กลุ่มอาการท็อกสิกช็อก (Toxic shock syndrome, TSS)
กลุ่มอาการท็อกสิกช็อกเกิดจากสารพิษของแบคทีเรียพวก Staphylococcus aureus และ Streptococcus pyogenes ทำให้เกิดไข้ ความดันโลหิตตก อวัยวะต่าง ๆ อย่างน้อย 3 ระบบล้มเหลว และผื่นแดงที่ต่อมาอีก 1-2 สัปดาห์จะลอกออก โดยเฉพาะที่ฝ่ามือกับฝ่าเท้า
กลุ่มอาการท็อกสิกช็อกนี้เป็นได้กับทุกวัย แหล่งของการติดเชื้อมาจากแผลที่ผิวหนัง แผลผ่าตัด แผลจากการคลอดบุตร ฝีในเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อ ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ กระดูกอักเสบ หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด และการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดช่องคลอดในสมัยก่อน โดยเชื้อจะสร้างสารพิษ (exotoxin) ไปทำลายระบบต่าง ๆ ของร่างกายอย่างรวดเร็ว อัตราการเสียชีวิตมีสูงร้อยละ 70
อาการของโรค
อาการเริ่มแรกขึ้นกับแหล่งที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่มักไม่หนักมาก ผู้ป่วยอาจรู้สึกเพียงมีไข้ และปวดเนื้อปวดตัว แต่เมื่อสารพิษของเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดแล้วจะมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็วภายใน 4-8 ชั่วโมง ไข้จะสูง หนาวสั่น ความรู้สึกตัวลดลง สับสน ความดันโลหิตตกทำให้ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น (ภาวะความดันตกนี้แก้ไม่ได้ด้วยการให้สารน้ำ) เมื่อเป็นนานกว่า 10 ชั่วโมงไตจะเริ่มวาย ปัสสาวะออกน้อย ไข้อาจหายไปเพราะอยู่ในภาวะช็อกนาน ร้อยละ 25 มีอาการคลื่นเหียน อาเจียน ท้องเสีย (เพราะเลือดไม่ได้ถูกส่งไปเลี้ยงลำไส้อย่างเพียงพอ) การทำงานของตับเสียไป การหายใจล้มเหลว และเข้าสู่ภาวะโคม่า
รอยโรคที่ผิวหนังมีได้หลายลักษณะ อาจเป็นปื้นแดงทั้งตัว, ตุ่มน้ำ, จุดเลือดออกสีแดงเล็ก ๆ ขนาดเท่าปลายเข็มหมุดจำนวนมาก (เนื่องจากระบบการแข็งตัวของเลือดเสียไป), หรือแผลลอกตามเยื่อบุต่าง ๆ (เช่น เยื่อบุตา ในปาก, ช่องคลอด, ทวารหนัก) แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน หากสามารถกำจัดเชื้อออกไปจากต้นตอและประคับประคองการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ได้ จะเกิดการลอกของหนังกำพร้าโดยเฉพาะที่ฝ่ามือฝ่าเท้าหลังสัปดาห์ที่หนึ่งเป็นต้นไป
การวินิจฉัยโรค
โรคและภาวะที่มีลักษณะอาการคล้ายกับกลุ่มอาการท็อกสิกช็อกได้แก่
- ภาวะช็อคจากการติดเชื้อในกระแสเลือด (septic shock)
- ไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcemia)
- ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever)
- โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease)
- กลุ่มอาการสตีเวน-จอห์นสัน (Steven-Johnson syndrome, SJS) และโรคเท็น (Toxic epidermal necrolysis, TEN)
การวินิจฉัยที่แน่ชัดคือต้องประกอบด้วยทั้ง 3 ข้อดังต่อไปนี้
- เพาะเชื้อขึ้น Streptococcus group A หรือ Staphylococcus aureus ในแหล่งติดเชื้อภายในร่างกายที่ยังไม่ได้สัมผัสกับภายนอก
- มีความดันโลหิตตกตั้งแต่ชั่วโมงที่ 4-8 ของโรค
- มีความผิดปกติของระบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไป
- ไตวายหรือไตเสื่อมเฉียบพลัน
- การแข็งตัวของเลือดเสียไป
- การทำงานของตับผิดปกติ
- การหายใจล้มเหลว
- มีผิวหนัง, เนื่อเยื่อ, กล้ามเนื้อ เน่าตาย
- มีผื่นแดงหรือรอยโรคกระจายตามผิวหนัง
การรักษา
แม้กลุ่มอาการท็อกสิกช็อกจะดูน่ากลัว แต่ถ้าสามารถนึกถึงภาวะนี้ได้เร็วก็อาจสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ ภาวะนี้จะคล้ายกับภาวะช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือดมาก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกรัมลบ ขณะที่กลุ่มอาการท็อกสิกช็อกเกิดจากแบคทีเรียกรัมบวก ยาปฏิชีวนะที่เริ่มให้ในตอนแรกต้องคลุมเชื้อ Streptococcus pyogenes หรือ Staphylococcus aureus (แล้วลักษณะของเชื้อที่ย้อมพบจากหนอง) นอกจากนั้นต้องทำการถ่ายหนองออกจากแหล่งที่ติดเชื้อทันที ให้การประคับประคองความดันโลหิต การหายใจ สมดุลน้ำและเกลือแร่ ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับออกซิเจนในเลือด ฯลฯ ในระหว่างที่รอผลการเพาะเชื้อ
การให้อิมมูโนโกลบูลินฉีดเพื่อต้านสารพิษของแบคทีเรียพบว่าช่วยลดอัตราตายได้ แต่ยานี้ยังมีราคาแพงมาก
ยา corticosteroids ขนาดสูงไม่มีประโยชน์ แต่ในขนาดเท่าภาวะตึงเครียด (stress dose of hydrocortisone 50 mg iv q 6 h) อาจพิจารณาให้ได้ในกรณีที่มั่นใจว่ายาปฏิชีวนะที่ให้ไปถูกต้องและได้ระดับในเลือดแล้ว แต่ภาวะความดันต่ำยังทรงตัว ยังไม่สามารถถอนยาช่วยพยุงความดันออกได้จนหมด
บ่อยครั้งที่การถ่ายหนองออกจากแหล่งที่ติดเชื้อทำไม่ได้หมดในคราวเดียว ต้องมีการผ่าตัดซ้ำ หรือล้างแผลทำความสะอาดต่ออีกนาน และบางครั้งอวัยวะที่ติดเชื้อก็อาจเสียหายจนเกินที่จะเก็บรักษาไว้ได้ จำเป็นต้องตัดทิ้งเพื่อรักษาชีวิต