โรคหนองใน (Gonorrhoea)
โรคหนองในเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบชุกชุมในประเทศไทย บางท่านเรียกโรคนี้ว่า "โกโนเรีย" ตามชื่อเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ (Neisseria gonorrhoeae) ส่วนใหญ่เชื้อโกโนเรียจะเจริญภายในอวัยวะสืบพันธุ์ แต่บางครั้งก็พบในช่องปาก ในคอ และในทวารหนัก ลักษณะเด่นของโรคหนองในคือจะมีหนองข้นสีเหลืองเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากตรงอวัยวะที่ติดเชื้อ อาการของโรคในเพศหญิงจะรุนแรงมากกว่าเพศชาย เพราะอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิงอยู่ภายใน อาจลุกลามกลายเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบได้
อาการของโรค
โรคหนองในเป็นโรคที่แสดงอาการแบบเฉียบพลัน เกิดอาการภายใน 2 สัปดาห์หลังจากที่ติดโรค ในผู้ชายจะมีอาการแสบท่อปัสสาวะ แรก ๆ จะมีน้ำใส ๆ ซึมออกจากท่อปัสสาวะ ไม่นานน้ำจะข้นขึ้นจนเป็นหนอง และมีปริมาณมากขึ้น อาจมีสีแดงของเลือดปน บางรายมีอาการปวด บวม ที่ลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งด้วย ในผู้ชายมักไม่ค่อยมีไข้ ยกเว้นเมื่อมีลูกอัณฑะบวมมาก ภาวะแทรกซ้อนในเพศชายคือต่อมลูกหมากอักเสบและภาวะท่อปัสสาวะตีบแคบ (urethral stricture) ซึ่งปัจจุบันพบน้อยลงเมื่อมียารักษาที่ได้ผลดีมากขึ้น
ในผู้หญิงจะมีอาการตกขาวสีเหลืองข้น มีกลิ่นเหม็น อาจมีเลือดปนหรือเป็นลักษณะหยดเลือดเปื้อนกางเกงใน ปวดบริเวณท้องน้อยเหนือหัวเหน่าโดยเฉพาะเวลาร่วมเพศ ปัสสาวะแสบขัด ในช่วงแรกจะมีไข้ต่ำ ๆ ด้วย อาการจะคล้ายกับโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบมาก วัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรหากให้ประวัติและอาการแก่แพทย์ไม่ครบอาจทำให้แพทย์วินิจฉัยผิดเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และให้ยารักษาที่อาจไม่ครอบคลุมเชื้อโกโนเรีย ทำให้เชื้อลุกลามขึ้นไปถึงมดลูกและรังไข่ เกิดเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ ซึ่งเสี่ยงต่อการมีบุตรยากในภายหลัง
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แบบวิตถารก็อาจติดเชื้อในช่องปาก ทำให้มีอาการเจ็บคอมาก ทอนซิลบวมโต หรือในช่องทวารหนัก ทำให้รูก้นบวมแดง เกิดเป็นฝีขึ้นได้
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหนองในแบบแพร่กระจาย (Disseminated gonococcal infection, DGI) ทั้งเพศชายและหญิงจะมีอาการไข้สูง ชีพจรเร็ว เหงื่อออก เชื้อมักจะกระจายไปติดที่ข้อ โดยเฉพาะที่ข้อเข่า ทำให้ข้ออักเสบ ปวด และบวม นอกเหนือไปจากอาการทางระบบสืบพันธุ์ดังกล่าวข้างต้น
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อบางคนอาจไม่แสดงอาการอะไรเลย ผู้ป่วยเหล่านี้จะเป็นแหล่งเก็บกักโรคและแพร่เชื้อให้ผู้อื่นต่อไป ทารกที่คลอดผ่านช่องคลอดของหญิงที่มีเชื้อโกโนเรียอยู่อาจติดเชื้อที่เยื่อบุตา และอาจเกิดแผลที่กระจกตา หรือกระจกตาฉีกขาดได้
การวินิจฉัยโรค
โรคหนองในวินิจฉัยได้ไม่ยากหากผู้ป่วยให้ประวัติชัดเจน แพทย์จะทำการย้อมเชื้อจากท่อปัสสาวะในผู้ชาย หรือช่องคลอดในผู้หญิง ร่วมกับการตรวจปัสสาวะ เชื้อโกโนเรียเป็นแบคทีเรียกรัมลบ (ย้อมติดสีแดง) ขนาดเล็ก ทรงกลม มีด้านหนึ่งเว้าคล้ายเมล็ดกาแฟ มักอยู่กันเป็นคู่ ๆ ภายในเซลล์เม็ดเลือดขาว การเพาะเชื้อจากหนองจะระบุเชื้อได้แน่ชัดขึ้น การตรวจซีโรโลยี่ประเภท DNA, PCR, และ LCR ก็สามารถให้การวินิจฉัยเชื้อได้
การรักษา
โรคหนองในที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนสามารถรักษาด้วยยาฉีดและยารับประทานเป็นคนไข้นอกได้ ยาที่ได้ผลดีคือ Ceftriaxone 250 mg ฉีดเข้ากล้าม 1 เข็ม บวกกับ Azithromycin 1 g รับประทานครั้งเดียว หรือ Doxycycline 100 mg รับประทานวันละสองครั้งเป็นเวลา 7 วัน ในรายที่อาการหนักควรรักษาในโรงพยาบาลเพื่อติดตามภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
การป้องกัน
โรคหนองในเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การป้องกันที่ดีที่สุดคือการงดการร่วมเพศ ใช้ถุงยางอนามัยเสมอเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน และไม่มีเพศสัมพันธ์แบบวิตถาร
เด็กแรกคลอดในโรงพยาบาลจะได้รับการหยอดตาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อโกโนเรียและเชื้อคลาไมเดียขณะผ่านช่องคลอดของมารดาทุกราย