โรคอีสุกอีใส (Chickenpox, Varicella)

อีสุกอีใส หรือ โรคสุกใส เกิดจากเชื้อไวรัส Varicella-zoster ในกลุ่มของ Herpesvirus เชื้อทำให้เกิดตุ่มน้ำกระจายตามผิวหนัง ถ้าเป็นครั้งแรกจะเป็นลักษณะของอีสุกอีใส มักพบในเด็ก ถ้าเป็นครั้งต่อไปจะเป็นลักษณะของงูสวัด มักเป็นในผู้ใหญ่

โรคอีสุกอีใสติดต่อกันง่าย เพียงการหายใจหรือสัมผัสกับน้ำจากตุ่มที่แตกก็เป็นโรคได้แล้ว บางคนอาจติดโรคจากคนที่เป็นงูสวัด อาการของอีสุกอีใสในผู้ใหญ่มักรุนแรงกว่าในเด็ก และมีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อย เชื้อไวรัสนี้ผ่านรกได้ จึงทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสในเด็กแรกเกิดได้ แต่โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง

อาการของโรค

โรคอีสุกอีใสมีระยะฟักตัวประมาณ 10-21 วัน เริ่มต้นจะมีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ หลังจากนั้นอีก 1-2 วันถึงจะมีตุ่มน้ำออกตามตัว ในเด็กอาการนำนี้จะน้อยกว่า อาจไม่รู้สึกว่ามีไข้ อ่อนเพลียแต่อย่างใด

ตุ่มที่เกิดขึ้นระยะแรกจะเป็นสีชมพู แล้วกลายเป็นตุ่มพองน้ำใสอย่างรวดเร็วใน 6-8 ชั่วโมง ระยะที่เป็นตุ่มน้ำเต็มตึงผนังจะบาง แตกง่าย จากนั้นอีก 1-2 วันน้ำข้างในจะมีสีขุ่นขึ้น ตุ่มจะค่อย ๆ แห้ง แข็ง และตกสะเก็ด ตุ่มที่ผิวหนังนี้จะทยอยกันขึ้นในเวลา 3-4 วัน มักเป็นทั้งตัว บางรายขึ้นในจมูกและปากด้วย

โดยทั่วไปโรคจะเป็นอยู่ประมาณ 7 วัน แผลที่ตกสะเก็ดของอีสุกอีใสจะหายสนิทในเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ไม่เกิดเป็นแผลเป็น

ในรายที่มีตุ่มออกมาก อาการจะรุนแรง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ ที่พบบ่อยคือการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำจากการเกา บางรายอาจมีเชื้อแบคทีเรียเข้ากระแสเลือด

ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่พบบ่อยในโรคอีสุกอีใส ได้แก่ ภาวะเลือดออกในตุ่มน้ำ (hemorrhagic chickenpox) เกิดจากภาวะเกร็ดเลือดต่ำชั่วคราว, ภาวะปอดอักเสบ (Varicella pneumonia) มักพบในรายที่เป็นแต่กำเนิดและในผู้ใหญ่ อาการจะเกิดในวันที่ 2-3 ของโรค ผู้ป่วยจะไอ เจ็บหน้าอก เสมหะมีเลือดปน หอบ และเขียว ภาพรังสีของปอดจะเห็นเงาทึบเป็นก้อน ๆ ทั่วทั้งสองข้างของปอด ต้องรักษาแบบประคับประคองให้ดี อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นพร้อม ๆ กับตุ่มที่แห้งหลุดไป, กลุ่มอาการรายส์ (Reye's syndrome) มักพบในเด็กที่ทานยาลดไข้ประเภทแอสไพริน ผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียน สับสน ซึมลงอย่างรวดเร็ว ตาเหลือง ชัก หายใจหอบลึก และเสียชีวิต

ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอื่น ๆ มักพบในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันมาก่อน ได้แก่ ภาวะสมองอักเสบ กระจกตาอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ไตอักเสบ และภาวะที่เชื้อไวรัสอีสุกอีใสกระจายไปทั่วร่าง (Disseminated varicella)

ผู้ที่เคยเป็นอีสุกอีใสแล้วจะมีภูมิคุ้มกันโรคตลอดไป ไม่เกิดเป็นอีสุกอีใสอีก แต่เชื้อจะยังคงแฝงตัวอยู่ในระบบประสาท เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแออาการจะกำเริบเป็นโรคงูสวัด

การวินิจฉัย

โรคอีสุกอีใสวินิจฉัยได้ง่ายจากอาการทางคลีนิก แต่ในรายที่มีตุ่มออกน้อยและไม่มีไข้ ต้องแยกจากโรค pemphigus โดยวิธีย้อมดูเซลล์ (Tzanck smear) จากพื้นของตุ่มน้ำที่เพิ่งแตก ถ้าเป็นโรคอีสุกอีใสจะพบเซลล์ตัวใหญ่ที่มีนิวเคลียสหลายอัน (multinucleated giant cells)

นอกจากนั้นยังอาจตรวจหาแอนติเจนของเชื้อจากน้ำในตุ่ม หรือตรวจเลือดหาการเพิ่มขึ้นของแอนติบอดีในระยะพักฟื้นเทียบกับในระยะแรก

การรักษา

ผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ให้รักษาตามการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้คัน โรคจะหายได้เองใน 7 วัน ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม ต้องให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมและเพียงพอ ในรายที่มีภาวะเกร็ดเลือดต่ำ การใช้สเตียรอยด์ในระยะสั้น ๆ จะช่วยให้เกร็ดเลือดกลับเป็นปกติได้เร็วขึ้น ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ให้การรักษาแบบประคับประคอง

ผู้ป่วยอีสุกอีใสที่มีตุ่มออกมากหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อน อาจรับประทานยาต้านไวรัสเฉพาะกลุ่มของ Herpes ซึ่งปัจจุบันมีหลายตัว เช่น acyclovir, valacyclovir, famciclovir เพื่อช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของโรค และควรเริ่มยาตั้งแต่วันแรกที่วินิจฉัยได้

การป้องกัน

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสจำหน่าย แต่ยังไม่มีการกำหนดให้ฉีดกับเด็กทุกรายในประเทศไทย เพราะอาการของโรคในเด็กไม่รุนแรง ผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใสอาจเลือกรับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม เพื่อป้องกันโรคที่อาจเป็นมาก หรือมีสะเก็ดอยู่นานจนอาจต้องพักงานเป็นเวลานาน