โรคพยาธิไฮดาติด (Echinococcosis, Hydatid disease, Hydatidosis)

โรคนี้ส่วนใหญ่พบในต่างประเทศ ในประเทศไทยพบไม่มากนัก เกิดจากพยาธิตัวตืด Echinococcus มี 3 สายพันธุ์ คือ E. granulosus, E. multilocularis และ E. obligarthrus คนติดโรคโดยการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของอุจจาระของสัตว์ที่มีพยาธิตัวตืดชนิดนี้อยู่ในลำไส้

ตัวแก่ของพยาธิไฮดาติดอาศัยอยู่ในลำไส้ของสัตว์กินเนื้อทั้งหลาย โดยเฉพาะสุนัขและแมว ตัวแก่ปล่อยปล้องออกมากับอุจจาระของสัตว์ จากนั้นปล้องจะแตก และปล่อยไข่เป็นจำนวนมากออกมากระจายตามพื้นดิน เมื่อคนหรือพวกสัตว์กินพืช เช่น แกะ วัว ควาย กินอาหารที่มีไข่พยาธิชนิดนี้ปะปนเข้าไป ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนในลำไส้ แล้วไชทะลุุผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด และถูกพัดไปติดตามอวัยวะต่าง ๆ เจริญเป็นถุงน้ำไฮดาติด (hydatid cyst) ตามอวัยวะต่าง ๆ ต่อไป เมื่อสัตว์กินเนื้อมากินอวัยวะของสัตว์ที่มี cyst อยู่ พยาธิไฮดาติดก็จะเจริญไปเป็น ตัวแก่เพศผู้และเพศเมียในลำไส้ ผสมพันธุ์และปล่อยปล้องที่มีไข่ออกมาในอุจจาระต่อไปจนครบวงจรชีวิตของมัน

อาการของโรค

อาการจะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ถุงน้ำไฮดาติดฝังอยู่ และขนาดของถุงน้ำ ปกติผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังจากติดเชื้อนาน 5-20 ปี หรือเมื่อถุงน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้น ร้อยละ 80-90 จะพบที่ปอดและตับ ถ้าเป็นที่เนื้อปอดจะมีอาการไอ หายใจขัด เจ็บหน้าอก ถ้าซิส แตกอาจมีไอเป็นเลือด หรือมีลมและหนองออกมาในช่องเยื่อหุ้มปอด ผู้ป่วยบางรายจะเกิดภูมิแพ้ต่อสารในถุงซิส ทำให้เกิดลมพิษหรือหอบหืด ถ้าพบที่ตับจะไปกดท่อน้ำดีทำให้ท่อน้ำดีอุดตัน ตับโต ตัวเหลือง ขาบวม

การวินิจฉัย

ถุงน้ำไฮดาติดสามารถเห็นได้จากภาพเอกซเรย์ ถ้าเป็นที่ตับหรือสมองการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะช่วยให้เห็นได้ชัดขึ้น การวินิจฉัยต้องผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อมาตรวจทางพยาธิวิทยา ภายในถุงน้ำจะบรรจุด้วยตัวอ่อนระยะ scolices มากมาย

อาจตรวจหาแอนติบอดี้ด้วยวิธี indirect hemagglutination test และ enzyme-linked immuno-sorbent assay (ELISA) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยกรณีที่เอกซเรย์พบแต่ไม่สามารถเอาชิ้นเนื้อออกมาตรวจได้ การทำ skin test โดยใช้น้ำจากถุงน้ำไฮดาติดในจากคนหรือสัตว์ที่ทำให้ปราศจากจุลชีพก็ช่วยในการวินิจฉัยได้

การรักษา

การรักษาหลักของโรคพยาธิไฮดาติดคือการผ่าตัดเอาถุงน้ำออก แต่ก็ค่อนข้างเสี่ยงในรายที่ก้อนอยู่ลึกหรือมีขนาดใหญ่มาก (เสี่ยงที่จะแตก) หลังผ่าตัดยังต้องให้ยาฆ่าพยาธิต่อ

ยาที่ฆ่าพยาธิไฮดาติดในระยะซิสต์ได้คือ Albendazole และ Mebendazole แต่ได้ผลไม่ค่อยดีนัก จึงต้องให้นานถึง 2 ปี โดยจะให้รับประทานทุกวันนาน 4 สัปดาห์ แล้วเว้นไป 1-2 สัปดาห์ค่อยเริ่มรอบใหม่

วิธีป้องกัน

จะเห็นว่าโรคพยาธิไฮดาติดนี้รักษายาก ดังนั้นการป้องกันจึงดีกว่าการรักษา เราสามารถป้องกันโรคได้ด้วยการล้างผัก ผลไม้ และมือให้สะอาดก่อนการรับประทานทุกครั้ง เก็บกวาดอุจจาระของสัตว์เลี้ยงให้ดี ล้างมือทุกครั้งหลังเล่นกับสัตว์