วัณโรค (Tuberculosis)
วัณโรคหรือทีบี (TB) เป็นปัญหาสำคัญของสาธารณสุขไทยมาตลอดทุกยุคทุกสมัย เชื้อวัณโรคจัดอยู่ระหว่างกลุ่มของแบคทีเรียกับเชื้อรา ที่เรียกว่ากลุ่ม Mycobacterium เป็นจุลชีพที่เจริญเติบโตช้า เพาะเชื้อขึ้นได้ยาก ส่วนใหญ่ติดต่อกันทางการหายใจ แต่สามารถทำให้เกิดโรคได้แทบทุกอวัยวะ ความสำคัญของวัณโรคอยู่ที่ความลำบากในการวินิจฉัย การเพิ่มขึ้นของเชื้อที่ดื้อต่อยารักษา ความพิการที่หลงเหลือเมื่อหายจากโรค และโอกาสเกิดเป็นซ้ำใหม่ได้ง่ายเมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง
พยาธิกำเนิด
เชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทางคือ ทางการหายใจ ทางบาดแผลที่ผิวหนัง และการติดเชื้อจากมารดา ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยรับเชื้อจากการสูดเอาละอองเสมหะที่มีเชื้อวัณโรคเข้าไปในปอด เชื้อส่วนหนึ่งจะเจริญและฝังตัวอยู่ในเนื้อปอด อีกส่วนหนึ่งจะเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองและเข้ากระแสโลหิต ถูกพัดพาไปตามอวัยวะต่าง ๆ ขณะที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันเต็มที่ เชื้อวัณโรคเหล่านี้บางส่วนจะถูกภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายไป และบางส่วนจะซ่อนตัวอยู่อย่างสงบเงียบ ไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ แต่เราสามารถทราบได้โดยผลบวกของปฏิกิริยาทิวเบอร์คูลินที่ผิวหนัง ในรายที่ขณะติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือในเวลาต่อมาร่างกายมีภูมิคุ้มกันลดลง ตัวเชื้อก็จะทำให้เกิดอาการของวัณโรคขึ้นอย่างช้า ๆ
อาการของโรค
ร้อยละ 70 ของวัณโรคแสดงอาการขึ้นที่ปอดและเยื่อหุ้มปอด ที่เหลือแสดงอาการที่ระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง ผิวหนัง ลำไส้ เยื่อบุช่องท้อง และอื่น ๆ แทบทุกอวัยวะ อาการเริ่มต้นของวัณโรคทุกระบบคือจะมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผอมลง น้ำหนักลด ซึ่งอาจกินเวลาตั้งแต่ 1-10 สัปดาห์ก่อนที่จะมีอาการตามระบบที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่อาการเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ไข้จะเริ่มรู้สึกชัดขึ้น
ถ้าเป็นวัณโรคของเนื้อปอด จะมีไอเรื้อรัง เสมหะเหลืองเขียวหรือมีเลือดปน เหนื่อยง่าย ถ้าเป็นวัณโรคของเนื้อปอดชนิดมีเลียรี่ (miliary tuberculosis) หรือวัณโรคของเยื่อหุ้มปอดอาจไม่มีอาการไอ แต่จะมีไข้สูง เจ็บแน่นหน้าอก หายใจหอบ
ถ้าเป็นวัณโรคของต่อมน้ำเหลือง จะมีต่อมน้ำเหลืองโตติด ๆ กันหลายก้อน มักพบที่คอ รักแร้ ลักษณะเป็นก้อนหยุ่น ๆ บีบไม่เจ็บ นานไปต่อมน้ำเหลืองเหล่านี้จะแตกเป็นแผลเรื้อรัง มีหนองสีเหลืองเขียวไหล บางรายอาจเป็นที่ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ทำให้มีอาการปวดท้องเรื้อรัง ท้องอืดท้องเฟ้อ
ถ้าเป็นวัณโรคของเยื่อหุ้มสมองจะมีอาการปวดศีรษะ อาเจียน อาจมีอาการชักโดยเฉพาะในเด็กเล็ก บางรายตาเหล่ เห็นภาพซ้อน และค่อย ๆ ซึมลง
ถ้าเป็นวัณโรคที่ผิวหนัง มักเกิดจากการรับเชื้อวัณโรคเข้าทางบาดแผลโดยตรง รอยโรคเป็นได้ตั้งแต่ปื้นแดงหนามีสะเก็ดคลุม แผลแฉะเรื้อรัง ไปจนถีงตุ่มแข็งคล้ายหูด ขนาดของรอยโรคจะกินบริเวณกว้างขึ้นเรื่อย ๆ
ถ้าเป็นวัณโรคของลำไส้จะมีอาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ ท้องเสียเรื้อรัง และอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือด ถ้าเป็นวัณโรคของเยื่อบุช่องท้องจะมีไข้สูง ปวดท้องมากโดยเฉพาะเวลาขยับตัว จนต้องเกร็งหน้าท้องไว้ตลอดเวลา
วัณโรคของอวัยวะอื่นที่พบได้แต่น้อยเช่น วัณโรคของมดลูก รังไข่ ไต กระเพาะปัสสาวะ เยื่อหุ้มหัวใจ ฯลฯ
การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยวัณโรคที่แน่ชัดคือการเพาะเชื้อวัณโรคได้จากตำแหน่งที่เป็นโรค แต่เนื่องจากเชื้อวัณโรคโตช้า ต้องใช้เวลา 3-6 เดือนกว่าจะทราบผล ในทางปฏิบัติจึงอาศัยการย้อมพบเชื้อ หรือการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาพบเชื้อหรือลักษณะเฉพาะที่เชื้อวัณโรคก่อขึ้น แต่ก็ควรระลึกอยู่เสมอว่าการตรวจพบเหล่านี้ไม่จำเพาะต่อเชื้อวัณโรคเท่านั้น เชื้อโรคในกลุ่ม Mycobacterium หรือเชื้อในกลุ่มอื่น หรือแม้แต่โรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อก็สามารถให้ผลการย้อมหรือผลทางพยาธิวิทยาคล้ายคลึงกับวัณโรคได้ และหลายครั้งที่การตรวจไม่พบเชื้อใด ๆ แต่อาการทางคลีนิคสงสัยว่าจะเป็นวัณโรคก็ต้องให้ยารักษาไปก่อน เพื่อลดความรุนแรงและป้องกันการแพร่กระจายของวัณโรค
การรักษา
การรักษาวัณโรคต้องใช้ยาร่วมกันหลายขนาน และรับประทานเป็นเวลานาน เพื่อให้จำนวนเชื้อลงอย่างเร็วที่สุด และคุมเชื้อที่เหลือไม่ให้กลับมาก่อโรคได้อีก การเลือกสูตรยาและระยะเวลาที่ใช้ขึ้นกับตำแหน่งของโรค จำนวนเชื้อและความรุนแรงเมื่อแรกพบ และผลการตอบสนองต่อยาที่ใช้รักษาในแต่ละเดือน แพทย์จะเป็นผู้ประเมินและปรับสูตรยาให้ ผู้ป่วยควรเชื่อฟังและให้ความร่วมมืออย่างเคร่งครัด เพราะโอกาสการเกิดเชื้อดื้อยา และความพิการมากน้อยที่จะเหลืออยู่หลังการรักษาขึ้นกับผลการรักษาในครั้งแรก
ยารักษาวัณโรคบางชนิดมีผลข้างเคียงที่ควรระวัง เช่น อาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือตาเหลือง อาจเกิดจากภาวะพิษต่อตับของยา Isoniazid, Rifampicin, Pyrizinamide อาการผื่นขึ้นที่ผิวหนัง หรือการหลุดลอกของผิวหนัง อาจเกิดจากการแพ้ยาวัณโรคได้ทุกตัว อาการชาปลายมือปลายเท้าอาจเกิดจากภาวะยา Isoniazid ไปทำให้เกิดการขับออกของวิตามินบี 6 จากร่างกายมากขึ้น อาการตามัว มองเห็น
ภาพไม่ชัด ตาพร่า ไม่สามารถแยกสีแดงและเขียวได้ หรือมีจุดบอดในการมองเห็น อาจเกิดจากพิษต่อตาของยา Ethambutol อาการมึนศีรษะ หูไม่ได้ยิน มีปัญหาในการทรงตัว เดินโซเซ อาจเป็นจากพิษต่อหูของยาฉีด Streptomycin อาการปวดข้ออาจเกิดจากผลข้างเคียงของยา Pyrizinamide เป็นต้น หากเกิดอาการผิดปกติอย่างหนึ่งอย่างใดในระหว่างรับประทานยารักษาวัณโรคควรกลับไปปรึกษาแพทย์ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัดครั้งต่อไป
การป้องกัน
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันวัณโรคชนิดเดียวคือ BCG ซึ่งมีผลการศึกษาประสิทธิภาพของการป้องกันโรคที่แตกต่างกันมากในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก คือ ตั้งแต่ 0-80% ภายในระยะเวลา 15 ปี อย่างไรก็ตาม วัคซีน BCG เป็นวัคซีนที่อยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข โดยกําหนดให้ฉีดวัคซีน BCG แก่เด็กแรกเกิดทุกคน และ
ในนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่ไม่มีหลักฐานการได้รับวัคซีน BCG ในอดีต