โรคงูสวัด (Shingles, Herpes zoster)

โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัส Varicella-zoster ตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส หลังจากหายจากอีสุกอีใสแล้ว เชื้อจะแฝงตัวอยู่ในเนื้อเยื่อของระบบประสาทใต้ผิวหนัง เมื่อร่างกายอ่อนแอ เช่น อายุมาก ถูกกระทบกระเทือน มีความเครียด ทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอ เชื้อที่แฝงตัวอยู่นั้นก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน ทำให้เส้นประสาทอักเสบ และเกิดตุ่มใสที่ผิวหนังตามแนวที่เส้นประสาทไปเลี้ยง ปวดแสบปวดร้อนมาก

โรคงูสวัดไม่สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง แต่สามารถทำให้ผู้ที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใสเป็นโรคอีสุกอีใสได้ โดยการสัมผัสกับน้ำที่แตกออก แต่การติดต่อก็ไม่ง่ายเหมือนทางการหายใจอย่างในโรคอีสุกอีใส

อาการของโรค

ผู้ป่วยที่เป็นงูสวัด ก่อนมีผื่นขึ้น 1-3 วัน จะมีอาการปวดแปล๊บ ๆ คล้ายถูกไฟช็อตในบริเวณที่ผื่นจะขึ้น อาจมีอาการคันและแสบร้อนเป็นพัก ๆ บางรายมีไข้หนาวสั่น เมื่อออกตุ่ม ตอนแรกจะเป็นตุ่มแดง อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส เรียงตามแนวผิวหนังซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ตามแนวที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทที่อักเสบ ช่วงนี้จะมีอาการปวดแสบปวดร้อนมาก ตุ่มน้ำมักทยอยขึ้นใน 4 วันแรก แล้วค่อยๆ แห้งตกสะเก็ดใน 7-10 วัน อาการปวดจะทุเลาไป

ร้อยละ 10-15 ของผู้สูงอายุที่เป็นโรคงูสวัด จะยังคงมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทที่อักเสบนี้ต่อไปอีกหลายเดือนแม้แผลจะหายหมดแล้ว โดยจะปวดเวลาถูกสัมผัสเพียงเบา ๆ บางรายจะปวดมากตอนกลางคืนหรือเวลาอากาศเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 50 จะค่อย ๆ หายปวดใน 3 เดือน ร้อยละ 75 จะหายปวดใน 1 ปี

โรคงูสวัดที่เกิดขึ้นบริเวณหน้าผากต้องระวังว่าอาจลามเข้าดวงตา ทำให้กระจกตาอักเสบได้ เพราะจากเส้นประสาทที่เลี้ยงบริเวณหน้าผากเป็นเส้นเดียวกับที่แยกไปเลี้ยงดวงตา

โดยทั่วไปโรคงูสวัดนี้ไม่อันตราย เพียงแต่ทำให้ทุกข์ทรมาณจากความแสบร้อนที่เกิดขึ้น โรคสามารถหายได้เองเหมือนอีสุกอีใส ยกเว้นในรายที่มีภูมิต้านทานผิดปกติ เช่น โรคเอดส์ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ได้ยากดภูมิต้านทาน โรคอาจแพร่กระจายไปสู่อวัยวะภายในอื่น ๆ เช่น สมอง ปอด ตับ เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การวินิจฉัย

โรคงูสวัดวินิจฉัยได้ง่ายจากอาการทางคลีนิก ไม่จำเป็นต้องตรวจแล็บ โรคที่ทำให้เกิดตุ่มน้ำแสบร้อนคล้ายกันก็เช่นโรคเริม แต่ตำแหน่งของเริมจะเป็นที่ริมฝีปากและที่อวัยวะเพศ และการกระจายของตุ่มก็ไม่มากเท่ากับตุ่มของงูสวัด

การรักษา

ผู้ป่วยโรคงูสวัดที่เป็นน้อยอาจให้เพียงยาแก้ปวด การประคบเย็น รักษาแผลให้สะอาด พักผ่อนให้เพียงพอ และอาจใช้ยาต้านไวรัสชนิดทา แต่ในรายที่เป็นมากโดยเฉพาะผู้สูงอายุควรใช้ยาต้านไวรัสแบบรับประทาน ซึ่งปัจจุบันมีทั้ง acyclovir, valacyclovir และ famciclovir ไม่ควรใช้เล็บแกะเกา หรือไปเป่า หรือใส่ยาที่ไม่สะอาดลงบนแผล เพราะจะทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ และอาจกลายเป็นแผลเป็น โรคงูสวัดชนิดรุนแรงแบบแพร่กระจายหรือเชื้อเข้าตา ควรให้ยาต้านไวรัสในรูปแบบฉีดเข้าเส้นเลือดดำ

การป้องกัน

วิธีป้องกันโรคงูสวัดวิธีเดียวคือฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส