โรคซิฟิลิส (Syphilis)
ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่ง เกิดจากเชื้อ Treponema pallidum ซึ่งอยู่ในสายพันธุ์ของแบคทีเรียแต่ไม่สามารถเจริญนอกเซลล์ของคนได้ ทำให้ไม่สามารถหาเชื้อโดยการเพาะเชื้อได้เหมือนแบคทีเรียทั่วไป แต่สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิด darkfield เห็นเป็นรูปเป็นเกลียว ยาวประมาณ 5-15 ไมครอน
สิ่งที่แตกต่างจากแบคทีเรียทั่วไปอีกอย่างคือ หญิงมีครรภ์ที่ติดเชื้อนี้สามารถผ่านเชื้อนี้ไปให้ทารกที่อยู่ในครรภ์ ทำให้ทารกเกิดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดได้
อาการของโรค
อาการของโรคซิฟิลิส แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะเป็นแผลที่อวัยวะเพศ (Primary syphilis)
แผลจะปรากฏหลังสัมผัสกับโรคแล้ว 2-6 สัปดาห์ ตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือที่อวัยวะเพศชาย ทวารหนัก ช่องคลอด ปากมดลูก ริมฝีปาก ลิ้น ลักษณะแผลตื้น เรียบสะอาด ไม่เจ็บ ขอบยกนูนแข็ง จึงเรียกกันว่า "แผลริมแข็ง" (chancre) ส่วนใหญ่เป็นแผลเดี่ยว แผลจะเป็นอยู่นาน 2-4 สัปดาห์ก็จะหายไปเอง ระหว่างนี้จะมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบหรือที่คอโต กดไม่เจ็บด้วย การตรวจเลือดในช่วงนี้อาจจะให้ผลลบได้
- ระยะออกผื่น (Secondary syphilis)
ผื่นจะเกิดหลังรับเชื้อแล้วประมาณ ½ - 6 เดือน อาจเกิดขณะที่แผลริมแข็งกำลังจะหายหรือหายไปแล้ว ลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลแดงกระจายทั่วตัวรวมทั้งที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ไม่คัน ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบาย มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ปวดตามข้อ ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่นาน 1-3 เดือนก็จะหายไปเองอีกเช่นกัน การตรวจเลือดในช่วงนี้จะให้ผลบวก
- ระยะแฝง (Latent syphilis)
ระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดใดเป็นเวลา 2-30 ปี จะทราบได้โดยการเจาะเลือดตรวจเท่านั้น หญิงที่ตั้งครรภ์ในระยะนี้สามารถแพร่เชื้อไปสู่ลูกได้ ระยะนี้บางรายอาจจะเกิดผื่นเหมือนในระยะ Secondary syphilis ได้เป็นครั้งคราว
- ระยะแพร่กระจาย (Tertiary syphilis)
ประมาณ 15% ของผู้ติดเชื้อจะเข้าสู่ระยะแพร่กระจายหลังไม่มีอาการใดใดมาเป็นเวลาหลาย ๆ ปี จะเกิดก้อนเนื้อแข็งเรียกว่ากัมม่า (Gammas) ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเบียดทำลายอวัยวะเดิม ก้อนเนื้อนี้อาจเปื่อยและแตกเป็นแผล ทำให้เนื้อจมูกถูกทำลายจนเป็นรอยโหว่ ใบหน้าผิดรูป กระดูกหักง่าย ถ้าเกิดกับอวัยวะในช่องท้องก็จะทำให้ปวดท้องมาก ถ้าเชื้อเข้าสู่สมองจะทำให้มีอาการหลงลืม ชักกระตุก วิกลจริต อาจมีการตกเลือดในสมอง ตาบอด หูหนวก ถ้าเชื้อเข้าไปที่ไขสันหลังก็จะทำให้เป็นอัมพาต ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้ ถ้าเชื้อไปอยู่ที่หัวใจก็จะทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจมีลักษณะโป่งพอง หัวใจล้มเหลว
การตรวจเลือดในระยะนี้อาจจะให้ผลลบได้ร้อยละ 30
การวินิจฉัยโรค
ในระยะเริ่มแรกที่เป็นแผลที่อวัยวะเพศ สามารถวินิจฉัยได้โดยนำหนองจากแผลไปส่องกล้อง darkfield เพื่อหาตัวเชื้อ ในระยะออกผื่นสามารถนำเลือดไปส่องกล้อง darkfield หรือตรวจเลือดซิฟิลิส สำหรับผู้ที่มีอาการทางระบบประสาทหรืออาการอื่น ๆ หลายระบบที่ชวนให้สงสัยว่าจะเป็นโรคซิฟิลิสระยะแพร่กระจาย ควรตรวจซิฟิลิสทั้งในเลือดและในน้ำไขสันหลัง
การตรวจเลือดซิฟิลิส (Syphilis serologic tests) ประกอบด้วยการตรวจ 2 กลุ่ม คือ
- Non-specific treponemal test เป็นการตรวจหา reagin antibody ที่ไม่จำเพาะต่อซิฟิลิส แต่ตรวจง่าย ราคาถูก ให้ผลเชิงปริมาณ และบอกถึงโรคในระยะ active สมัยก่อนจึงนิยมใช้เป็นการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิส การตรวจในกลุ่มนี้ได้แก่
- VDRL (Venereal Diseases Research Laboratory) ใช้ cardiolipin/lecithin/cholesterol antigen จากเนื้อเยื่อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อทำปฏิกิริยากับ reagin antibody ของคนที่เคยติดเชื้อซิฟิลิส จะเกิดการแขวนตะกอน (flocculation) อ่านปฏิกิริยาด้วยกล้องจุลทรรศน์
- RPR (Rapid Plasma Reagins) ใช้ cardiolipin suspension antigen ซึ่งมีผงถ่านเล็ก ๆ ผสมอยู่ด้วย เมื่อทำปฏิกิริยากับ reagin antibody ของคนที่เคยติดเชื้อซิฟิลิส จะมองเห็นการแขวนตะกอนได้ด้วยตาเปล่า
หากผล VDRL หรือ RPR เป็นบวกต้องยืนยันด้วย Specific treponemal test อีกทีหนึ่ง เพราะการตรวจทั้งสองไม่จำเพาะต่อโรคซิฟิลิส อาจให้ผลบวกในโรคติดเชื้ออื่น โรคมะเร็ง โรคตับ หญิงมีครรภ์ คนสูงอายุ ฯลฯ
- Specific treponemal test เป็นการตรวจหาภูมิต้านทานต่อโปรตีนของเชื้อ T. pallidum ผลบวกหมายความว่าผู้นั้นเคยได้รับเชื้อซิฟิลิสมาก่อน ไม่ได้บอกถึงระยะ active ของโรค การตรวจกลุ่มนี้ได้แก่
- TPHA (Treponema Pallidum hemagglutination assay, MHA-TP) เป็นการตรวจที่ใช้เม็ดเลือดแดงที่ถูก sensitize ด้วย T. pallidum หากพลาสมาของผู้ป่วยมี treponema antibody ก็จะเกิดการรวมตัวกันของเม็ดเลือดแดง (agglutination) ตกตะกอนที่ก้นหลุม
- TPPA (Treponema Pallidum particle agglutination test) เป็นการตรวจที่ใช้ gelatin particle ที่ถูก sensitize ด้วย T. pallidum หากพลาสมาของผู้ป่วยมี treponema antibody ก็จะเกิดการรวมตัวกันของเจลาตินตกตะกอนที่ก้นหลุม
- FTA-ABS (Fluorescent Treponemal Antibody Absorption Test) เป็นการตรวจที่ใช้แอนติเจนของ T. pallidum จากลูกอัณฑะของกระต่ายที่ถูกทำให้ติดเชื้อ แต่พลาสมาของผู้ป่วยจะถูกผสมกับสารดูดซับ (absorbent) เพื่อแยกแอนติบอดีที่ไม่ใช่ซิฟิลิสออกก่อน ดังนั้นเมื่อผสมกัน หากพลาสมาของผู้ป่วยมี treponema antibody ก็จะเกิดการรวมตัวกับแอนติเจน การอ่านผลต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์เรืองแสง
การตรวจทั้งสามอย่างข้างต้นค่อนข้างยุ่งยากและราคาแพง จึงนิยมใช้เป็นตัวยืนยันผลท้ายสุด แต่ปัจจุบันมีการตรวจ Specific treponemal test ที่ราคาไม่แพงเพิ่มขึ้นอีกหลายตัว และบางสถาบันใช้ตรวจคัดกรองแทน VDRL และ RPR หากผลเป็นบวกหมายถึงเคยรับเชื้อมาก่อน จากนั้นค่อยยืนยันเชิงปริมาณและระยะ active ด้วย VDRL หรือ RPR แต่หาก VDRL หรือ RPR กลับให้ผลลบ (ค้านกัน) ก็ให้ยืนยันท้ายสุดด้วย 3 การตรวจข้างต้น การตรวจชุดใหม่นี้ได้แก่
- CMIA (Chemiluminescent Microparticle Immunoassay)
- EIA (Treponemal Enzyme Immunoassay)
- Rapid test (Immunochromatography)
- Western blot (IgG immunoblot test for T. pallidum)
CMIA และ Rapid test ปัจจุบันใช้คัดกรองโลหิตบริจาค และผู้ที่ต้องการใบรับรองแพทย์เพื่อศึกษา ทำงาน ต่อวีซ่า ในหน่วยงานของรัฐในประเทศไทย
การแปลผลตรวจเลือดซิฟิลิสดูได้ ที่นี่
การรักษา
โรคซิฟิลิสในระยะแรกรักษาได้ง่ายกว่าที่คิด ข้อสำคัญคือต้องแจ้งแก่คู่นอนให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจและรักษาด้วย
- ระยะที่เป็นแผล, ระยะออกผื่น, และระยะแฝงภายใน 1 ปี สามารถรักษาได้ด้วย Benzathine penicillin G 2.4 ล้านยูนิต ฉีดเข้ากล้าม ครั้งเดียว
กรณีแพ้ยา Penicillin อาจใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งดังต่อไปนี้
- Doxycycline 100 mg กินวันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร นาน 14 วัน
- Tetracycline 500 mg กินวันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร นาน 14 วัน
- Azithromycin 2 gm กินครั้งเดียว
- Ceftriaxone 1-2 gm ฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ วันละครั้ง
นาน 10-14 วัน
- Erythromycin 500 mg กินวันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร นาน 14 วัน
- ระยะแฝงที่นานกว่า 1 ปี (หรือไม่ทราบว่าได้รับเชื้อมานานเท่าไร) และระยะแพร่กระจายให้ฉีด Benzathine penicillin G 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามสัปดาห์ละครั้ง ติดต่อกัน 3 สัปดาห์
กรณีแพ้ยา Penicillin อาจใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งดังต่อไปนี้
- Doxycycline 100 mg กินวันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร นาน 28 วัน
- Tetracycline 500 mg กินวันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร นาน 28 วัน
- ถ้าเป็นซิฟิลิสของระบบประสาทให้ใช้ Penicillin G 18-24
ล้านยูนิต/วัน หยดเข้าหลอดเลือดดำ โดยแบ่งหยด 3-4 ล้านยูนิต ทุก 4 ชั่วโมง นาน 10-14 วัน
กรณีแพ้ยา Penicillin ให้ใช้ Ceftriaxone 2 g ฉีดเข้า
หลอดเลือดดำหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ วันละครั้ง นาน 10-14 วัน (Ceftriaxone มีโอกาส cross reaction กับผู้ที่แพ้ penicillinได้ 10%)
ซิฟิลิสในหญิงมีครรภ์ที่แพ้ Penicillin ศูนย์ควบคุมโรค
สหรัฐอเมริกาแนะนำให้ทำ Penicillin desensitized ก่อน แล้วรักษาด้วย Penicillin เช่นเดียวกับข้างบน
หลังจากรักษาครบแล้วให้ติดตามระดับ VDRL ในเลือดทุก 1-3 เดือน จนกว่าจะเป็นลบ และแม้ว่าจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและครบถ้วนแล้วก็ยังสามารถติดใหม่ได้อีก
การป้องกัน
เช่นเดียวกับกามโรคทั่วไป โรคซิฟิลิสสามารถป้องกันได้ง่าย ๆ การเลี่ยงการเที่ยวหญิงบริการ, การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์, การเลี่ยงการดื่มสุราเพราะจะทำให้ขาดสติ, การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน, และการพบแพทย์เสมอเมื่อสงสัยตนเองอาจติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ลงได้