เนื้องอกที่กระเพาะอาหาร (Gastric tumors)
กระเพาะอาหารเป็นถุงขนาด 15 x 30 cm นอนเอกเขนกอยู่บริเวณลิ้นปี่เยื้องไปทางซ้าย และเป็นด่านแรกที่รับอาหารที่เคี้ยวแล้วจากปากมาย่อยต่อ เนื้องอกที่กระเพาะอาหารพบได้ไม่บ่อยนัก แต่หากมีใครพูดถึง ร้อยละ 90 จะหมายถึงมะเร็ง
เนื้องอกไม่ร้ายที่กระเพาะอาหาร (Benign gastric tumors)
เนื้องอกไม่ร้ายของกระเพาะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- เนื้องอกที่ไม่กลายเป็นมะเร็ง ได้แก่พวกติ่งเนื้อ (polyps) ชนิด hyperplastic, inflammatory fibroid และ hamartomatous (Juvenile, Peutz-Jegher's Syndrome, Cowden's Syndrome)
- เนื้องอกที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็ง ได้แก่พวก Epithelial adenomas, Fundic gland polyps, Gastrointestinal stromal tumors (GISTs), Lipomas, Leiomyomas และพวก Neural tumors
เนื้องอกไม่ร้ายที่กระเพาะอาหารส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการจนกว่ามันจะมีปัญหาแทรกซ้อน เช่น เลือดออก เป็นแผล อุดทางเดินอาหาร ก็จะเริ่มมีอาการปวดท้อง ท้องอืด หรือถ่ายอุจจาระเหลวเละสีดำ (อาการของเลือดออกเป็นจำนวนมากในกระเพาะ)
การวินิจฉัยอาศัยการส่องกล้องเข้าไปในกระเพาะและคีบชิ้นเนื้อออกมาตรวจ หากโชคดีไม่ใช่เนื้อร้าย ก็เพียงแก้ไขภาวะแทรกซ้อนนั้นและตัดก้อนเนื้อออกไป
เนื้องอกร้ายที่กระเพาะอาหาร (Malignant gastric tumors)
มะเร็งกระเพาะอาหารพบในเพศชายเป็น 2 เท่าของเพศหญิง ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 55 ปี ผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่
- ผู้ที่มีเนื้องอกกระเพาะชนิดไม่ร้ายที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งอยู่ก่อน
- ผู้ที่เคยผ่าตัดกระเพาะอาหารมาก่อน
- ผู้ที่มีการติดเชื้อ Helicobacter pylori ที่กระเพาะอาหาร
- ผู้ที่เป็นโรค Pernicious Anemia หรือ Menetrier's Disease
- ผู้ที่มีเลือดกรุ๊ปเอ
- ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมาก่อน
- ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารประเภทหมักดอง ตากเค็ม รมควัน อาหารที่เน้นแป้ง และทานใยกากอาหารในพืช ผัก ผลไม้น้อย
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- ผู้ที่ดื่มสุราวันละ 2 ก๊ง ขึ้นไป
- ผู้ชายที่อ้วน
มะเร็งกระเพาะอาหารร้อยละ 95 เป็น adenocarcinoma ที่เหลือเป็นพวก gastric lymphoma, GISTs, carcinoid, sarcoma, neuroendocrine carcinoma, adenoacanthoma และ squamous cell carcinoma
อาการสำคัญ
มะเร็งกระเพาะอาหารในระยะแรกไม่แสดงอาการอะไร ที่ควรสงสัยคือผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ที่มีอาการเหล่านี้
- ท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียด ทุกครั้งหลังทานอาหาร บางครั้งปวดท้องและอาเจียน
- อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด โดยไม่มีสาเหตุทางอารมณ์และจิตใจ
- ถ่ายอุจจาระเหลวเละสีดำ
- ตาเหลือง
ผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะในเพศชาย หากมีอาการในข้อแรกติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ไม่ควรรอจนถึงมีอาการข้อที่ 2-4
การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย แล้วนัดมาทำการตรวจพิเศษ ซึ่งอาจเป็นการส่องกล้องเข้าไปในกระเพาะหรือการเอกซเรย์กลืนแป้ง ซึ่งต้องเตรียมอดอาหารก่อนทำ การส่องกล้องสามารถคีบชิ้นเนื้อออกมาตรวจหากพบรอยโรคที่ต้องสงสัยและยังสามารถตรวจหาเชื้อ Helicobacter pylori ได้ด้วย สำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมที่จะทำการตรวจพิเศษ แพทย์อาจให้ยารักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร แล้วติดตามดูอาการสักระยะหนึ่งก่อน
ในการส่องกล้อง แพทย์ที่ชำนาญจะดูออกว่ารอยโรคแบบใดที่น่าจะเป็นมะเร็งมาก ในระหว่างที่รอผลการตรวจชิ้นเนื้อ แพทย์อาจทำการส่องกล้องอัลตราซาวด์ที่ปลายกล้องจะมีเครื่องอัลตราซาวนด์ขนาดเล็ก เพื่อช่วยให้ทราบถึงความลึกของมะเร็งและการกระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียง เพื่อวางแผนการสืบค้นอวัยวะที่โรคอาจจะกระจายไปถึงต่อไป
ระยะของมะเร็งกระเพาะอาหาร
- ระยะที่ 0 เซลล์มะเร็งยังอยู่เฉพาะที่เยื่อบุผิว (carcinoma in situ) ยังไม่ผ่านชั้น basement membrane
- ระยะที่ I มะเร็งกระจายผ่านชั้น basement membrane โดยแบ่งเป็นระยะ
- IA เซลล์มะเร็งเข้าไปในชั้น submucosa
- IB เซลล์มะเร็งเข้าไปถึงชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะ หรือยังอยู่ในชั้น submucosa แต่เข้าไปถึงต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ข้างเคียงแล้วจำนวน 1-2 ต่อม
- ระยะที่ II แบ่งเป็น
- IIA มะเร็งกินลงไปจนถึงชั้น subserosa แต่ยังไม่ทะลุผนังกระเพาะชั้นนอก หรือกินถึงชั้นกล้ามเนื้อพร้อมกับไปที่ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงจำนวน 1-2 ต่อม หรือยังอยู่ในชั้น submucosa แต่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้วจำนวน 3-6 ต่อม
- IIB มะเร็งทะลุผนังชั้นนอกของกระเพาะแล้ว หรือยังอยู่ในชั้น subserosa แต่ลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง 1-2 ต่อม หรือยังอยู่ในชั้นกล้ามเนื้อพร้อมกับไปที่ต่อมน้ำเหลืองจำนวน 3-6 ต่อม หรือยังอยู่ในชั้น submucosa แต่โดนต่อมน้ำเหลืองแล้ว 7 ต่อมขึ้นไป
- ระยะที่ III แบ่งเป็น
- IIIA มะเร็งทะลุผนังชั้นนอกของกระเพาะและกินต่อมน้ำเหลือง 1-2 ต่อม หรือยังอยู่ในชั้น subserosa แต่โดนต่อมน้ำเหลือง 3-6 ต่อม หรือยังอยู่ในชั้นกล้ามเนื้อแต่กินต่อมน้ำเหลืองไป 7 ต่อมขึ้นไป
- IIIB มะเร็งลามไปถึงอวัยวะข้างเคียงที่อยู่ติดกับกระเพาะแล้ว หรือเพียงทะลุผนังชั้นนอกแต่พบมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง 3-6 ต่อม หรือยังอยู่ในชั้น subserosa แต่พบมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ 7 ต่อมขึ้นไป
- IIIC มะเร็งลามไปถึงอวัยวะข้างเคียงที่อยู่ติดกับกระเพาะและพบมะเร็งในต่อมน้ำเหลืองอย่างน้อย 3 ต่อม หรือยังแค่ทะลุผนังชั้นนอกของกระเพาะแต่พบมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง 7 ต่อมขึ้นไป
- ระยะที่ IV เซลล์มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นที่อยู่ไกลออกไป
การรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
- การผ่าตัด
ในระยะแรกของมะเร็งกระเพาะอาหารที่ก้อนเนื้อยังอยู่แต่ในกระเพาะ การผ่าตัดจะเป็นการรักษาหลัก โดยจะตัดกระเพาะบางส่วนหรือทั้งหมดออกไป ถ้ามะเร็งได้ลุกลามสู่ผนังด้านนอกของกระเพาะหรือต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษาหลังการผ่าตัดด้วย ในการตัดกระเพาะอาหารทั้งหมดศัลยแพทย์จะต่อหลอดอาหารและลำไส้เล็กเข้าด้วยกัน ถ้าตัดกระเพาะอาหารบางส่วน แพทย์สามารถต่อกระเพาะอาหารส่วนที่เหลือเข้ากับลำไส้เล็กได้
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเป็นการผ่าตัดใหญ่ ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยคืออาการปวดเกร็ง คลื่นไส้ ท้องเสีย และมึนงงหลังกินอาหาร เกิดขึ้นจากการที่อาหารผ่านลงไปสู่ลำไส้เล็กอย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรกินอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยขึ้น แพทย์อาจให้ยาเพื่อควบคุมอาการดังกล่าว และผู้ป่วยมักต้องได้รับวิตามินบี 12 ฉีดเป็นระยะ ๆ หลังการผ่าตัด เพราะร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมวิตามินบี 12 ได้
- เคมีบำบัด
จุดประสงค์ของการใช้เคมีบำบัดก็เพื่อไปฆ่าเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัด ซึ่งอาจให้ร่วมกับการฉายรังสี ยาเคมีอาจเป็นรูปรับประทานหรือฉีด ผู้ป่วยอาจมีผลข้างเคียงจากยาในระหว่างการรักษา ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย อ่อนเพลีย ซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ เลือดออกง่าย ชาตามปลายมือหรือเท้า ผมร่วง และสีผิวหรือเล็บคล้ำขึ้น ผลข้างเคียงส่วนใหญ่จะหมดไปเมื่อหยุดใช้เคมีบำบัด
- รังสีรักษา
รังสีรักษาเป็นการใช้รังสีพลังงานสูงในการฆ่าเซลล์มะเร็ง ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารมักได้รับรังสีรักษาก่อนการผ่าตัด เพื่อลดขนาดของก้อนก่อนผ่าตัด หรือหลังการผ่าตัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่ ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้คือ อ่อนเพลีย ระคายผิว คลื่นไส้ และท้องเสีย อาการมักจะหายไปหลังจากหยุดการรักษา
เมื่อมะเร็งกระเพาะอาหารลุกลามไปยังอวัยวะอื่น การรักษามักจะเป็นเพียงการช่วยทุเลาอาการ ไม่สามารถทำให้โรคหายขาดได้ แพทย์อาจจะใช้การผ่าตัด เคมีบำบัด หรือการฉายรังสีขึ้นอยู่กับ
สถานการณ์ของผู้ป่วยแต่ละราย