โรคท่อน้ำดีอักเสบ (Ascending cholangitis)

การอุดตันของทางเดินน้ำดีไม่ว่าจากนิ่ว มะเร็ง หรือการตีบแคบของท่อเอง รวมทั้งการใส่สายหรือเครื่องมือเข้าไปในท่อน้ำดี มีโอกาสจะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียจากในลำไส้ย้อนกลับขึ้นไป ทำให้เกิดโรคท่อน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมีความรุนแรงและอัตราตายสูงกว่าโรคถุงน้ำดีอักเสบโดยทั่วไปมาก แต่โชคดีที่อุบัติการณ์ของโรคนี้พบได้ไม่บ่อยนัก

อาการของโรค

ผู้ป่วยที่จะเป็นโรคท่อน้ำดีอักเสบนี้มักมีอาการดีซ่าน ตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด คันตามผิวหนัง จากท่อน้ำดีอุดตันอยู่ก่อน และกำลังได้รับการรักษาหรือกำลังรอตรวจหาสาเหตุ ผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อมีไข้หนาวสั่นและปวดท้องที่ใต้ชายโครงขวามากต้องรีบไปพบแพทย์ที่เคยดูแลทันที หากทิ้งไว้เพียง 1-2 วันอาจรักษาไม่ทันและเสียชีวิตได้

โรคท่อน้ำดีอักเสบจะมีสามอาการที่มาเป็นองค์คณะคือ ไข้หนาวสั่น ปวดท้องอย่างรุนแรง และตัวเหลืองตาเหลือง ที่เรียกกันว่า Charcot's triad อาการปวดท้องของโรคนี้จะรุนแรงมาก และไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะที่ใต้ชายโครงขวาเหมือนโรคถุงน้ำดีอักเสบ ส่วนใหญ่จะกินพื้นที่ทั่วท้องส่วนบน คนไข้จะระบุตำแหน่งที่ปวดไม่ได้ชัด บางรายอาจมีหน้าท้องแข็งเกร็งไปหมด และเวลาขยับตัวไปมาก็จะปวดมากขึ้น อาการไข้จะเป็นลักษณะจับไข้หนาวสั่น เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคมักเป็นแบคทีเรียกรัมลบที่อยู่ในลำไส้ ซึ่งมีความรุนแรงมาก

เนื่องจากผู้ป่วยมักทรุดลงอย่างรวดเร็ว อีก 2 อาการที่พบได้เสมอในเวลาถัดไปไม่นาน (หากปล่อยทิ้งไว้ หรือ กรณีที่การรักษาไม่ได้ผล) คือ การเสียความรู้สึกตัว (อาจซึมลงหรือสับสน) กับ ความดันโลหิตตก (มือเท้าเย็น อ่อนแรง ลุกไม่ไหว)

การวินิจฉัยโรค

แพทย์ที่ทราบประวัติของผู้ป่วยมาก่อนจะนึกถึงการติดเชื้อในท่อน้ำดีได้อย่างรวดเร็วจากลักษณะอาการและการตรวจร่างกาย ประวัติที่มีอาการเหลืองก่อนจะมีไข้ช่วยตัดโรคติดเชื้อเฉียบพลันอย่างอื่นที่มีไข้ก่อนแล้วถึงจะเหลืองออกไป อาการปวดท้องที่รุนแรงจนตรวจพบอาการแสดงของเยื่อบุช่องท้องอักเสบด้วยต้องอาศัยภาพจากเอกซเรย์และอัลตราซาวด์ช่องท้องเพื่อแยกภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ ออกไป

เชื้อส่วนใหญ่จะลุกลามต่อเข้าไปในกระแสเลือดอย่างรวดเร็ว การตรวจหาชนิดของเชื้อต้องอาศัยการเพาะเชื้อจากในเลือด ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 3-7 วัน แต่โดยความร้ายแรงของโรคแล้วไม่อาจรอได้ ต้องให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อกรัมลบทุกชนิดไปก่อน

การรักษา

ในระยะแรกผู้ป่วยจะได้รับการงดน้ำงดอาหารเพื่อเตรียมการตรวจ, การผ่าตัด, หรือ การทำหัตถการฉุกเฉิน และจะได้รับน้ำเกลือ, ยาระงับปวด, กับยาปฏิชีวนะชนิดฉีดไปก่อน ระยะแรกนี้ผู้ป่วยอาจได้รับการบันทึกปริมาณน้ำเข้า-น้ำออกของร่างกายในแต่ละวัน ซึ่งอาจเป็นการใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อให้ได้ปริมาณที่ถูกต้องแน่นอน หรือให้ผู้ป่วยเก็บปัสสาวะลงขวดตวงทุกครั้งที่ปัสสาวะ ซึ่งผู้ป่วยควรจะให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง ข้อมูลของปริมาณน้ำเข้า-น้ำออกนี้ รวมทั้งความดันโลหิต จะช่วยให้แพทย์ตัดสินใจเริ่มยาช่วยพยุงความดันได้ทันทีหากยาปฏิชีวนะที่เลือกให้ในตอนแรกไม่ได้ผล

เมื่อผลการเพาะเชื้อออกแล้ว แพทย์อาจทำการเปลี่ยนชนิดของยาปฏิชีวนะเพื่อให้เหมาะสมกับเชื้อที่ก่อโรคมากขึ้น และเมื่ออาการของผู้ป่วยดีขึ้นก็ค่อยพิจารณาทำ ERCP หรือการผ่าตัดเพื่อระบายท่อน้ำดีที่อุดตันต่อไป