ไข้ไทฟัส (Typhus)
ไข้ไทฟัส หรือ ไข้รากสาดใหญ่ เกิดจากเชื้อในตระกูลริกเค็ทท์เซีย (Rickettsia) ที่อาศัยอยู่ในสัตว์ มีแมลงพวกเห็บ หมัด ไร และเหา เป็นพาหะนำโรคมาสู่คน ไข้ไทฟัสเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
พยาธิสภาพ
ไรอ่อนมักกัดและแพร่เชื้อขณะที่กำลังหลับ ตำแหน่งที่กัดมักเป็นบริเวณส่วนพับของผิวหนัง เช่น รักแร้ ขาหนีบ ใต้ราวนม เมื่อถูกกัดมักไม่ค่อยรู้สึกเจ็บ เชื้อจะแบ่งตัวตรงตำแหน่งที่กัด ผิวหนังที่ถูกกัดจะเป็นแผล ลักษณะเป็นจุดดำ ๆ ขนาด 3-8 มม. มีเนื้อตายตรงกลาง เหมือนแผลที่ถูกบุหรี่จี้ เรียกว่าเอสคาร์ (eschar) ต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้เคียงกับแผลจะโต กดเจ็บ จากนั้นเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือด และถูกพัดพาไปตามอวัยวะต่าง ทำให้เกิดหลอดเลือดฝอยอักเสบทั่วไปแทบทุกอวัยวะ
อาการของโรค
อาการของไข้ไทฟัสเกิดหลังถูกแมลงที่มีเชื้อกัดประมาณ 4-18 วัน เริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะมาก หนาว ๆ ร้อน ๆ รอยแผลที่ถูกกัดอาจหายสนิทหรือยังมีรอยอยู่บ้าง ไข้มักสูงลอย ตาแดง ราววันที่ 5-7 ของไข้จะเกิดผื่นสีแดงคล้ำที่ลำตัวแล้วกระจายไปแขนขา ผื่นจะปรากฏอยู่ราว 3-4 วันก็จะหายไป
ในสัปดาห์ที่สองไข้จะยังคงมีต่อไป และเริ่มมีอาการไอ ซึ่งเกิดจากการอักเสบของหลอดเลือดฝอยที่ปอด ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ที่ไม่ทราบสาเหตุ ตรวจปัสสาวะมักพบมีเม็ดเลือดแดงเล็กน้อย ซึ่งเกิดจากการอักเสบของหลอดเลือดฝอยที่ไต ในปลายสัปดาห์ที่สองไข้จะค่อย ๆ ลด ต่อมน้ำเหลืองจะยุบลง แต่อาการไอยังคงมีอยู่ ในระยะนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อีกเช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และภาวะเลือดไม่แข็งตัว
การวินิจฉัยโรค
ลักษณะสำคัญที่ทำให้สงสัยโรคไข้ไทฟัสคือ การมีประวัติถูกเห็บหรือไรกัดมาก่อนหน้านี้ประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วมีไข้ ปวดศีรษะมาก ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต กับมีผื่นออกชั่วครู่ ไข้สูงที่เกินหนึ่งสัปดาห์จะช่วยตัดกลุ่มของโรคติดเชื้อไวรัสทิ้งไปได้ส่วนหนึ่ง
การวินิจฉัยไข้ไทฟัสที่แน่ชัดค่อนข้างยากและช้า มี 2 วิธีคือ การส่งเลือดเพาะเชื้อริกเค็ทท์เซียจากในช่องท้องของหนู ซึ่งไม่สามารถทำได้ในทุกสถานบริการ กับการตรวจทางซีโรโลยี่ ซึ่งจะให้ผลบวกในสัปดาห์ที่ 2-4 ของโรค แพทย์ที่ชำนาญจะให้การวินิจฉัยโรคเบื้องต้นโดยหลักฐานประกอบอื่นเช่น ตรวจเลือดพบเม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือดต่ำ ปัสสาวะพบเม็ดเลือดแดง เอ็นไซม์ของตับสูงเล็กน้อย ภาพรังสีทรวงอกปกติ อัลตราซาวน์ไตปกติ และผลการเพาะเชื้อจากเลือดและปัสสาวะเป็นลบ
ในทางคลีนิก เมื่ออาการสงสัยและผลตรวจประกอบไม่พบสาเหตุของไข้อื่น ๆ แพทย์มักลองให้ยารักษาไข้ไทฟัสดูก่อน หากไข้ลงสนิทภายใน 48 ชั่วโมงก็ถือเป็นการวินิจฉัยโรคได้
การรักษา
ไข้ไทฟัสตอบสนองต่อยา Doxycycline อย่างดีมาก ไข้จะลดใน 24 ชั่วโมง และลงสนิทใน 48 ชั่วโมง อาการต่าง ๆ จะหายอย่างรวดเร็วเหมือนปลิดทิ้ง
การป้องกัน
ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไข้ไทฟัส วิธีป้องกันคือการรักษาบ้านเรือนให้สะอาด ไม่นอนร่วมกับสัตว์เลี้ยงที่อาจมีเห็บไรที่เป็นพาหะของโรคเกาะอยู่ด้วย หลีกเลื่ยงการพักค้างแรมในป่าถ้าไม่จำเป็น