPH" พบได้บ่อยกว่ามะเร็งต่อมลูกหมากมาก แต่ก็ไม่ได้เกิดกับผู้ชายที่สูงอายุทุกราย สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่เมื่อโตมากขึ้น ๆ การเปลี่ยนแปลงที่ตามมาคือการตีบแคบลงของท่อปัสสาวะส่วนที่อยู่ภายในต่อมลูกหมาก และการหนาตัวขึ้นของผนังกระเพาะปัสสาวะ เพราะต้องออกแรงบีบตัวให้ปัสสาวะไหลผ่านรูที่แคบลงเป็นเวลานาน ๆ ทำให้ผู้ป่วยค่อย ๆ เกิดอาการปัสสาวะบ่อยจากการที่ปัสสาวะตกค้างออกไม่หมด ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ชัดในเวลากลางคืน, ปัสสาวะลำบาก ไม่พุ่ง สะดุด หรือเบ่งนานกว่าจะออก, มีปัสสาวะเล็ด หรือไหลเป็นหยด ๆ ก่อนและหลังจากถ่ายปัสสาวะเสร็จแล้ว, เกิดความรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะขึ้นมาทันที และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่, เกิดภาวะติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะบ่อย ๆ, และสุดท้ายคือปัสสาวะไม่ออกเลย ต้องใช้วิธีสวนออก

การวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโตทำได้โดยการตรวจทางทวารหนัก เพื่อประเมินขนาดของต่อมลูกหมาก ท่านอาจจะได้รับการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจหาระดับของสารพีเอสเอเพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจเลือดดูการทำงานของไต ตรวจปัสสาวะ และตรวจพิเศษอื่นๆ เพื่อช่วยให้พบสาเหตุที่แท้จริงของอาการทางด้านปัสสาวะของท่าน เช่น การส่องกล้อง การตรวจวัดความแรงของการปัสสาวะ

แนวทางการรักษา

  1. การปรับพฤติกรรม ในรายที่อาการยังน้อย อาจเพียงหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากเกินไปโดยเฉพาะเวลาจะเข้านอน งดกาแฟ ชา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เข้าห้องน้ำบ่อย กลางวันไปไหนก็ให้ปัสสาวะก่อน อย่ากลั้นปัสสาวะเพราะถ้ากลั้นแล้วจะทำให้เป็นมากขึ้น งดการใช้ยาลดอาการคัดจมูก เนื่องจากอาจจะทำให้กล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมากมีการบีบตัวมากขึ้น อย่านั่งจักรยานหรือทำอะไรที่สะเทือนต่อมลูกหมาก เพราะจะทำให้ปัสสาวะไม่ออก และถ้าเป็นไปได้ควรมีการร่วมเพศบ้าง เวลามีน้ำเชื้อออกมาบ้างจะทำให้ต่อมลูกหมากไม่บวม
  2. การใช้ยา ถ้าอาการต่าง ๆ ไม่ดีขึ้นแพทย์จะนิยมให้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมากกลุ่ม alpha-blockers แต่ยานี้มิได้ทำให้ขนาดของต่อมลูกหมากเล็กลง เพียงแต่ช่วยลดจำนวนครั้งของการปวดปัสสาวะให้ห่างไปได้ในรายที่ยังไม่พร้อมที่จะผ่าตัดเท่านั้น นอกจากนั้นรายที่มีภาวะติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษาเป็นครั้งคราวด้วย
  3. การผ่าตัด ถ้าเป็นมากขึ้นอีกก็ถึงคราวผ่าตัดขูดต่อมลูกหมากบางส่วนทิ้งไป วิธีมาตรฐานคือ TURP (Transurenthral Resection of the Prostate) ซึ่งทำโดยการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ แล้วตัดเอาเนื้องอกที่อุดตันท่อปัสสาวะออก เป็นการผ่าตัดที่เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่ออื่น ๆ น้อยกว่า และต้องพักฟื้นสั้นกว่าการผ่าตัดแบบเปิดผ่าตัดทั่วไป ส่วนการผ่าตัดด้วยการใช้เลเซอร์ตัดต่อมลูกหมาก หรือ PVP (Photoselective Vaporization of Prostate) ยังมีราคาแพงมาก และไม่ได้ชิ้นเนื้อเพื่อไปตรวจหามะเร็งด้วย จึงไม่ได้รับความนิยม แต่มีข้อดีคือ การผ่าตัดทำได้ง่ายกว่า เสียเลือดน้อยกว่า และกลับบ้านได้เร็วขึ้น

มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostatic cancer)

มะเร็งต่อมลูกหมากมี 2 ชนิด คือ carcinoma ซึ่งพบในชายชรา (เกือบทั้งหมดมีอายุมากกว่า 60 ปี) และ sarcoma ซึ่งพบได้น้อยมากในเด็กโต ในประเทศไทยมะเร็งต่อมลูกหมากพบมากเป็นอันดับที่ 5 ของมะเร็งในเพศชาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์ในระยะลุกลามซึ่งทำให้การรักษาไม่สามารถทำให้หายขาดได้

อาการของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งของต่อมลูกหมาก แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. กลุ่มที่ไม่มีอาการใด ๆ ตรวจพบจากการตรวจร่างกายประจำปี ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักวินิจฉัยโรคได้ในระยะเริ่มต้น เมื่อได้รับการรักษาแล้วจะสามารถหายขาดจากโรคได้
  2. กลุ่มที่มีอาการเดียวกับภาวะต่อมลูกหมากโต เมื่อผ่านการตรวจอย่างละเอียดหรือผ่าตัดไปแล้วจึงพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ในกลุ่มนี้ อาการของมะเร็งต่อมลูกหมากที่เพิ่มเติมมาได้แก่ อวัยวะเพศแข็งตัวยาก เวลาหลั่งเมื่อถึงจุดสุดยอดจะปวด มีเลือดในน้ำเชื้อหรือปัสสาวะ
  3. กลุ่มที่มีอาการของมะเร็งโดยทั่วไป ได้แก่อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหลัง ปวดข้อ มีกระดูกหักได้ง่าย อาการเหล่านี้เป็นผลจากการลุกลามของมะเร็ง ผู้ป่วยในระยะนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นและอาจป้องกันการลุกลามของมะเร็งได้

การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากประกอบด้วยการตรวจทางทวารหนัก การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก คือ PSA (Prostate-Specific Antigen) และการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิ โดยทั่วไปแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านระบบปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ของเพศชายพอจะแยกมะเร็งต่อมลูกหมากได้คร่าว ๆ จากการคลำผ่านรูทวารหนัก เพราะมะเร็งของต่อมลูกหมากจะมีเนื้อแข็งมาก ผิวขรุขระ และโตไม่สม่ำเสมอกันทั้งก้อน ค่า PSA จะช่วยในการตัดสินใจว่าจะต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจต่อหรือไม่

การตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากทำได้โดยการใช้เครื่องมืออัลตราซาวด์ของต่อมลูกหมากช่วย โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนัก แล้วตัดเนื้อไปตรวจด้วยเข็มที่มีขนาดเล็ก ไม่ต้องดมยาสลบ เมื่อทำเสร็จแล้วก็สามารถกลับบ้านได้

มะเร็งต่อมลูกหมากจะแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ในระยะที่ I และ II มะเร็งจะยังอยู่ภายในต่อมลูกหมาก ในระยะที่ III และ IV จะเป็นระยะลุกลามออกนอกต่อมลูกหมาก และไปบริเวณต่อมน้ำเหลืองและกระดูก โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยอาจเป็นอัมพาตจากการหักของกระดูกสันหลังได้

แนวทางการรักษา

  • มะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกที่ยังไม่มีการกระจายออกไปนอกต่อมลูกหมาก สามารถรักษาได้ 2 วิธี คือ
    1. ผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกทั้งหมด (Radical Prostatectomy) ซึ่งอาจผ่าโดยเปิดแผลทางหน้าท้อง หรือผ่าโดยใช้กล้องก็สุดแล้วแต่ความชำนาญของแพทย์ ต้องเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองทั้งหมดออกด้วย การผ่าตัดเป็นวิธีที่สามารถทำให้หายจากโรคได้ แต่ผลข้างเคียงที่อาจพบหลังผ่าตัด ได้แก่ การสูญเสียสมรรถภาพทางเพศ ท่อปัสสาวะตีบ และปัสสาวะเล็ด เป็นต้น
    2. การฝังรังสี (Brachytherapy) เป็นการฝังแท่งรังสีขนาดเล็กมากเข้าไปที่ต่อมลูกหมากผ่านผิวหนังบริเวณฝีเย็บ ผลข้างเคียง คือ จะเกิดการระคายเคืองของเยื่อบุผิวของกระเพาะปัสสาวะหรือเยื่อบุผิวของลำไส้ตรง ทำให้มีปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือดเป็นครั้งคราว ปัสสาวะหรืออุจจาระลำบากได้
  • มะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลาม มะเร็งในระยะนี้ไม่สามารถจะรักษาให้หายขาดได้แล้ว การรักษามีจุดประสงค์เพียงเพื่อยับยั้งการลุกลามเพิ่มขึ้นของมะเร็ง และรักษาอาการปวดที่เกิดจากมะเร็งให้คงคุณภาพชีวิตให้ดีที่สุด หลักการรักษาที่สำคัญคือ ยับยั้งหรือทำลายแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญของมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยมี 2 วิธีคือ
    1. ผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออกทั้ง 2 ข้าง ซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็ก ได้ผลดี และเร็ว
    2. ใช้ยาฉีดหรือกิน เพื่อยับยั้งฮอร์โมนเพศชาย ยาส่วนใหญ่มีราคาแพง แต่ให้ผลการรักษาดีเท่ากับการผ่าตัดเอาอัณฑะออก แต่มีข้อเสียคือ ต้องฉีดหรือกินตลอดไป

ยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่ยังใช้ไม่ได้ผลดีกับมะเร็งต่อมลูกหมาก การแช่แข็งมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยไนโตรเจนเหลวที่เรียกว่า Cryotherapy ยังไม่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปว่าได้ผลดี

มะเร็งต่อมลูกหมากส่วนใหญ่มีการดำเนินโรคไปอย่างช้า ๆ ผู้ป่วยหลายรายที่แม้จะอยู่ในระยะลุกลามก็ยังสามารถจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกได้นานเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ เช่น มะเร็งปอด ตับ และลำไส้ใหญ่