โรคแอสเปอร์จิลโลสิส (Aspergillosis)

แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) เป็นเชื้อรารูปแท่ง มีลักษณะที่สำคัญคือ มีการแตกแขนงเป็นมุม 45 องศา และมีสปอร์เป็นรูปคล้ายดอกไม้ พบได้ทุกหนแห่งโดยเฉพาะในดิน น้ำ เศษใบไม้ที่หมักหมม และยังพบได้ตามห้องที่มีระบบปรับอากาศ ทำให้เกิดโรคทั้งในคน สัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในคนรับเชื้อโดยการสูดหายใจเอาสปอร์เข้าไป คนปกติมักจะไม่เกิดโรค แต่ในคนที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดี คนที่มีโรคปอดอยู่ก่อน หรือผู้ที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ เมื่อได้รับเชื้อนี้จะทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจ

อาการของโรค

โรคแอสเปอร์จิลโลสิสในคนจะแสดงอาการได้ 3 ลักษณะ ดังนี้

  1. แบบแพ้เชื้อรา (ABPA) เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อการยึดครองพื้นที่ในทางเดินหายใจของเชื้อ Aspergillus fumigatus มักเกิดในผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจอยู่ก่อน เช่น โรคซิสติคไฟโบรสิส (cystic fibrosis) หรือผู้ป่วยโรคหอบหืด (asthma) อาการคือมีไข้ ไอ เสมหะเหนียวอุดหลอดลม เอ็กซเรย์พบฝ้าในปอด บางรายมีอาการไอเป็นเลือด บางคนมีอาการคัดจมูกเรื้อรัง น้ำมูกเป็นหนองปนเลือด มีกลิ่นเหม็น แบบไซนัสอักเสบเรื้อรัง ไม่ดีขึ้นแม้จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
  2. แบบก้อนเชื้อรา (aspergilloma) เป็นเชื้อราที่รวมตัวกันเป็นก้อนอยู่ภายในปอด มักเกิดในปอดที่มีโพรงของถุงลมอยู่ก่อน ก้อนของเชื้อราจะอยู่ภายในโพรงถุงลม กลิ้งไปมาได้ภายในโพรง ในระยะแรกจะไม่มีอาการ อาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการเอ็กซเรย์ ต่อมาจึงจะมีอาการไอเป็นเลือด และมักออกมาเป็นจำนวนมากจนถึงขั้นเสียชีวิต
  3. แบบทำลายปอดเรื้อรัง (chronic necrotizing pulmonary aspergillosis, CNPA) มักพบในผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง (COPD) ที่ต้องพึ่งยาสเตอรอยด์ ผู้ป่วยที่ติดสุรา อาการคือมีไข้ ไอ หอบ เจ็บหน้าอก เป็นสัปดาห์ถึงเดือน เสมหะมีเลือดปนหนอง น้ำหนักลด เอ็กซเรย์พบมีปอดอักเสบหรือเป็นฝีในปอด แต่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยทั่วไป
  4. แบบลุกลาม (invasive aspergillosis) มักพบในผู้ป่วยที่มีระดับเม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำ เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะและต้องรับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยที่เป็นลูคีเมีย มะเร็งของต่อมน้ำเหลือง เชื้อแอสเปอร์จิลลัสจะลุกลามจากปอดเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้มีไข้สูง หนาวสั่น ไอเป็นเลือด หายใจเร็ว หอบ เขียว และเกิดการติดเชื้อของอวัยวะต่าง ๆ ได้ทั่วรางกาย ในรายที่เริ่มเป็นที่ไซนัส เมื่อเชื้อลุกลามจะมีการทำลายกระดูกบริเวณใบหน้า ทำให้เจ็บปวด มีเลือดออกจากจมูก

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคแอสเปอร์จิลโลสิสแบบแพ้เชื้อราในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดหรือซิสติคไฟโบรสิสอยู่ก่อน ต้องมีเกณฑ์ครบทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

  1. มีอาการแย่ลง เช่น ไอเสมหะมาก หายใจมีเสียงวี้ด ออกกำลังได้น้อยลง หรือตรวจการทำงานของปอดได้ค่าที่ลดลง
  2. ระดับ IgE สูงกว่า 1000 IU/mL หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากระดับพื้นฐาน
  3. ซีโรโลยีต่อเชื้อแอสเปอร์จิลลัสให้ผลบวก
  4. มีรอยโรคเกิดใหม่ที่ปอดจากภาพรังสีทรวงอก

การวินิจฉัยโรคแอสเปอร์จิลโลสิสแบบอื่น ๆ ต้องเพาะเชื้อขึ้นจากเสมหะ น้ำจากหลอดลม เลือด หรือจากชิ้นเนื้อตัวอย่างที่ตัดมา

การรักษา

ยารักษาโรคแอสเปอร์จิลโลสิสที่ได้ผลดีคือ Voriconazole, Posaconazole, Amphothericin B, Itraconazole, และ Caspofungin ในช่วงแรกที่ผลการตรวจยังไม่ยืนยันกลับมาทั้งหมดควรให้ยา Amphothericin B ไปก่อน เพราะเป็นยาครอบจักรวาลของโรคติดเชื้อราแทบบทุกชนิด แต่ยา Voriconazole ใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อ Zygomycetes ที่ทำให้เกิดโรค Mucormycosis ที่มีอาการคล้ายกันแบบไซนัสอักเสบ

โรคแอสเปอร์จิลโลสิสแบบก้อนเชื้อราที่ยังไม่แสดงอาการอะไรอาจยังไม่ต้องรักษา เพราะยารับประทานหรือฉีดโดยทั่วไปได้ผลเพียง 60% แต่เมื่อเริ่มมีอาการไอเป็นเลือดแล้วควรรักษาทันที เพราะบางครั้งเลือดออกมากจนหายใจไม่ทันและอาจเสียชีวิต การรักษามีทั้งการผ่าตัดและการใช้ยาฆ่าเชื้อราหยดเข้าไปในก้อนโดยตรง ขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของก้อน

โรคแอสเปอร์จิลโลสิสแบบแพ้เชื้อราเป็นอาการที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ การรักษาต้องใช้ยา Corticosteroids ชนิดรับประทาน (ชนิดสูดดมที่ใช้กันเป็นประจำในภาวะหลอดลมตีบไม่ได้ผล) และอาจให้ยา Itraconazole ร่วมด้วยก็ได้ นอกจากนั้นควรใส่ผ้าปิดจมูกกันฝุ่นละอองเมื่อเข้าไปในแหล่งกักตุนของเชื้อ เช่น ฟาร์มไก่ กรงนก และในห้องปรับอากาศ