โรคแคนดิเดียสิส (Candidiasis, Moniliasis, Thrush)
เชื้อราแคนดิดา (Candida albicans) ปกติอาศัยอยู่ในทางเดินอาหาร เยื่อบุ และผิวหนังของมนุษย์ ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดโรค ยกเว้นในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ เช่น หญิงมีครรภ์ เด็กแรกเกิด ผู้ป่วยหลังผ่าตัดใหม่ ๆ ผู้ที่ขาดอาหาร เป็นมะเร็ง เบาหวาน โลหิตจาง โรคเอดส์ ได้รับยากดภูมิต้านทาน หรือได้รับยาปฏิชีวนะชนิดครอบจักรวาล ลักษณะและอาการของโรคจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่เป็น
โรคแคนดิเดียสิสของเยื่อบุ
เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ตำแหน่งที่พบได้แก่ ลิ้น เพดานปาก ในช่องคลอด และรอบทวารหนัก ลักษณะจะเป็นแผ่นสีขาวนวล กระจัดกระจายอยู่ที่เยื่อบุ หลุดง่ายเมื่อเขี่ยออก เห็นหนังข้างใต้มีสีแดง ถ้าเป็นในช่องปากมักมีอาการเจ็บลิ้น เจ็บคอร่วมด้วย และอาจลามลึกลงไปในหลอดอาหาร
ถ้าเป็นในช่องคลอดเริ่มแรกมักไม่เจ็บ ไม่คัน แต่จะมีน้ำเมือกไหลเป็นฝ้าขุ่น ๆ ต่อมาจึงเกิดอาการปวด แสบ ร้อน และคันในช่องคลอด อาจลุกลามไปบริเวณอวัยวะเพศด้านนอกและขาหนีบ ผิวหนังจะแดง มีน้ำเหลืองเยิ้ม
ถ้าเป็นรอบรูทวารหนัก จะมีอาการคันมาก รอบ ๆ ทวารหนักจะแดงและเป็นฝ้าขาว
โรคแคนดิเดียสิสของผิวหนัง
มักเกิดขึ้นตามรอยพับของร่างกายที่เป็นที่อับชื้น เช่น รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ ซอกทวารหนัก ง่ามมือง่ามเท้าในรายที่ใส่ถุงมือถุงเท้า หรือต้องแช่น้ำอยู่นาน ๆ และรอยพับตามลำตัวและหน้าท้องในคนอ้วน ลักษณะเป็นผื่นแดง คัน ขอบชัด มีขุยบาง ๆ สีขาวคลุม ขึ้นกระจัดกระจายเหมือนดาวกระจาย (satellite lesions) ถ้าเป็นที่หนังศีรษะผมจะร่วง
โรคแคนดิเดียสิสของเล็บ
ลักษณะเป็นการบวมแดงที่ขอบเล็บ เมื่อกดจะรู้สึกเจ็บ บางครั้งเมื่อกดจะมีหนองไหลออกมาจากใต้เล็บ ถ้าเป็นนาน ๆ เล็บจะกลายเป็นสีน้ำตาล ผิวเล็บไม่เรียบ จะเป็นคลื่น แต่ยังแข็ง เหนียว ไม่ยุ่ยเหมือนเชื้อราชนิดอื่น ๆ เนื่องจากเชื้อราแคนดิดาไม่มีเอ็นไซม์ไปย่อยเล็บ หนังที่โคนเล็บจะแยกออกจากโคนเล็บ ถ้าใช้เข็มแยงจะมีหนองไหลออกจากรอยแยก ถ้าเป็นที่ปลายเล็บ ตัวเล็บจะเผยอจากพื้นเล็บ ในลักษณะค่อย ๆ เซาะลึกเข้าไปจนถึงโคนเล็บ และในที่สุดทั้งแผ่นเล็บจะหลุดออก
โรคแคนดิเดียสิสของอวัยวะภายใน
จะเป็นเฉพาะในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันต่ำจริง ๆ หรือได้รับยาปฏิชีวนะชนิดครอบจักรวาลเป็นเวลานาน ๆ สามารถเกิดได้กับทุกอวัยวะ ไม่เฉพาะแต่ในทางเดินอาหาร มดลูก และรังไข่ อาการคือมีไข้เรื้อรัง ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ ร่วมกับอาการอักเสบของอวัยวะที่ติดเชื้อ ถ้าเป็นที่หลอดอาหารก็จะมีอาการกลืนแล้วเจ็บ คลื่นไส้อาเจียน เจ็บหน้าอกส่วนหลัง ถ้าเป็นที่ลำไส้ก็จะมีอาการปวดท้อง ท้องร่วง บางครั้งคลำได้ก้อนในช่องท้อง ถ้าเป็นที่กล่องเสียงก็จะมีอาการเสียงแหบ เจ็บคอเวลาพูด ถ้าเป็นที่ปอดก็จะไอ หอบเหนื่อย บางครั้งเกิดเป็นฝีในปอด ถ้าเป็นที่ตับหรือม้ามมักเป็นลักษณะของฝีที่ตับหรือม้าม ปวดใต้ชายโครง ถ้าเป็นมาก ๆ อาจตรวจพบเชื้อแคนดิดาในกระแสเลือดได้
การวินิจฉัยโรค
เนื่องจากเชื้อแคนดิดาเป็นเชื้อราชนิดยิสต์ มีรูปร่างกลม แบ่งตัวโดยวิธีแตกหน่อ การวินิจฉัยทำได้ง่าย ๆ โดยการย้อมขุย ฝ้าขาว หนอง หรือเสมหะ จากตำแหน่งที่เป็นโรคด้วยน้ำยา KOH จะพบลักษณะของ budding yeast cells ดังรูป อาจพบลักษณะที่เป็นเส้นสายด้วยก็ได้ ถือเป็นกิ่งก้านปลอม (pseudohyphae)
ในรายที่เป็นที่อวัยวะภายในและผู้ป่วยอ่อนแอเกินไปที่จะเข้ารับการผ่าตัด การเพาะเชื้อจากเลือดร่วมกับการทำอัลตราซาวน์ดูอวัยวะอาจช่วยได้
การรักษา
โรคแคนดิเดียสิสของเยื่อบุสามารถรักษาด้วยน้ำยา 1% gentian violet, nystatin, และ mycostatin ในรายที่เป็นในช่องคลอดก็ใช้ในรูปแบบที่สอดเข้าช่องคลอดวันละ 2 ครั้งเป็น 7 วัน
โรคแคนดิเดียสิสของผิวหนังสามารถรักษาด้วย nystatin cream, clotrimazole cream, และ miconazole cream ทาวันละ 2-3 ครั้ง เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
โรคแคนดิเดียสิสของเล็บจะใช้ยาฆ่าเชื้อราประเภทรับประทาน ส่วนที่เป็นที่อวัยวะภายในจะใช้ Amphoterin B หยดเข้าทางเส้นโลหิตดำ