โรคสปอโรทริโคสิส (Sporotrichosis)
โรคสปอโรทริโคสิสเกิดจากเชื้อราที่ชื่อว่า Sporothrix schenckii มี 2 รูปลักษณ์ ตอนอยู่ในดินและต้นไม้ใบหญ้าจะมีรูปเป็นเส้นใย แตกแขนงเป็นกิ่งก้าน และสร้างสปอร์ (mycelium form) แต่เวลาอยู่ในเนื้อเยื่อของคนจะมีรูปทรงกลมรีคล้ายซิการ์ (yeast form) คนที่ติดเชื้อนี้มักทำงานในสวน เชื้อเข้าทางบาดแผลที่ถูกหนามตำหรือใบไม้บาด มีน้อยมากที่ติดเชื้อโดยการสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป เชื้อนี้พบมากในประเทศจีนและเปรู
อาการของโรค
เริ่มแรกจะเป็นตุ่มขึ้นตามมือ, แขน, เท้า, หรือขา ที่สัมผัสกับเชื้อก่อน มักเกิดภายใน 20 วันหลังได้รับเชื้อ อาจเกิดพร้อมกันหลายตุ่ม แล้วค่อย ๆ โตขึ้น ไม่เจ็บ ไม่มีไข้ ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกว่าเจ็บป่วย ระหว่างนี้อาจกินเวลาหลายสัปดาห์ จากนั้นตุ่มจะแตกออกกลายเป็นแผลเรื้อรัง มีน้ำเหลืองไหล แผลคงอยู่ได้หลายปี แต่ไม่พบว่ามีการติดต่อจากคนสู่คนทางตุ่มที่แตกนี้ ในระหว่างนี้จะมีตุ่มใหม่เกิดขึ้นไล่ขึ้นไปตามแขนและขา เพราะเชื้อกระจายขึ้นไปทางท่อน้ำเหลือง
ผู้ป่วยแทบทุกรายจะจำกัดรอยโรคอยู่แต่เฉพาะที่ผิวหนัง มีส่วนน้อยเท่านั้นที่กระจายเข้าสู่อวัยวะอื่นในเวลาต่อมา และมักเป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ติดสุรา หรือใช้ยากดภูมิคุ้มกัน อวัยวะที่พบแล้วว่ากระจายไปได้ ได้แก่ ตา ไซนัส ในช่องปาก กล่องเสียง สมอง และต่อมลูกหมาก
โรคสปอโรทริโคสิสที่ปอดอาจมีหรือไม่มีรอยโรคที่ผิวหนังมาก่อนก็ได้ อาการจะเป็นแบบปอดอักเสบเรื้อรัง คือ มีไข้ ไอ หายใจหอบ เป็น ๆ หาย ๆ อยู่นาน เอกซเรย์ปอดมีลักษณะของโพรง (cavitation) คล้ายวัณโรคและโรคฮีสโตพลาสโมสิสมาก แยกจากกันไม่ได้ แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคสปอโรทริโคสิสที่ปอดจะมีโรคถุงลมปอดโป่งพอง (COPD) อยู่ก่อนทั้งสิ้น ไม่พบในผู้ป่วยปอดปกติ
โรคสปอโรทริโคสิสที่กระดูกและข้อก็อาจไม่มีรอยโรคที่ผิวหนังมาก่อน อาการจะเป็นแบบข้ออักเสบเรื้อรังของข้อใดข้อหนึ่ง มีการทำลายของเยื่อหุ้มข้อและถุงน้ำพยุงข้อด้วย ในรายที่เป็นที่กระดูกจะมีรูเปิดที่ผิวหนังให้หนองที่กระดูกไหลออกมา
การวินิจฉัยโรค
รอยโรคที่ผิวหนังของโรคสปอโรทริโคสิสจะคล้ายกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ มาก เช่น โรคเรื้อน, วัณโรคของผิวหนัง, โรคลิชมาเนียสิส, โรคแอคติโนมัยโคสิส, และโรคที่เกิดจากเชื้อราอย่างอื่น การวินิจฉัยที่แน่ชัดต้องนำน้ำเหลือง, เสมหะ, น้ำไขข้อ, น้ำไขสันหลัง, หรือชิ้นเนื้อจากรอยโรคไปเพาะในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต แล้วย้อมดูด้วยวิธี PAS หรือ GMS ถ้าโชคดีจะพบตัว S. schenckii รูปซิการ์อยู่ภายในเซลล์ของเม็ดเลือดขาว ซึ่งต้องย้อมด้วยวิธีอิมมูโนวิทยาอีกครั้งเพื่อระบุว่าเป็นเชื้อตัวนี้
การตรวจหาแอนติบอดี้ในเลือดไม่แนะนำให้ใช้ในการวินิจฉัย หากพบแอนติบอดี้ในระดับสูงหมายความว่าควรที่จะทำการเพาะเชื้อซ้ำอีกครั้งจนกว่าจะเจอ
การรักษา
โรคสปอโรทริโคสิสไม่ใช่โรคที่คุกคามชีวิต การดำเนินโรคเป็นไปอย่างช้ามาก มีเวลาให้ตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนเริ่มการรักษา
- ถ้าเป็นที่ผิวหนังอย่างเดียวสามารถใช้ยา Itraconazole ขนาด 200 มก./วัน รับประทานนาน 3-6 เดือน
- ถ้าเป็นที่กระดูกหรือข้อต้องรับประทานนานอย่างน้อย 1 ปี ร่วมกับการผ่าตัดเลาะกระดูกที่ตายแล้วออก
- ถ้าเป็นที่ปอดอาจใช้ Itraconazole กิน หรือ Amphotericin B ฉีด แล้วแต่ความรุนแรง และควรผ่าตัดเอาเนื้อปอดที่เสียแล้วทิ้งไปด้วย ระยะเวลาในการรักษานาน 1 ปี
- ถ้าเป็นที่สมองหรือแพร่กระจายไปหลายอวัยวะควรใช้ Amphotericin B ฉีดในช่วงแรก หากรอดชีวิตจึงตามด้วย Itraconazole ขนาด 200 มก./วัน รับประทานต่อจนครบ 1 ปี
ในหญิงมีครรภ์ควรเลื่อนการรักษาออกไปจนคลอดบุตรก่อน (ถ้ารอได้) เพราะยา Itraconazole ไม่ปลอดภัยในคนท้อง