โรคเหาและโลน (Pediculosis & Phthiriasis)

ตัวเหาเป็นไรชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Pediculus humanus อาศัยดูดเลือดในตัวคนเป็นอาหาร มี 2 ชนิด คือ
- เหาหัว อาศัยอยู่บนศีรษะ ดูดเลือดจากหนังศีรษะ และทำให้คัน เกิดการอักเสบ เป็นแผลติดเชื้อ
- เหาตัว อาศัยอยู่ตามขนของลำตัวและตะเข็บเสื้อผ้า นอกจากดูดเลือดและทำให้คันแล้ว ยังเป็นพาหะนำโรคอีกหลายชนิด เช่น Epidemic typhus, Trench fever, Relapsing fever

ส่วนตัวโลนก็เป็นไรที่ชื่อ Phthirus pubis อาศัยอยู่ตามขนของอวัยวะสืบพันธุ์ ดูดเลือดตามบริเวณเป็นอาหาร ทำให้เกิดอาการคันรุนแรงมาก

ตัวเหาและโลนออกลูกเป็นไข่ เหาหัวออกไข่ครั้งละ 50-150 ฟอง เหาตัวออกทีละ 270-300 ฟอง และโลนออกทีละประมาณ 26 ฟอง ไข่มีสีขาวขุ่นติดอยู่ที่โคนผมหรือขน ฟักออกเป็นตัวใน 7-10 วัน ตัวอ่อนลอกคราบ 3 ครั้งจนเป็นตัวเต็มวัย ผสมพันธุ์และวางไข่ต่อไปอีก ตัวหนึ่ง ๆ มีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 3-6 สัปดาห์ สามารถไต่ข้ามไปอาศัยอยู่ในคนอีกคนหนึ่งได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกันหรือใช้ของร่วมกัน

อาการและการวินิจฉัย

โรคเหาที่ศีรษะ (Pediculosis capitis)

พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน เพราะเด็กนักเรียนจะวิ่งเล่นใกล้ชิดกันมาก และบางครั้งจะใช้หวี หมวก และหมอนร่วมกัน เมื่อเป็นเหาจะมีอาการคันที่หนังศีรษะ ถ้าเกามากจะเป็นแผล มีสะเก็ดแห้งกรัง บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนขึ้นได้

ตัวเหาบนศีรษะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีสีออกน้ำตาลหรือเทา แต่มันมักจะไต่หลบไปตามเส้นผม ไข่เหาเห็นได้ง่ายกว่า เป็นจุดเล็ก ๆ สีขาวขุ่น ติดอยู่ประมาณ 1.5-3.0 ซม. จากโคนผม เมื่อแรกเห็นอาจดูคล้ายรังแค แต่ไข่เหาจะติดแน่น ไม่เลื่อนไปตามเส้นผมเหมือนรังแค ทั้งตัวเหาและไข่เหาสามารถหลุดออกมาได้เมื่อใช้หวีเสนียดสางผม

โรคเหาที่ลำตัว (Pediculosis corporis)

พบในคนที่ไม่อาบน้ำเป็นเวลานาน ๆ เช่น ผู้พเนจร ตัวเหาจะอาศัยอยู่ในเสื้อผ้าด้านที่ติดกับลำตัว วางไข่อยู่ตามเส้นใยของเสื้อผ้าและขนรักแร้ ผู้ที่มีเหาจะคันตามตัวโดยเฉพาะเวลากลางคืน เพราะตัวเหาจะไต่จากเสื้อผ้าเข้ามาที่ผิวหนังเพื่อดูดเลือด

เหาตัวสามารถมีชีวิตอยู่นอกตัวคนได้นานกว่าเหาหัว และเป็นพาหะของเชื้อกลุ่ม Rickettsia, Borrelia และ Bartonella การวินิจฉัยใช้การเปรียบเทียบรูปร่างลักษณะของตัวเหาจากรูปข้างต้น

โรคโลน (Pediculosis pubis, Phthiriasis)

จัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่ง ตัวโลนนี้มีขนาดเล็กและเคลื่อนที่ได้ช้ากว่าตัวเหา จะเกาะอยู่ตามขนอ่อนของอวัยวะเพศ ผู้ที่มีโลนบางคนอาจไม่มีอาการคันมากนัก แต่จะสังเกตว่ามีจุดเลือดแห้งเล็ก ๆ ตามกางเกงใน บริเวณที่ตัวโลนกัดและดูดเลือดมักเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ทำให้เกิดตุ่มหนองบริเวณรากขน การวินิจฉัยอาศัยการตรวจเส้นขนบริเวณอวัยวะเพศและรอบ ๆ ทวารหนักอย่างละเอียดและพบตัวโลน

การรักษา

การโกนผมหรือขนทิ้งทั้งหมดเป็นวิธีการรักษาโรคเหาและโลนที่ง่ายและได้ผลดีที่สุด นอกจากนั้นยังต้องซักเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม กางเกงในให้สะอาดด้วย หากไม่ต้องการโกนผมอาจใช้ยาฆ่าเหาซึ่งมีหลายประเภท แต่ควรทำซ้ำ 3-4 ครั้ง ห่างกันทุก 1 สัปดาห์ เพราะไข่เหาจะฟักออกเป็นตัวเป็นชุด ๆ

ยาที่ปลอดภัยได้แก่พวกสมุนไพร มีหลายชนิดที่ใช้ฆ่าตัวเหาได้ เช่น ใบน้อยหน่าตำและคั้นกับน้ำหรือน้ำมัน, ใบสะเดาแก่โขลกผสมน้ำพอเหลว, ยางจากผลมะตูมสุก, น้ำในลูกบวบขม, น้ำมะกรูด, น้ำส้มสายชู ทุกชนิดใช้ชโลมผมทิ้งไว้ 3-4 ชั่วโมง ค่อยเอาหวีเสนียดสางแล้วล้างออก ปล่อยให้แห้ง แล้วค่อยสระผมด้วยแชมพู แล้วสางผมอีกครั้งเป็นอันเสร็จหนึ่งรอบ

ผู้ที่ไม่สะดวกในการใช้สมุนไพรอาจใช้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปของ 25% benzyl benzoate หรือ 1% gamma benzene hexachloride ที่วางขายมีทั้งในรูปครีม เจล หรือโลชั่น วิธีใช้ยาทั้งสองชนิดนี้ ต้องหมักผมทิ้งไว้ 12-24 ชั่วโมง แล้วใช้หวีเสนียดสางออก ผลข้างเคียงคืออาการระคายเคืองหนังศีรษะ ยิ่งในกรณีที่มีแผลที่เกิดจากการเกา อาการระคายเคืองจะรุนแรงยิ่งขึ้น ยาทั้งสองชนิดจะกำจัดได้แค่เพียงตัวเหาเท่านั้น ไม่สามารถกำจัดไข่ได้ ดังนั้นต้องมีการใช้ซ้ำอีกครั้ง 7 วันต่อมา เมื่อไข่เหาที่ไม่ถูกกำจัดฟักตัวออกมา

พวกยาฆ่าแมลง เช่น 5% Permethrin, Malathion, Lindane, แชมพูที่มีส่วนผสมของ Pyrethrine ควรใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะเป็นเวลานานได้ สำหรับยา malathion นั้นมีประสิทธิภาพกำจัดได้ทั้งตัวเหาและไข่เหา จึงใช้ครั้งเดียว นอกจากนั้นตัวยายังสามารถซึมเข้าไปในเคอราตินของเส้นผมและค้างอยู่นานถึง 6 สัปดาห์ จึงป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้

การป้องกัน

การป้องกันเหาและโลนทำได้โดยการสระผมให้สะอาดเป็นประจำ หมั่นนำเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม มาซักหรือผึ่งแดด อย่าใช้หวีหรือผ้าเช็ดผมร่วมกับผู้อื่น ไม่คลุกคลีหรือนอนใกล้ผู้ที่เป็นเหา และหากพบว่าเป็นเหาต้องรีบรักษาทันที