โรคบิดมีตัว (Amoebiasis)
โรคบิดมีตัวเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้ออะมีบ้า (Entamoeba histolytica) ปกติเชื้อนี้จะออกมากับอุจจาระในคนที่เป็นโรค การใช้ปุ๋ยสดจากอุจจาระ การมีทางติดต่อกันระหว่างท่อน้ำประปากับท่อน้ำโสโครก การไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารเข้าปาก และการรับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม มีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับเชื้ออะมีบ้าเข้าไปในทางเดินอาหาร ซิสต์ของอะมีบ้าสามารถทนความร้อนที่ 65 องศาเซลเซียสได้นานถึง 3 นาที
พยาธิสภาพ
เมื่อซิสต์ของอะมีบ้าผ่านเข้าไปถึงลำไส้ใหญ่ ตัวอะมีบ้าเล็ก ๆ 4 ตัวจะออกมาจากซิสต์ เจริญเติบโตเข้าสู่ระยะโทรโฟซ้อยท์ โทรโฟซ้อยต์สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว และแทรกตัวเข้าไปในชั้นผิวของลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดเป็นแผลปากแคบก้นกว้าง (flask-shaped ulcer) มีผลึกรูปกระสวย (Charcot-Leyden crystals) อยู่ภายในแผล
พยาธิสภาพอีกแบบหนึ่งซึ่งพบได้น้อยกว่าแต่เป็นลักษณะจำเพาะคือ อะมีโบมา (amoeboma) เป็นการอักเสบที่เนื้อเยื่อของผนังลำใส้รวมกันเป็นก้อนค่อนข้างแข็ง อาจเข้าใจผิดว่าเป็นมะเร็งของลำไส้ใหญ่ได้
โทรโฟซ้อยท์ในลำไส้ใหญ่ต้องอาศัยแบคทีเรียในการเจริญเติบโตด้วย หากสภาพในลำไส้ใหญ่ไม่เหมาะสม เช่น การกินยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เข้าใจว่าเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดท้อง และอุจจาระร่วง โทรโฟซ้อยท์จะเริ่มเปลี่ยนตัวเองกลับไปเป็นซิสต์ ซึ่งจะผ่านออกมากับอุจจาระ เมื่อผู้อื่นกินซิสต์ของอะมีบ้าเข้าไป ก็จะเข้าสู่วงจรการขยายพันธุ์ และทำให้เกิดโรคได้ในคนอีกคนหนึ่ง
อาการของโรค
ผู้ที่มีอะมีบ้าอยู่ในลำไส้ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการอะไร เรียกว่าเป็นพาหะของโรค คนเหล่านี้อาจมีอาการเพียงแค่ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ท้องเดินเล็กน้อยเป็นบางครั้ง หรืออาจมีอาการเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ บริเวณท้องน้อยด้านขวา เมื่อตรวจอุจจาระจะพบซิสต์ของอะมีบ้า
ส่วนผู้ที่แสดงอาการจะเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อเข้าไปแล้วเป็นเวลา 8-10 วัน โดยมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว ปวดท้อง อุจจาระมีมูกปนเลือด กลิ่นเหม็นมากเหมือนหัวกุ้งเน่า ถ่ายไปไม่นานก็ปวดเบ่งอยากถ่ายอีก ไม่มีไข้ การวินิจฉัยต้องนำอุจจาระไปตรวจหาโปรโตซัว
หากได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง อาการถ่ายเป็นมูกเลือดหรือปวดท้องจะหายไปชั่วคราวแล้วกลับเป็นใหม่ อาการจะค่อย ๆ เบาลงเมื่อเข้าระยะเรื้อรัง แต่แผลบิดอะมีบ้าเป็นแผลลึก มีโอกาสที่จะเกิดลำไส้ทะลุเป็นภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งถ้าเกิดแล้วผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องอย่างฉับพลันและรุนแรงต่อเนื่องกันเป็นเวลามากกว่า 30 นาที หน้าท้องโป่งตึง กล้ามเนื้อหน้าท้องหดเกร็ง ขยับร่างกายไปทางไหนก็ปวดท้อง และเริ่มมีไข้ ภาวะนี้มีอันตรายมาก ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน
บางครั้งการอักเสบของแผลบิดอะมีบ้ามีการรวมตัวกันของเนื้อเยื่อใต้แผล ทำให้คลำได้เป็นก้อนบริเวณที่กดเจ็บ การคลำก้อนได้ในท้องร่วมกับอาการถ่ายเป็นมูกเลือดควรได้รับการตรวจอุจจาระก่อนด่วนสรุปว่าเป็นมะเร็งลำไส้
โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อบิดอะมีบ้า เช่น ฝีอะมีบ้าที่ตับ โรคอะมีบ้าในสมอง เป็นต้น
การรักษา
โรคบิดมีตัวที่ไม่มีอาการแทรกซ้อนรักษาได้ง่ายด้วยการใช้ยา แต่ถ้ามีก้อน amoeboma หรือ ลำไส้ทะลุ เกิดขึ้นแล้วจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด
ยารักษาโรคบิดมีตัวแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่ฆ่าเชื้อเฉพาะในเนื้อเยื่อ (Tissue/Systemic amebicides) เช่น ฝีบิดในตับ เชื้อบิดในผนังลำไส้ ยากลุ่มนี้ได้แก่ Chloroquine, Dehydroemetine, Emetine
- กลุ่มที่ฆ่าเชื้อเฉพาะในทางเดินอาหาร (Luminal amebicides) ทั้ง trophozoites และ cysts ภายในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ยากลุ่มนี้ได้แก่ Diloxanide furoate, Iodoquinol, Paramomycin
- กลุ่มที่ฆ่าเชื้อได้ทุกที่ (Mixed amebicides) ทั้งภายในทางเดินอาหาร ตับ และเนื้อเยื่ออื่น ๆ ที่ยาเข้าได้ยาก เช่นในเนื้อสมอง เป็นต้น ยากลุ่มนี้ได้แก่ Metronidazole, Tinidazole แต่ข้อเสียคือมันฆ่าแต่ trophozoites ไม่ฆ่าซิสต์ ดังนั้นถ้าตรวจพบซิสต์ในอุจจาระด้วยควรให้ยากลุ่ม Luminal amebicides ร่วมด้วย
Metronidazole เป็นยาหลักที่ใช้รักษาโรคบิดมีตัว เพราะมีทั้งแบบกินและฉีด สามารถเลือกให้ได้ตามความรุนแรงของโรค ขนาดยาคือ ครั้งละ 500-750 mg (ในเด็กใช้ขนาด 10-15 mg/kg สูงสุดไม่เกิน 750 mg) วันละ 3 ครั้ง นาน 7-10 วัน สำหรับฝีบิดมีตัวในตับต้องให้แพทย์ดูดหนองออกเป็นระยะ ๆ ด้วย
ส่วน Tinidazole มีแต่แบบเม็ดกินเท่านั้น ขนาดยาสำหรับโรคบิดมีตัวที่ลำไส้ ให้กิน 2 กรัม (ในเด็กใช้ขนาด 50mg/kg สูงสุดไม่เกิน 2 กรัม) วันละครั้ง นาน 3 วัน ส่วนฝีบิดมีตัวในตับต้องกินนาน 5 วัน (ร่วมกับให้แพทย์ดูดหนองออกเป็นระยะ ๆ ด้วย)
ส่วนขนาดยากลุ่ม Luminal amebicides กรณีที่พบซิสต์ด้วยคือ
- Diloxanide furoate: 500 mg วันละ 3 ครั้ง นาน 10 วัน
- Paromomycin: 10 mg/kg วันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน (ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่ไตเสื่อม)
- Iodoquinol: 650 mg วันละ 3 ครั้ง พร้อมอาหาร (เพราะยามีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารมาก) นาน 21 วัน
วิธีป้องกัน
เนื่องจากเชื้อนี้ติดต่อสู่คนทางอุจจาระ สุขอนามัยในการรับประทานอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
- ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนหยิบสิ่งของเข้าปาก
- ควรล้างผักและผลไม้ให้สะอาดทุกครั้งก่อนการรับประทาน
- ควรดื่มน้ำที่สะอาด แน่ใจว่ามาจากแหล่งที่ไม่มีการปนเปื้อน หากไม่แน่ใจควรต้มให้เดือดนานอย่างน้อย 3 นาที
- เมื่อมีอาการท้องเสียไม่ควรเข้าครัวทำอาหาร ไม่ควรเล่นน้ำในสระหรือในลำคลอง และไม่ควรขับถ่ายลงในแม่น้ำลำคลอง
- ไม่ควรใช้อุจจาระสดเป็นปุ๋ยรดผัก