โรคเล็พโตสไปโรสิส (Leptospirosis, Weil's disease)
โรคเล็พโตสไปโรสิส หรือ ไข้ฉี่หนู มีสาเหตุมาจากเชื้อ Leptospira interrogans ซึ่งเป็นเชื้อในกลุ่มของสไปโรขีท (spirochete) จุลชีพกลุ่มนี้มีลักษณะเป็นสายยาวขดเป็นเกลียว ปกติจะอาศัยอยู่ในไตของสัตว์ฟันแทะ โดยเฉพาะพวกหนู หนูที่มีเชื้อเล็พโตสไปร่าจะไม่เป็นโรค แต่จะปล่อยเชื้อออกมาทางปัสสาวะได้ตลอดชีวิตของมัน เชื้อเล็พโตสไปร่าสามารถไชเข้าสู่คนทางผิวหนังที่มีแผลขีดข่วน ทางเยื่อบุจมูกหรือเยื่อบุตา และทางปาก
โรคเล็พโตสไปโรสิสเกิดชุกในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน เพราะพื้นดินมีน้ำขังท่วม คนได้รับเชื้อง่ายจากการลุยน้ำที่ไม่สะอาด
พยาธิสภาพ
เมื่อเชื้อเล็พโตสไปร่าไชผ่านผิวหนังหรือเยื่อบุเข้าไปในหลอดเลือด มันจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและถูกกระแสโลหิตพัดไปยังทุกส่วนของร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบของแทบทุกอวัยวะ โดยเฉพาะที่ตับ ไต ปอด และกล้ามเนื้อ ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีการทำลายผนังของหลอดเลือดฝอย ทำให้มีจุดเลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ และอาจมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกในหลอดเลือด แต่ส่วนใหญ่โรคเล็พโตสไปโรสิสจะไม่เป็นถึงขั้นรุนแรง ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะช่วยกำจัดเชื้อออกไปเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่สอง เชื้อจะถูกร่างกายขับออกมาทางปัสสาวะ แต่ปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันจะทำให้เกิดอาการอักเสบต่อของบางอวัยวะ ที่พบบ่อยคือที่เยื่อหุ้มสมอง
อาการของโรค
โรคเล็พโตสไปโรสิสมีความรุนแรงตั้งแต่ไม่มีอาการอะไรเลย ไปจนถึงขั้นช็อคและเสียชีวิต ผู้ป่วยที่มีอาการจะแสดงอาการหลังได้รับเชื้อเข้าไปภายใน 3 สัปดาห์ อาการแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ
- ระยะเลือดเป็นพิษ (leptospiremic phase): ระยะนี้เชื้อจะอยู่ในกระแสเลือด ผู้ป่วยจะมีไข้หนาวสั่นอย่างฉับพลัน ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้องทั่ว ๆ ไป ท้องเดิน เจ็บคอ ปวดข้อ ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียลงอย่างมาก ต่อมาจะเรื่มมีอาการเหลือง หายใจหอบ มีจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุตา อาจมีไอเป็นเลือด ปัสสาวะออกน้อยและมีเลือดปน ระยะนี้อาการจะรุนแรง กินเวลา 5-9 วัน
- ระยะปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน (immune phase): เป็นระยะที่ไข้เริ่มลด แต่การอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อ ผู้ป่วยบางรายจะเกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยจะปวดศีรษะมาก คอแข็ง ความรู้สึกตัวลดลง อาการจะเป็นอยู่ไม่นานก็จะหายไป ระยะนี้เชื้อจะออกมาทางปัสสาวะ รวมระยะเวลาที่เป็นโรคทั้งสิ้นประมาณ 10-14 วัน
ประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยโรคเล็พโตสไปโรสิสจะมีไข้กลับมาอีกในสัปดาห์ที่ 2-3 ของโรค แต่จะไม่สูงมาก แล้วจะค่อย ๆ หายไปเองในที่สุด
การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยโรคเล็พโตสไปโรสิสที่แน่ชัดต้องอาศัยการตรวจทางซีโรโลยี่ ซึ่งให้ผลบวกได้ตั้งแต่สัปดาห์แรกของโรค การเพาะเชื้อจะใช้เวลานานกว่าการเพาะเชื้อแบคทีเรีย และต้องใช้อาหารเลี้ยงเชื้อชนิดพิเศษ โดยปกติจะใช้เวลา 1-6 สัปดาห์ ในสัปดาห์แรกของโรคต้องเพาะเชื้อจากในเลือด ในสัปดาห์ที่ 2-3 ต้องเพาะเชื้อจากในปัสสาวะหรือน้ำไขสันหลัง
การรักษา
ยาปฏิชีวนะที่ได้ผลในโรคเล็พโตสไปโรสิสคือ Penicillin แต่ต้องให้ภายใน 5 วันแรกที่มีไข้ มิฉะนั้นจะไม่ได้ผลเลย การรักษาที่สำคัญที่สุดคือการรักษาทั่วไป ควรให้ยาลดไข้, สารน้ำที่สมดุลกับภาวะไตเสื่อม, ฟอกเลือดในภาวะไตวาย, และแก้ไขภาวะเลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ
การป้องกัน
ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเล็พโตสไปโรสิส วิธีป้องกันคือการหลีกเลื่ยงการย่ำน้ำที่ท่วมขังด้วยเท้าเปล่า และรักษาความสะอาดของบ้านเรือนไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู