โรคไกอาร์ดิเอสิส (Giardiasis)

โรคนี้เกิดจากโปรโตซัวที่มีหางชื่อ Giardia lamblia ติดต่อสู่คนโดยคนรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีซิสต์ของมันเข้าไป เมื่อซิสต์ผ่านกระเพาะอาหารเข้าไปในลำไส้เล็กจะกลายเป็นโทรโฟซ้อยท์ เกาะติดกับเซลล์บุผิวของลำไส้เล็ก เมื่อเซลล์บุผิวหลุดลอกออก โทรโฟซ้อยท์ก็จะกลับเป็นซิสต์อีกครั้ง ก่อนที่จะถูกขับออกมากับอุจจาระ

ปกติเชื้อไกอาร์เดียนี้ไม่ค่อยมีอันตรายต่อคน ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดอาการอะไร ถ้าเกิดอาการก็จะเป็นลักษณะท้องเดิน ปวดท้อง แต่ไม่มาก อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลด แล้วจะค่อย ๆ หายไปเอง โรคนี้พบบ่อยในเด็กในชุมชนที่สุขอนามัยไม่ดี วินิจฉัยโรคได้โดยการตรวจพบซิสต์หรือโทรโฟซ้อยในอุจจาระหรือน้ำในดูโอดีนั่ม หรือจากการตัดชิ้นเนื้อจากเจจูนั่มมาตรวจ การรักษาอาจไม่ได้ผลดีหากสุขอนามัยในชุมชนและความสะอาดในการรับประทานอาหารยังไม่ดีพอ

ยารักษาโรคไกอาร์ดิเอสิส

เนื่องจากโรคนี้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายเองได้ ยาที่ใช้รักษากลุ่มแรก ๆ เริ่มมีการดื้อยาแล้ว ยากลุ่มใหม่ ๆ ก็มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก การจะเริ่มให้ยารักษาจึงควรชั่งน้ำหนักระหว่างความรุนแรงของโรค/ปริมาณเชื้อที่ตรวจพบ กับ ผลข้างเคียงของยา ยาที่ยังใช้ได้ผลดีมี 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

  1. กลุ่ม Nitroimidazoles ได้แก่ Metronidazole, Tinidazole, Ornidazole ยากลุ่มนี้เมื่อเข้าไปสะสมในตัวเชื้อแล้วจะสร้างอนุมูลอิสระที่ยับยั้งการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในเซลล์ สามารถฆ่าเชื้อได้ประมาณ 80% แต่ยาอาจทำให้วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ การรับรสผิดไป และมี Disulfiram-like reaction เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยา ขนาดยาที่ใช้คือ
    • Metronidazole รับประทานครั้งละ 250 mg (ในเด็ก 5 mg/kg) วันละ 3 เวลา นาน 5–7 วัน
    • Tinidazole รับประทานครั้งเดียว 2 g (ในเด็ก 50 mg/kg สูงสุด 2 g)
    • Ornidazole รับประทานครั้งเดียว 1.5 g (ในเด็ก 40 mg/kg สูงสุด 2 g)
  2. กลุ่ม Acridine dyes ได้แก่ Quinacrine (Mepacrine) หรือชื่อการค้า Atabrine® ยากลุ่มนี้จะจับแน่นกับ DNA จนเกิดเป็นพังผืด ธาตุสังกะสี (Zinc) ยับยั้งการจับของยากับ DNA ในเยื่อบุผนังลำไส้ของคนมี Zinc ค่อนข้างมาก จึงไม่มีผลกระทบจากยามากนัก แต่อาจมีอาการคลื่นเหียน วิงเวียน และผิวหนังมีสีเหลืองจากยาได้ Quinacrine สามารถฆ่าเชื้อได้ถึง 95% ขนาดยาที่ใช้คือ
    • Atabrine® รับประทานครั้งละ 100 mg (ในเด็ก 2 mg/kg) วันละ 3 เวลา นาน 5–7 วัน
  3. กลุ่ม Thiazolides ได้แก่ Nitazoxanide ยาออกฤทธิ์ยังยั้งเอ็นไซม์ pyruvate-ferredoxin oxidoreductase (PFOR) ของเชื้อปรสิต ใช้รักษาได้ทั้งบิดอะมีบา โรคคริพโตสปอริดิโอสิส (Cryptosporidiosis) โรคไกอาร์ดิเอสิส พยาธิไส้เดือน (Ascariasis) พยาธิตืดแคระ (Hymenolepis nana หรือ Dwarf Tapeworm) แต่ยามีพิษต่อตับและไต ต้องลดขนาดในผู้ป่วยที่มีตับหรือไตผิดปกติ ขนาดยาในคนปกติคือ
    • Nitazoxanide รับประทานครั้งละ 500 mg วันละ 2 เวลา พร้อมอาหาร นาน 3 วัน
      - เด็ก 1-4 ปี รับประทานครั้งละ 100 mg ทุก 12 ชั่วโมง นาน 3 วัน
      - เด็ก 4-11 ปี รับประทานครั้งละ 200 mg วันละ 2 เวลา พร้อมอาหาร นาน 3 วัน

** ยาทุกกลุ่มดังกล่าวข้างต้นไม่ควรใช้ในหญิงมีครรภ์

ส่วนยา Albendazole และ Paramomycin ที่เคยใช้กันมานาน ปัจจุบันได้ผลเพียงร้อยละ 50

ในเมืองไทยแพทย์หรือเภสัชกรบางท่านอาจใช้ยาฟูราโซลิโดน (Furazolidone) 100 มก. วันละ 4 ครั้ง นาน 7-10 วัน แต่ยาตัวนี้ถูกยกเลิกการใช้ในสหรัฐอเมริกาไปแล้วเนื่องจากมีผลข้างเคียงที่รุนแรง