โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute bronchitis)

โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันเป็นภาวะที่มีการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนล่าง ก่อนที่จะถึงเนื้อปอด สาเหตุได้แก่

  • การติดเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นได้ทั้งไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ฯลฯ
  • การสูดดมสารเคมี ควันไฟ ละอองฝอยของโลหะหนัก
  • การมีสิ่งแปลกปลอมหล่นเข้าไปในหลอดลม
  • การแพ้อาหารหรือยาบางชนิด
  • และเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ

อาการของโรคจะคล้ายกันไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด แต่ถ้าเกิดจากการติดเชื้อที่มียารักษาเฉพาะ การให้ยากำจัดเชื้อก็จะเป็นการระงับเหตุที่ถูกต้องและช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น อาการที่แสดงว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากการติดเชื้อคืออาการไข้

ส่วนใหญ่โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันมักเกิดตามหลังการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด คออักเสบ สัญญาณที่แสดงว่าเริ่มมีหลอดลมอักเสบแล้วคือ อาการไอมาก มีเสมหะ เหนื่อยง่าย หายใจเร็ว จมูกบานขณะหายใจ บางรายมีเสียงดังขณะหายใจคล้ายโรคหอบหืด เชื้อที่เป็นสาเหตุมักเป็นในกลุ่มของแบคทีเรีย ยกเว้นในเด็กที่ส่วนใหญ่มักเป็นภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อไวรัส

ในกรณีที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือการลุกลามลงไปกลายเป็นปอดบวม และในเด็กเล็ก ๆ อาจเกิดภาวะการขาดออกซิเจนจากการบวมของเซลล์ผนังหลอดลมจนอุดทางเดินหายใจ

การวินิจฉัยโรค

โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันวินิจฉัยจากอาการทางคลีนิกและภาพรังสีทรวงอกที่ไม่มีลักษณะของหลอดลมพอง (bronchiectasis) ภาวะน้ำคั่งในปอด (pulmonary congestion) และยังไม่มีปอดอักเสบ แต่ต้องแยกจากโรคหอบหืดซึ่งมักมีประวัติเป็นซ้ำ ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศผิดปกติ

เมื่อวินิจฉัยได้แล้วควรมองหาสาเหตุให้รอบด้านก่อนที่จะสรุปว่าเป็นการติดเชื้อ การตรวจเสมหะและการตรวจเลือดจะช่วยชี้นำได้ว่าเป็นจากการติดเชื้อหรือไม่

การรักษา

การรักษาโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันมุ่งเน้นที่การให้ออกซิเจน ยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ และยาขยายหลอดลม หากสงสัยว่าสาเหตุจะมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียจึงค่อยใช้ยาปฏิชีวนะ ที่สำคัญผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด เสมหะ และเอ็กซเรย์ปอด เพื่อให้แน่ใจว่ายังไม่ลุกลามจนกลายเป็นปอดบวม และมีหลักฐานชี้นำเพิ่มเติมว่าควรใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยหรือไม่