โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นโรคที่เกิดได้บ่อยมากในเพศหญิง เพราะท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นและอยู่ใกล้ทางเปิดของช่องคลอดและทวารหนัก การอักเสบของท่อปัสสาวะเพียงไม่นานก็สามารถขึ้นไปถึงกระเพาะปัสสาวะได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในเพศหญิงคือ การฟกช้ำจากการร่วมเพศ การกลั้นปัสสาวะนาน ๆ และภาวะตั้งครรภ์ ขณะที่ในเพศชายพบโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้น้อยมาก เว้นแต่จะมีความผิดปกติทางโครงสร้างของทางเดินปัสสาวะ หรือมีภาวะต่อมลูกหมากโต

สาเหตุของการอักเสบก็คล้ายกับโรคท่อปัสสาวะอักเสบ คือส่วนใหญ่เป็นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย รองลงมาคือการบาดเจ็บจากการมีเพศสัมพันธ์ การมีสายสวนปัสสาวะคาไว้นาน ๆ การได้รับรังสีรักษามะเร็งบริเวณท้องน้อย การได้รับยาเคมีบำบัดบางชนิดที่ทำความระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะ และการมีนิ่วอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ แม้โดยธรรมชาติของโรคนี้จะไม่ร้ายแรง แต่ก็สร้างความไม่สะดวกสบายแก่ผู้ที่เป็นโรค และบางครั้งอาจกลายเป็นโรคเรื้อรังหากไม่สามารถกำจัดปัจจัยเสี่ยงให้หมดไปได้

อาการของโรค

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบส่วนใหญ่จะแสดงอาการ ไม่ว่าในเพศชายหรือเพศหญิง อาการคือมีปัสสาวะกะปริบกะปรอย (ออกทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง) กลั้นปัสสาวะไม่ได้ รู้สึกปวดขัด หรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ มีอาการปวดถ่วงที่ท้องน้อยร่วม ด้วย ปัสสาวะอาจมีกลิ่นเหม็น สีขุ่น หรือมีเลือดปน ในเด็กเล็กอาจมีไข้ เบื่ออาหาร และอาเจียน

ภาวะแทรกซ้อนได้แก่การลุกลามขึ้นไปถึงกรวยไต ทำให้มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดบริเวณบั้นเอว คลื่นไส้อาเจียน ในเพศชายเชื้ออาจลุกลามเข้าไปทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบได้

การวินิจฉัยโรค

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบวินิจฉัยจากอาการและการตรวจปัสสาวะ ในเพศชายที่อายุยังน้อย หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบโดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่น ควรเข้ารับการตรวจเอ็กซเรย์ดูโครงสร้างของไตและทางเดินปัสสาวะทั้งหมด

เช่นเดียวกับโรคท่อปัสสาวะอักเสบ การหาเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบต้องอาศัยการเพาะเชื้อจากปัสสาวะ แต่ในทางปฏิบัติแพทย์อาจไม่ค่อยได้ส่งตรวจ โดยเฉพาะในรายที่ติดเชื้อมาจากนอกโรงพยาบาล เพราะเชื้อแบคทีเรียนอกโรงพยาบาลมักไม่ค่อยดื้อยา การเพาะเชื้อมีค่าใช้จ่ายและต้องรอผล 3 วัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักต้องการให้อาการทุเลาลงโดยเร็ว แพทย์จึงให้การวินิจฉัยและรักษาจากประวัติและผลการตรวจปัสสาวะขั้นต้นเท่านั้น

การรักษา

ในผู้ที่เพิ่งเริ่มมีอาการเพียง 1-2 ชั่วโมง การดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อให้มีน้ำปัสสาวะออกมากขึ้นและบ่อยขึ้นก็สามารถทำให้อาการหายไปได้โดยไม่ต้องใช้ยา การดื่มน้ำชาหรือกาแฟ 1 แก้วเพื่อเร่งการขับปัสสาวะก็ช่วยได้ และควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการจะหาย หากมีอาการเกิน 24 ชั่วโมงแล้วควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายและตรวจปัสสาวะ กรณีดังกล่าวมักจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะช่วย ซึ่งควรให้แพทย์เป็นผู้สั่ง ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง

ในรายที่เกิดอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบระหว่างที่นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล หรือในขณะที่มีสายสวนปัสสาวะคาอยู่ ต้องได้รับการเพาะเชื้อในปัสสาวะเพื่อตรวจสอบความเหมาะสมของยาที่ให้ เพราะบางครั้งเชื้อดื้อต่อยาที่ใช้ประจำ

สำหรับผู้ที่มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันให้นานกว่าปกติ และควรพบแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะเพื่อตรวจโครงสร้างภายในทั้งหมด อีกทั้งควรแจ้งให้แพทย์ทุกท่านทราบประวัตินี้ทุกครั้งที่ไปรักษาอาการเจ็บป่วย เพื่อแพทย์จะได้เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจกระตุ้นให้โรคนี้กลับเป็นซ้ำขึ้นมาอีก

การป้องกัน

แนวทางการป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบอย่างง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

  1. ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนออกไปทำธุระข้างนอกและก่อนนอนทุกครั้ง
  2. อย่ากลั้นปัสสาวะถ้าไม่จำเป็น เพราะการกลั้นปัสสาวะทำให้เชื้อโรคอยู่ในกระเพาะปัสสาวะขยายพันธุ์ได้ในอุณหภูมิที่พอเหมาะ (37°C)
  3. หลังถ่ายอุจจาระ ควรใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากข้างหน้าไปข้างหลัง เพื่อป้องกันมิให้เชื้อโรคจากบริเวณทวาร หนักเข้าสู่ท่อปัสสาวะ
  4. สำหรับอาการขัดเบาหลังร่วมเพศอาจป้องกันได้โดยดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนร่วมเพศ และถ่ายปัสสาวะทันทีหลังเสร็จภาระกิจ