ไข้เลือดออก (Acute hemorrhagic fever)

เชื้อที่เป็นสาเหตุของไข้เลือดออกในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ Dengue virus และ Chikungunya virus ทั้งสองชนิดมียุงลายเป็นพาหะ ยุงชนิดนี้จะขยายพันธุ์ในน้ำสะอาดที่ขังนิ่งในภาชนะ ออกกัดคนในเวลากลางวัน จำนวนยุงจะมีมากที่สุดในต้นฤดูฝน คือประมาณเดือนพฤษภาคม และทำให้เกิดโรคในอีกสองเดือนถัดมา โรคไข้เลือดออกนี้ยังไม่มียาฆ่าไวรัสโดยเฉพาะ และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค มีทางเดียวคือป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด

ผู้ป่วยไข้เลือดออกที่มีอาการหนักจนเลือดออก ช็อก และอาจเสียชีวิต มักเกิดจากเชื้อ Dengue ที่เป็นการติดเชื้อครั้งที่สอง เชื้อนี้มี 4 สายพันธุ์ คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3, DEN-4 เมื่อเป็นไข้เลือดออกครั้งหนึ่ง ๆ จะมีภูมิต้านทานเฉพาะสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต แต่มีโอกาสติดโรคได้อีกจากสายพันธุ์อื่นที่เหลือ ซึ่งการติดเชื้อครั้งที่สองนี้อาการมักจะรุนแรงกว่าครั้งแรกมาก

อาการของโรค

เมื่อยุงกัดคนที่กำลังเป็นไข้เลือดออก เชื้อไวรัสจะเข้าไปในตัวยุง และจะใช้เวลาประมาณ 10 วันในการเดินทางไปพักที่ต่อมน้ำลายของยุง ถึงตอนนี้ยุงจะกลายเป็นพาหะ สามารถแพร่โรคได้ตลอดอายุขัย 1 เดือนของมันถ้าไปกัดคนใหม่

ในคน อาการจะเริ่มเกิดหลังถูกยุงที่มีเชื้อกัดประมาณ 4-10 วัน อาการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ

  1. ระยะไข้: ไข้จะขึ้นอย่างปุบปับ มักสูงลอยประมาณ 38.5-40 องศา ทานยาลดไข้หรือเช็ดตัวอย่างไรก็ไม่ลด ระยะนี้จะมีหน้าแดง ตัวแดง ปวดศีรษะ ปวดเนื้อตัวมาก คลื่นไส้อาเจียน จุกแน่นลิ้นปี่ บางรายจะมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามแขนขาเริ่มเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 2 ของไข้ ถ้าเอาเชือกรัดทิ้งไว้ประมาณ 1 นาทีจะเห็นจุดชัดขึ้น ระยะไข้นี้จะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ถ้าเชื้อเป็น Chikungunya virus จะมีระยะไข้สั้นกว่า ประมาณ 3-5 วัน
  2. ระยะท็อกสิก: ระยะนี้ไข้จะลงอย่างรวดเร็ว จุดเลือดออกที่หน้าแข้งจะเริ่มชัดขึ้น เจาะเลือดจะพบเกล็ดเลือดลดต่ำลง ส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะเลือดออกเกิดขึ้น ผู้ป่วยจะเข้าสู่ระยะฟื้นอย่างรวดเร็ว
  3. ในรายที่เป็นการติดเชื้อไข้เลือดออกครั้งที่สอง โดยเฉพาะเมื่อห่างจากครั้งแรกนาน 6 เดือน - 5 ปี อาจเกิดภาวะช็อคขึ้น ผู้ป่วยจะกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบา ความดันโลหิตต่ำ เห็นจุดเลือดออกที่แขนขาชัด อาจมีเลือดออกในทางเดินอาหาร โดยจะถ่ายอุจจาระเหลวเละสีดำเหมือนยางมะตอยหรืออาเจียนเป็นเลือด เจาะเลือดจะพบเกล็ดเลือดลดลงมาก ภาวะช็อคนี้จะอยู่นาน 24-48 ชั่วโมง

    หากเชื้อเป็น Chikungunya virus จะไม่ค่อยพบภาวะช็อค

  4. ระยะฟื้น: ระยะนี้ผู้ป่วยจะสบายขึ้นอย่างรวดเร็ว ทานอาหารได้ อาจมีเพียงอาการคันตามจุดเลือดออกที่ผิวหนังเล็กน้อย ระดับเกล็ดเลือดจะค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติ

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกที่แน่ชัดคือการตรวจทางไวรัสวิทยา ที่รวดเร็วคือการส่ง Dengue PCR แต่เนื่องจากมีราคาแพง โดยทั่วไปใช้จะอาการแสดงทางคลีนิกร่วมกับผลการตรวจนับเม็ดเลือด ส่วนการตรวจทางซีโรโลยี่สามารถบอกได้ว่าเป็นการติดครั้งแรกหรือครั้งที่สอง แต่ต้องเจาะเลือดสองครั้งเทียบกัน ตอนเริ่มป่วยและตอนออกจากโรงพยาบาล จึงไม่ช่วยในการรักษาโรค

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกได้ เมื่อเริ่มติดเชื้อและป่วยแล้ว การรักษาคือการเฝ้าระวังภาวะช็อคและเลือดออกรุนแรง ซึ่งถ้าเกิดก็จะเกิดในช่วงที่ไข้ลง ในช่วงที่ไข้สูงลอย 4-7 วันนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการให้น้ำเกลือ เช็ดตัว ให้ยาลดไข้ ยาแก้อาเจียน และเจาะเลือดเพื่อติดตามภาวะความเข้มข้นและระดับของเกล็ดเลือด

ในช่วงที่ไข้ลดและอาการดีขึ้น ยังไม่ควรจะขอแพทย์กลับบ้านทันที เพราะยังต้องเจาะเลือดดูระดับการเพิ่มขึ้นของเกล็ดเลือดให้ขึ้นมาถึงระดับที่พ้นถี่อันตรายก่อน

ในรายที่มีเลือดออก หรือเกล็ดเลือดลดต่ำมากจนอาจเกิดอันตราย จำเป็นต้องได้รับการเติมเลือดหรือเกล็ดเลือด ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดของไข้เลือดออก ผลิตภัณฑ์ของเลือดจะขาดแคลนเป็นอย่างมาก ญาติของผู้ป่วยจึงควรที่จะช่วยกันบริจาคถ้าทำได้ เพราะผู้ป่วย 1 ราย อาจจำเป็นต้องใช้เลือดถึง 10 ถุง

การป้องกัน

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก การป้องกันทำได้โดย

  • ระวังไม่ให้ยุงกัด โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นหน้าฝน
  • กำจัดแหล่งเพาะยุงลายตามบ้านเรือน คว่ำภาชนะไม่ให้มีน้ำขัง ปิดฝาโอ่งน้ำ ใส่ถ่านหรือผิวมะกรูดลงในจานรองกระถาง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายมาวางไข่
  • พ่นดีดีที หรือน้ำยาล้างจานในสัดส่วน น้ำยา:น้ำ = 1:4 เพื่อปราบยุงที่โตแล้ว
  • ใช้ถังดักยุง เปิดฝา วางไว้ในที่มืด แล้วจัดการปิดฝาในตอนเช้าก่อนนำไปตากแดด
  • ผู้ที่เป็นไข้และสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออกก็ไม่ควรให้ยุงกัด เพราะช่วงที่มีไข้จะเป็นระยะที่แพร่เชื้อ