โรคมือเท้าปาก (Hand-foot-and-mouth disease)

โรคมือเท้าปากเกิดจากเชื้อในกลุ่มของ Enterovirus เช่น coxsackie virus A16, enterovirus 71 ติดต่อกันง่ายโดยการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย นํ้าจากในตุ่มใส และอุจจาระของผู้ป่วยซึ่งมีเชื้อไวรัสอยู่ เชื้อ Enterovirus สามารถทนสภาวะกรดในทางเดินอาหารมนุษย์ได้ และมีชีวิตอยู่ในอุณหภูมิห้องได้ 2-3 วัน

โรคมือเท้าปากมักพบในเด็ก โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายได้เองใน 7-10 วัน

อาการของโรค

โรคมือเท้าปากมีระยะฟักตัวประมาณ 3-7 วัน เริ่มต้นจะมีไข้ต่ำ ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อย ประมาณ 1-2 วันจะเริ่มเจ็บปาก เจ็บคอ ตาแดง มีตุ่มน้ำเล็ก ๆ ที่เพดานปาก แล้วแตกเป็นแผลแดง เด็กที่เจ็บคอมากจะไม่ทานอาหาร บางรายอาจมีอาการท้องเสียและอาเจียนด้วย จากนั้นอีก 1-2 วันจึงจะมีตุ่มน้ำใสขึ้นที่มือ เท้า ก้น เวลากดจะเจ็บ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแตกเป็นแผล แต่จะค่อย ๆ ตกสะเก็ดและหายไปเองใน 1 สัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อนพบได้น้อย ที่เกิดขึ้นก็มี สมองอักเสบ ปอดอักเสบ และกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

หลังรอยโรคหายไปยังพบเชื้อในอุจจาระของผู้ป่วยต่อได้อีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ นั่นคือยังสามารถแพร่เชื้อต่อไปได้อีกในระหว่างนั้น

การวินิจฉัย

โรคมือเท้าปากวินิจฉัยได้ง่ายจากอาการทางคลีนิก กรณีที่ต้องการทราบชนิดของเชื้อไวรัสที่ก่อโรค สามารถส่ง throat swab อุจจาระ หรือน้ำไขสันหลัง เพื่อเพาะเชื้อ ทำ PCR และตรวจทางซีโรโลยี่

การรักษา

โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่สามารถหายได้เอง โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 7 วัน การรักษาจึงเป็นเพียงการประคับประคองและบรรเทาอาการ โดยเฉพาะการลดไข้ และลดอาการเจ็บปวดจากแผลในปาก อาจใช้ยาชาป้ายบริเวณที่เป็นแผลก่อนรับประทานอาหาร ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนให้รักษาตามอาการ

การป้องกัน

การป้องกันที่สำคัญที่สุดคือการแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคมือเท้าปากออกจากกลุ่มเพื่อนในโรงเรียน ไม่ให้ร่วมกิจกรรมกับเด็กอื่น เช่น ว่ายนํ้า ใช้สนามเด็กเล่น เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ผู้ดูแลเด็กก็ควรหมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือสัมผัสกับน้ำมูก นํ้าลายของเด็กที่เป็นโรค ควรทําความสะอาดพื้น ห้องน้ำ เครื่องใช้ ของเล่น ตลอดจนเสื้อผ้าที่อาจปนเปื้อนเชื้อในระหว่างที่เด็กยังมีแผลและหลังจากนั้นอีก 2-3 สัปดาห์