มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
เม็ดเลือดทุกเม็ดของเรามาจากแม่พันธุ์ของมันในไขกระดูก แม่พันธุ์สายลิมฟอยด์ (lymphoid stem cell) ให้กำเนิดเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์และพลาสมาเซลล์ แม่พันธุ์สายมัยอิลอยด์ (myeloid stem cell) ให้กำเนิดเม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด เม็ดเลือดขาวชนิดอื่น ๆ และแมคโครฟาจ ในภาวะที่ร่างกายมีการสร้างเม็ดเลือดชนิดใดชนิดหนึ่งมากกว่าปกติหลายเท่า
จนเป็นอันตรายต่อเม็ดเลือดชนิดอื่น ๆ และการทำงานของระบบอื่น ๆ เรียกว่าเกิดมะเร็งของเม็ดเลือด
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมียก็เป็นโรคที่แม่พันธุ์ของเม็ดเลือดขาวขั้นใดขั้นหนึ่งมีการแบ่งตัวอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้สะสมอยู่ในไขกระดูก แล้วออกมาในกระแสเลือด เม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติเหล่านี้นอกจากจะไม่สามารถทำหน้าที่ของมันเองได้แล้ว ยังไปแย่งที่การสร้างเม็ดเลือดสายพันธุ์อื่น ๆ และทำให้อวัยวะที่กำจัดเม็ดเลือดที่ผิดปกติ เช่น ม้าม ตับ ทำงานมากจนมีขนาดโตขึ้นอีกด้วย
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว
สาเหตุของโรคจริง ๆ ยังไม่มีใครทราบ แต่พบว่าผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวส่วนหนึ่งมีประวัติดังนี้
- กรรมพันธุ์ และโรคทางพันธุกรรมบางโรค เช่น Down's syndrome, Bloom's syndrome, Kostmann’s syndrome, Fanconi's anemia และ Diamond-Blackfan anemia
- การได้รับกัมมันตภาพรังสี หรือเคยได้รับรังสีรักษาในปริมาณมาก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดาในระหว่างที่ได้รับรังสีเหล่านี้
- การได้รับสารพิษ เช่น เบนซิน
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น HTLV-1, EBV, HIV
- การได้รับยาเคมีบำบัดในกลุ่ม alkylating agents บางชนิด
- การมีโรคทางระบบโลหิตวิทยามาก่อน เช่น MDS, Aplastic anemia, Multiple myeloma เป็นต้น
ชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลัก คือ ชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง ทั้งสองชนิดยังแบ่งตามเซลล์ต้นกำเนิดได้เป็นสายของลิมฟอยด์และมัยอิลอยด์ ดังนี้
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมฟอยด์ (Acute Lymphoblastic Leukemia, ALL) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก เซลล์ส่วนใหญ่ยังเป็นแม่พันธุ์ตัวใหญ่ ๆ ค่อนข้างร้ายแรง แต่ตอบสนองต่อการรักษาดีกว่าชนิดมัยอิลอยด์
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ (Acute Myelogenous Leukemia, AML หรือ Acute Non-Lymphoblastic Leukemia, ANLL) พบในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก ในกลุ่มนี้ยังแบ่งย่อยออกไปอีกเป็น M1-M7 ตามลักษณะของเซลล์ในไขกระดูก แต่เซลล์ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นพวกแม่พันธุ์
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดลิมฟอยด์ (Chronic Lymphocytic Leukemia, CLL) เป็นชนิดพบได้น้อยแต่มีพยากรณ์โรคดีที่สุด เซลล์ที่ออกมาเป็นลิมโฟไซต์ตัวเต็มวัยขนาดเล็ก อาการดำเนินจะไปอย่างช้า ๆ บางครั้งไม่ต้องรักษา มักพบเฉพาะในคนสูงอายุ
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอิลอยด์ (Chronic Myelogenous Leukemia, CML) พบในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก เซลล์ที่ออกมาจะมีหลายวัยปะปนกัน จากรูปจะเห็นว่ามีทั้งรูปร่างและขนาดแตกต่างกัน อาการรุนแรงกว่า CLL
นอกจากนี้ยังมีมะเร็งเม็ดเลือดขาวอีกหลายชนิดที่พบได้น้อยมาก เช่น Hairy cell leukemia, ฯลฯ
อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ถ้าเป็นชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือนหลังจากเป็นโรค ผู้ป่วยจะมีซีดลงเร็ว เหนื่อยง่าย มีไข้ขึ้นบ่อย ติดเชื้อง่าย มีจุดจ้ำเลือดตามตัวหรือมีเลือดออกบ่อยขณะแปรงฟัน อาจพบต่อมน้ำเหลืองโตและตับม้ามโตได้ แต่ไม่มากเท่าแบบเรื้อรัง
มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันถ้าไม่ได้รักษาจะเสียชีวิตใน 3-4 เดือนจากการติดเชื้อหรือเลือดออกในอวัยวะสำคัญ
ถ้าเป็นชนิดเรื้อรัง เซลล์มะเร็งยังพอหน้าที่ของมันเองได้บ้าง และไม่รบกวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดปกติสายพันธุ์อื่นมากนัก ผู้ป่วยจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไปเป็นปี ๆ คือ มีตับม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโต อาการซีดและเลือดออกง่ายไม่รุนแรง บางครั้งมีการอุดตันของเส้นเลือดเพราะจำนวนเม็ดเลือดในกระแสโลหิตมีมากเกินไป
บางครั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังอาจกระจุกตัวอยู่ในบางอวัยวะ เช่น สมองและไขสันหลัง ทำให้มีอาการปวดศีรษะอย่างมาก อาเจียน ไม่รู้สึกตัว ชัก บางครั้งไปกระจุกตัวอยู่ที่ลูกอัณฑะ ตา ผิวหนัง ทางเดินอาหาร ปอด ข้อและกระดูก ก็จะทำให้ลูกอัณฑะบวม ปวดตา มีก้อนเนื้อที่ผิวหนัง ปวดท้อง/ท้องเสีย เหนื่อยหอบ/ไอ ปวดข้อและกระดูก ตามลำดับ
การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถทำได้ค่อนข้างง่ายจากการดูลักษณะเม็ดเลือดที่ได้จากการเจาะเลือด
ตามปกติ เรียกว่าการตรวจ complete blood count (CBC) ผู้ตรวจที่มีความชำนาญสามารถให้การวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วจากการดูสไลด์เพียงแผ่นเดียว อย่างไรก็ดี มีความจำเป็นต้องตรวจเลือดจากไขกระดูกเพิ่มเติมเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอนมากขึ้น และอาจต้องตรวจระดับยีนเพื่อช่วยแยกชนิดย่อยของมะเร็งเม็ดโลหิตขาวชนิดเฉียบพลัน พยากรณ์โรค และติดตามโรคหลังการรักษา
นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องตรวจความสมบูรณ์ของระบบต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วยทุกรายก่อนเริ่มให้การรักษาด้วยเคมีบำบัด เช่น การถ่ายภาพรังสีทรวงอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจการทำงานของตับ ไต และสมดุลของเกลือแร่ เป็นต้น และสุดท้ายต้องตรวจหาระดับสารมะเร็งของโรคมะเร็งระบบโลหิตวิทยา เช่น LDH เป็นตัวบอกความรุนแรงของโรค, Uric acid เป็นตัวบอกอุปสรรคของการรักษา
ในผู้ป่วยที่สงสัยการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเข้าสู่สมองต้องเจาะน้ำไขสันหลังตรวจด้วย
ระยะของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ไม่มีการจัดระยะของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเหมือนในโรคมะเร็งอื่น ๆ เพราะเป็นโรคเกิดในไขกระดูก เมื่อตรวจพบ โรคจะแพร่กระจายในไขกระดูกทั่วตัวอยู่แล้ว ดังนั้น แพทย์จึงแบ่งโรคตามความรุนแรง เป็นกลุ่มมีความรุนแรงปานกลาง และกลุ่มมีความรุนแรงสูง โดยประเมินจากปัจจัยต่างๆ เช่น
- ชนิดของเซลล์มะเร็ง (ชนิด AML ความรุนแรงสูงกว่าชนิด ALL)
- อายุ (เด็กอ่อน และผู้สูงอายุ ความรุนแรงโรคสูง)
- ปริมาณเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด ที่ตรวจพบในครั้งแรก (ถ้าผิดปกติมาก ความรุนแรงโรคสูง)
- การมีโรคแพร่กระจายเข้าเนื้อเยื่ออื่นนอกจากไขกระดูก เช่น ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม สมอง (ความรุนแรงโรคสูง)
การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว
มะเร็งเม็ดเลือดขาวรักษาด้วยเคมีบำบัดเป็นหลัก อาจให้ร่วมกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem cell transplantation) และรังสีรักษา การใช้รังสีรักษาสามารถให้ได้ 2 กรณี คือ ฉายรังสีบริเวณที่มะเร็งกระจุกตัวอยู่ เช่น ม้าม อันฑะ สมอง หรือฉายรังสีทั้งตัวเพื่อเตรียมการปลูกถ่ายไขกระดูก
การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันจะให้ยาเคมีบำบัดเป็นชุด ๆ แต่ละชุดห่างกันประมาณ 2-3
เดือน บางทีอาจจะใช้เวลา 1-2 ปี ในระหว่างนี้ผู้ป่วยอาจต้องได้รับเลือดหรือเกล็ดเลือดเข้าไปชดเชย ได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น และรักษาภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของเคมีบำบัด ในปัจจุบันเราสามารถรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันให้หายขาดได้ประมาณ 30-50% ของผู้ป่วยทั้งหมด และถึงแม้จะไม่หายขาดก็ยังมีโอกาสที่โรคจะเข้าสู่ภาวะสงบชั่วคราวได้ถึง 70-85%
มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังถึงแม้จะมีอาการไม่มาก แต่เป็นมะเร็งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว วิธีที่อาจหายได้คือการปลูกถ่ายไขกระดูก โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดแบบรับประทานเพื่อให้จำนวนเม็ดเลือดที่ผิดปกติลดลงและขนาดของม้ามยุบลง
การปลูกถ่ายไขกระดูกค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร ต้องใช้ไขกระดูกของพี่น้องที่เข้ากันได้ มีค่าใช้จ่ายสูง โรคแทรกซ้อนสูง แล้วยังอาจเกิดปฏิกิริยาปฏิเสธระหว่างกันอีกด้วย
ปัจจุบันมียารักษาตรงเป้า (targeted therapy) ที่สามารถรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิดได้ แต่ยายังมีราคาแพงมหาศาล เกินกว่าผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงยาได้
มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด CLL ที่ยังไม่แสดงอาการ บางครั้งแพทย์จะเฝ้าติดตามการดำเนินโรคไปก่อนเพื่อเลี่ยงผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการรักษาไปให้นานที่สุด เพราะมะเร็งชนิดนี้มักพบในคนที่มีอายุมาก