โรคฝีอะมีบ้าที่ตับ (Amoebic liver abscess)

ฝีอะมีบ้าที่ตับเป็นโรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคบิดมีตัว ส่วนใหญ่พบในเพศชาย อายุในช่วง 30-50 ปี ในเด็กพบได้น้อยมาก ตัวอะมีบ้าในลำไส้ไปถึงตับได้ 2 ทางคือ

  1. ทางกระแสโลหิต โดยแผลบิดที่ลำไส้ใหญ่กินลึกถึงหลอดเลือด แล้วเชื้อผ่านเข้าทางหลอดเลือดดำเข้าสู่ตับ
  2. ทะลุเข้าตับโดยตรงจากลำไส้ใหญ่ส่วนที่ติดกับตับ

พยาธิสภาพ

เมื่ออะมีบ้าเข้าไปถึงตับจะไปอุดแขนงของหลอดเลือดดำในตับ ทำให้เนื้อตับตาย เนื้อตับเน่า และกลายเป็นหนอง ตัวอะมีบ้าที่ไปติดอยู่ในนั้นก็จะเจริญแบ่งตัวมากมาย จนเกิดเป็นโพรงหนองขนาดใหญ่ ฝีบิดอะมีบ้ามักพบเป็นหัวเดียวขนาดใหญ่ ซึ่งต่างจากฝีที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มักเป็นหัวเล็ก ๆ หลายหัว ตำแหน่งของฝีบิดอะมีบ้ามักพบที่ตับกลีบขวา

หนองของฝีบิดอะมีบ้าที่ตับจะข้น เหนียว สีกะปิ ไม่มีกลิ่น ซึ่งก็ต่างจากฝีหนองของแบคทีเรียที่มีกลิ่นเหม็นมาก ถ้าดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะไม่พบแบคทีเรีย แต่จะพบโทรโฟซ้อยท์ได้เพียง 50% เพราะตัวโทรโฟซ้อยท์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่ขอบของโพรงหนองส่วนที่ติดกับตับเนื้อดี การดูดหนองจนได้ตัวโทรโฟซ้อยท์ทำได้ยากมาก การวินิจฉัยอาจต้องอาศัยหลักฐานอื่นประกอบ

ถ้าโพรงหนองอยู่ใต้กระบังลมขวาและอยู่ใกล้ผิวตับ อาจแตกเข้าช่องเยื่อหุ้มปอดขวา ทำให้เกิดหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ถ้าฝีบิดอยู่ทางด้านล่างและอยู่ใกล้ผิวตับ อาจแตกเข้าช่องท้อง ทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ

อาการของโรค

เริ่มด้วยอาการเจ็บชายโครงขวา และมีไข้ บางคนอาจเจ็บร้าวไปถึงไหล่ขวา ถ้าฝีอยู่ที่กลีบซ้ายของตับจะเจ็บตรงลิ้นปี่ อาการจะค่อยเป็นค่อยไปภายในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ไข้จะสูงขึ้น และอาการเจ็บจะมากขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการตาเหลือง ประมาณ 1 ใน 4 มีอาการเหลืองบ้างแต่ไม่มาก บริเวณชายโครงขวาจะค่อย ๆ โป่งนูน ตึง และกดเจ็บ

ถ้าฝีแตกเข้าช่องเยื่อหุ้มปอด อาการเจ็บตึงบริเวณชายโครงขวาจะทุเลาลง แต่ไม่นานก็จะเป็นกลับมาอีก โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้า ถ้าฝีแตกเข้าช่องท้อง อาการเจ็บจะกระจายกว้างขึ้น และปวดท้องรุนแรงขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึงวัน

การวินิจฉัยอาศัยประวัติ การตรวจทางรังสี การตรวจทางซีโรโลยี่ และการดูดหนองออกมาตรวจหากเชื้อ ฝีอะมีบ้าที่ตับต้องวินิจฉัยแยกโรคจากฝีหนองของแบคทีเรีย ซึ่งพวกนี้มักมีอาการรุนแรงกว่ามาก ไข้สูง ทรุดเร็ว ตาเหลือง หนองมีหลายหัว สีเขียงเหลือง และมีกลิ่นเหม็นมาก นอกจากนั้นยังต้องวินิจฉัยแยกโรคจากมะเร็งของตับและซิสต์จากเชื้อปรสิตอื่น

การรักษา

ถ้าโพรงหนองมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 10 เซ็นติเมตร ควรเจาะทุกวันเว้นวันนอกเหนือจากการให้ยาฆ่าเชื้อบิด เพื่อป้องกันการแตกของฝีและช่วยให้อาการหายเร็วขึ้น

การป้องกัน

ฝีบิดอะมีบ้าจะเกิดได้ก็จากการรับประทานซิสต์ของอะมีบ้าในอุจจาระที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารแบะน้ำดื่ม ดังนั้น สุขอนามัยในการรับประทานอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด