โรคแอคติโนมัยโคสิส (Actinomycosis)
โรคแอคติโนมัยโคสิสเกิดจากเชื้อในตระกูลของ Actinomycetes กลุ่มของ Actinomyces ซึ่งเป็นแบคทีเรียกรัมบวกที่มีรูปร่างเป็นเส้นใย แตกกิ่งก้านคล้ายเชื้อรา โตช้า ไม่ชอบออกซิเจน สามารถเพาะขึ้นได้ในวุ้นเพาะเลี้ยงเชื้อในสภาวะที่ปราศจากอากาศ และย้อมไม่ติดสี acid-fast
เชื้อกลุ่มนี้อาศัยอยู่เป็นปกติในช่องปาก ทางเดินหายใจ ลำไส้ และช่องคลอดของคน บางสายพันธุ์พบในวัวควายด้วย ปกติไม่ค่อยดุร้าย จะก่อโรคขึ้นก็ต่อเมื่อมีการฉีกขาดของเยื่อบุจนเชื้อสามารถแทรกเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อข้างใต้ ตัวที่พบว่าก่อโรคในคนที่บ่อยที่สุดคือ Actinomyces israelii ซึ่งมักพบร่วมกับเชื้อแอนแอโรบชนิดอื่น (เช่น Actinobacillus, Peptostreptococcus, Prevotella, Bacteroides, Enterobacteriaceae) โดยจะทำลายเนื้อเยื่อบริเวณนั้นให้ตายกลายเป็นโพรงหนองและแตกออกเป็นรูเปิดที่ผิวหนัง (sinus tract) พยาธิสภาพมักเป็นฝีเรื้อรังเฉพาะที่ ไม่ค่อยลุกลามเข้ากระแสเลือดหรือทางหลอดนํ้าเหลือง นอกจากร่างกายมีภูมิต้านทานตํ่า เชื้อเหล่านี้มักรวมตัวกันเป็นก้อนโคโลนีเล็ก ๆ อยู่ในโพรงหนอง บางครั้งก็ไหลปะปนออกมากับหนองเห็นเป็นก้อนตะกอนเล็ก ๆ สีครีม ยุ่ยและแตกง่าย คล้ายผงกำมะถัน จึงเรียกว่า sulfur granules ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคแอคติโนมัยโคสิส
อาการของโรค
อาการของโรคแอคติโนมัยโคสิสที่พบบ่อยมี 4 รูปแบบคือ
- ฝีที่ลำคอและใบหน้า (cervicofacial form) เป็นแบบพบได้บ่อยที่สุด (50-70%) เมื่อเยื่อบุช่องปากได้รับบาดเจ็บจากของทิ่มตำ เชื้อจะฝังตัวเข้าไปภายในเนื้อเยื่อและค่อย ๆ เติบโต เกิดเป็นก้อนบวมแข็งที่บริเวณดังกล่าว ถ้าเม็ดเลือดขาวของร่างกายไม่สามารถเก็บกินเชื้อได้หมด โรคจะลุกลามลึกลงไปเสมอ เพราะเชื้อไม่ต้องการอากาศในการเจริญเติบโต ผู้ป่วยจะไม่ค่อยเจ็บ แต่จะรู้สึกตึงเล็กน้อย อาจจะมีไข้ตํ่า ๆ โรคลุกลามอย่างช้า ๆ ในเวลาเป็นเดือนจนกลายเป็นก้อนใหญ่ หลังจากนั้นจึงเริ่มอ่อนตัวลง จนมีลักษณะน่วมคล้ายฝี แล้วแตกออกมาทางรูเปิดที่ผิวหนัง กระดูกที่อยู่ข้างโพรงหนองก็จะถูกทำลายไปด้วย ทำให้มีลักษณะพรุน บาง (osteolysis) และมีซีสต์เกิดขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญในการวินิจฉัยโรคด้วยภาพทางรังสี
- ฝีในปอด (thoracic form) พบประมาณร้อยละ 15-20 ส่วนใหญ่เกิดจากการสำลักของเหลวในปากลงปอด (เวลาชักหรือเมาจนหมดสติ) บางครั้งอาจเกิดจากการลุกลามลงไปของฝีบริเวณลำคอ, การลุกลามขึ้นมาของฝีบริเวณลำคอ, การที่มีรอยทะลุจากหลอดอาหารไปที่หลอดลม, หรือการที่เชื้อเข้ากระแสเลือดแล้วกระจายมาติดที่ปอด อาการและภาพรังสีจะคล้ายวัณโรคปอดมาก ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ เรื้อรัง ไอเสมหะเป็นหนองปนเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย น้ำหนักลด และเอกซเรย์พบโพรงหนองอยู่ในปอด
- ฝีในช่องท้อง (abdominal form) พบประมาณร้อยละ 10-20 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติผ่าตัดในช่องท้องมาก่อน บางรายเกิดจากการกลืนวัตถุแปลกปลอมลงไป หรือการใส่ห่วงคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนมีก้อนในท้อง กดเจ็บ ก้อนค่อย ๆ โตขึ้นอย่างช้า ๆ มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ผอมลง คล้ายมะเร็งลำไส้ บางรายหนองอาจแตกออกมาที่ผิวหนังให้เห็นได้
- แผลปฐมภูมิที่ผิวหนัง (primary cutaneous form) พบได้ค่อนข้างน้อย โรคมักเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกสิ่งของที่เปื้อนเชื้อทิ่มตำเข้าไป ถูกสัตว์เลี้ยงกัด หรือคนกัด จากการทำร้ายร่างกาย ดังนั้นบริเวณที่เกิดโรคจึงไม่แน่นอน รอยโรคมีลักษณะเป็นก้อนนูน กดเจ็บ มีขอบเขตชัด ต่อมาจะแตกออกมีรูเปิดเล็ก ๆ โดยมีหนองและน้ำเหลืองผสมกับโคโลนีของเชื้อไหลออกมา
ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ได้แก่ กระดูกติดเชื้อ ฝีที่สมองและไขสันหลัง ฝีที่ตับ และโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis)
การวินิจฉัยโรค
เนื่องจากโรคแอคติโนมัยโคสิสเป็นโรคเรื้อรังที่มีลักษณะเป็นก้อนชนิดแกรนูโลม่า และมีหนองไหลออกมาทางรูเปิด จึงต้องแยกออกจากโรคผิวหนังชนิดอื่นที่คล้ายคลึงกัน เช่น ฝีจากเชื้อแบคทีเรียทั่วไป โดยเฉพาะฝีฝักบัว, วัณโรคของผิวหนัง, กัมมาของโรคซิฟิลิส, Granuloma inguinale, Mycetoma, และมะเร็งของผิวหนังชนิดต่าง ๆ ถ้าเป็นที่ปอด โรคที่คล้ายกันมากก็คือโรคโนคาร์ดิโอสิส (Nocardiosis) จากเชื้อ Nocardia
การตรวจขั้นต้นให้สงสัยเชื้อแอคติโนมัยเซสหากหนองที่บีบออกมามีตะกอนสีเหลืองครีมออกมาด้วย และย้อมพบเชื้อกรัมบวกที่แตกแขนง แต่ย้อมไม่ติดสี acid-fast ยิ่งเอกซเรย์กระดูกใต้รอยโรคพบซิสต์ก็จะเป็นแนวทางให้คิดถึงโรคนี้และส่งเพาะเชื้อแบบแอนแอโรบ การวินิจฉัยที่แน่ชัดต้องพบเชื้อจากการเพาะ หรือการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาพบลักษณะเฉพาะของโคโลนีของเชื้อเท่านั้น
การรักษา
โรคแอคติโนมัยโคสิสใช้ระยะเวลารักษาค่อนข้างนาน (อย่างน้อย 2 เดือน) การรักษาประกอบด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อ และการผ่าตัดเพื่อระบายหนอง
ยาที่ใช้ได้ผลคือ Penicillin, Tetracycline, Erythromycin, Clindamycin ในช่วงแรกควรใช้เป็น Penicillin ฉีดในโรงพยาบาลนาน 4-6 สัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยรับประทานต่อจนหนองแห้งและรูเปิดปิดสนิท บางรายอาจต้องทานยานานถึง 1 ปี
การป้องกัน
เนื่องจากโรคนี้เป็นการติดเชื้อที่อยู่ภายในตัวของผู้ป่วยเอง การป้องกันจึงควรรักษาสุขอนามัยในช่องปาก และระมัดระวังในการรับประทานอาหาร ยังไม่พบมีการติดต่อของโรคนี้ระหว่างคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง