โรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor, Tinea versicolor)

เกลื้อนเป็นการติดเชื้อราที่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า พบได้บ่อยในประเทศที่มีอากาศร้อน สาเหตุเกิดจากเชื้อ Malassezia furfur ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้ปกติบนผิวหนังของคน โดยเฉพาะในบริเวณที่มีไขมันมาก เจริญเติบโตได้ดีในภาวะอับชื้น มีการหมักหมมของเหงื่อไคล และในผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรง ขาดอาหาร โลหิตจาง มีโรคเรื้อรัง หรือได้รับยาสเตอรอยด์

ลักษณะของเกลื้อน

เกลื้อนมีลักษณะเป็นดวงเรียบแบน สีขาว น้ำตาล หรือแดง ขอบเขตชัดเจน พบบ่อยบริเวณหลัง คอ ต้นแขน และอก เริ่มต้นมักเป็นวงเล็ก ๆ สีจางกว่าผิวหนังโดยรอบ แล้วค่อย ๆ ขยายโตขึ้น ต่อกันจนดูเป็นปื้น ที่เห็นเป็นสีขาวเพราะเชื้อราทำให้ขี้ไคลแห้ง หลุดง่าย ผิวหนังบริเวณนั้นบางลง และยังป้องกันผิวหนังไม่ให้มีสีคล้ำเมื่อโดนแดด

ในคนผิวคล้ำ บางครั้งเกลื้อนจะมีสีน้ำตาลเข้มเนื่องจากเชื้อ M. furfur เจริญอยู่ในชั้น Stratum corneum ทำให้ผิวหนังตรงที่เป็นนูนขึ้น และจำนวนของเมลานินที่สร้างสีผิวก็เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้เห็นเป็นดวงน้ำตาลดำบนผิวสีเดิม


ในคนผิวขาว เกลื้อนอาจมีสีแดงหรืออมชมพู พื้นแบนเรียบ ไม่คัน ดังรูป

การวินิจฉัยโรค

โรคเกลื้อนที่เป็นวงสีขาวต้องวินิจฉัยแยกจากโรคกลากน้ำนม (Pityriasis alba) โรคด่างขาว (Vitiligo) และโรคเรื้อน โรคเกลื้อนที่เป็นสีน้ำตาลต้องแยกจากภาวะที่มีผิวหนังอักเสบมาก่อนแล้วเกิดการสร้างเม็ดสีเพิ่มขึ้นในภายหลัง โรคเกลื้อนที่มีสีชมพูต้องวินิจฉัยแยกจากโรคกลีบกุหลาบ (Pityriasis rosea) โรคผื่นอักเสบตรงผิวมัน (Seborrheic dermatitis) โรคภูมิแพ้ที่ผิวหนัง โรคกลาก โรคสะเก็ดเงิน และมะเร็งของผิวหนังบางชนิด

ลักษณะพื้นแบนเรียบและไม่คันเป็นลักษณะเด่นสองอย่างของเกลื้อน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถวินิจฉัยเกลื้อนได้จากการดูด้วยตา แต่ในรายที่รอยโรคไม่ชัดเจน มี 2-3 วิธีที่ช่วยยืนยันโรคได้

  1. ในผู้ป่วยบางราย เมื่อส่องดูรอยโรคด้วย Wood’s light จะเรืองแสงเป็นสีเหลืองทอง (golden-yellow fluorescence) ผิดกับโรคเรื้อนหรือโรคด่างขาว (vitiligo) ที่จะเรืองแสงเป็นสีฟ้า
  2. เมื่อใช้ปลายมีดขูดขุยที่บริเวณรอยโรควางบนแผ่นสไลด์ แล้วหยดน้ำยา Parker Ink ลงไป 1 หยด ปิดด้วยแก้วปิดสไลด์บาง ๆ แล้วส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะเห็นเชื้อ M. furfur เป็นรูปเส้นสายและกลม ๆ รวมกัน (spaghetti and meatballs)

  3. เมื่อตัดผิวหนังบริเวณขอบของรอยโรคไปตรวจทางพยาธิวิทยา จะพบ M. furfur ในชั้นหนังกำพร้าและที่รูขุมขน ไม่ลงลึกลงไปถึงชั้นหนังแท้ มีเพียงการอักเสบของหนังแท้ชั้นบนเท่านั้น

การรักษา

โรคเกลื้อนรักษาไม่ยาก มียาทาหลายชนิดที่ใช้ได้ผล เช่น 20% sodium thiosulfate, 40 - 50% propylene glycol, 2.5% selenium sulfide, 2% tolnaftate, 1% cotrimazole, และ 2% miconazole ทาหลังอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ หรือใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อรา เช่น 2.5% selenium sulfide shampoo, 1 - 2% zinc pyrithione shampoo, 2% ketoconazole shampoo ฟอกทั่วตัวทิ้งไว้ 15 นาที วันละครั้ง นาน 2-4 สัปดาห์ ในรายที่เป็นมากอาจรับประทานยา Ketoconazole วันละ 200 มก. ร่วมด้วยเป็นเวลา 10-14 วัน แต่ยานี้ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคตับ

นอกจากนั้นยังควรใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย หลังออกกำลังกายควรเช็ดเหงื่อให้แห้ง และเปลี่ยนเสื้อผ้าหรืออาบน้ำทันที เพราะโรคเกลื้อนมักเกิดเป็นซ้ำ ในรายที่เป็นซ้ำบ่อย ๆ อาจใช้แชมพูที่ผสม selenium sulfide หรือ ketoconazole ฟอกตัวสัปดาห์ละครั้งเป็นประจำ หรือถ้าไม่สะดวกอาจรับประทานยา Ketoconazole ขนาด 400 มก. เดือนละครั้ง เป็นการป้องกัน แต่ควรระลึกไว้เสมอว่าไม่มีการป้องกันใด ๆ ที่ดีกว่าการรักษาร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ

แม้จะรักษาจนครบระยะเวลาและขูดหนังมาตรวจไม่พบเชื้อแล้ว สีของรอยโรคที่ผิดปกติไปต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะกลับคืนมาเป็นปกติ