โรคเริม (Herpes simplex)

โรคเริมเกิดจากเชื้อไวรัส Herpes simplex ชนิดแรก (HSV-1) ทำให้เกิดโรคที่ปาก ชนิดที่สอง (HSV-2) ทำให้เกิดโรคที่อวัยวะเพศ แต่ทั้งสองชนิดสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำได้

โรคเริมนี้ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงกับแผลของผู้ที่เป็นโรค เช่น จากการใช้ของร่วมกัน การจูบ การเพศสัมพันธ์ และติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ขณะคลอด ถ้าขณะคลอดมารดาติดเชื้อนี้ที่อวัยวะเพศ

ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการอะไร จนเมื่อร่างกายอ่อนแอลงจึงเริ่มแสดงอาการ บางรายก็มีแผลเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ไม่หายขาด

อาการของโรค

โรคเริมที่ปากเริ่มแรกจะรู้สึกคันหรือเจ็บยิบ ๆ บริเวณที่จะเกิดแผล มักเป็นที่ริมฝีปาก จากนั้น 1-2 วันจะเกิดเป็นตุ่มน้ำใส เจ็บ ๆ แสบ ๆ ขึ้น ไม่นานก็จะแตกเป็นแผลตื้น ๆ แล้วค่อย ๆ ตกสะเก็ด อาการเจ็บจะยังคงมีอยู่จนกว่าสะเก็ดจะหายไป รวมระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 1 สัปดาห์ เราไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสเริมได้เด็ดขาด เพราะเชื้อมักจะพักตัวอยู่ในเส้นประสาท และก่อให้เกิดตุ่มใสขึ้นอีกได้เสมอๆ ซึ่งขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น ภูมิคุ้มกันลดลง ความเครียดทางกายหรือจิตใจ ช่วงมีรอบเดือน เป็นต้น

สำหรับโรคเริมที่อวัยวะเพศมักจะเป็นรุนแรงในช่วงของการติดเชื้อครั้งแรก โดยเริ่มมีอาการตั้งแต่ 2-10 วันหลังได้รับเชื้อ เริ่มแรกจะมีไข้ ปวดเนื้อตัวก่อน เวลาผ่านไปอีกประมาณ 10 วันจึงจะปรากฏมีตุ่มน้ำใส ๆ เกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ ปวดแสบปวดร้อนมาก ในเพศชายมักเป็นที่อวัยวะเพศภายนอก ในเพศหญิงมักเป็นภายในช่องคลอด ตุ่มน้ำจะแตกเป็นแผลในเวลาประมาณ 3-5 วัน แล้วจะยังคงเป็นแผลเจ็บอีกนาน 1-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นไวรัสจะอยู่ในสภาวะพักตัวในร่างกายต่อไปอีก และอาจทำให้เกิดแผลซ้ำใหม่เป็น ๆ หาย ๆ มากน้อยแล้วแต่บุคคล

การวินิจฉัย

ถ้าเป็นเริมที่ริมฝีปากจะวินิจฉัยได้ง่าย เพราะไม่มีโรคอื่นเหมือน ถ้าเป็นที่อวัยวะเพศ ต้องแยกจากแผลจากกามโรคอื่น ๆ โดยการทำ Tzanck test หา multinucleated giant cells หรือโดยการป้ายน้ำจากตุ่มหรือแผลมาตรวจโดยวิธี ELISA หรือ PCR เพื่อหาหลักฐานการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้

การรักษา

โรคเริมมักไม่หายขาดแม้จะได้รับยาต้าน Herpes virus รับประทาน ถ้าเป็นที่ปาก ถ้านอนหลับพักผ่อนเพียงพอ อาจหายเองได้ใน 3-5 วัน ถ้าเป็นที่อวัยวะเพศ ควรใช้ยาต้านไวรัส ยาแก้ปวด และงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างที่ยังมีแผลอยู่

สตรีที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นจึงควรตรวจ PAP SMEAR เป็นประจำ

การป้องกัน

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเริม ผู้ที่เป็นโรคเริมต้องระวังอย่าจับบริเวณที่เป็นแผล และต้องล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปติดผู้อื่น

สตรีตั้งครรภ์ควรใส่ใจกับอาการของโรคเริมเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงใกล้คลอด ถ้าสงสัยว่าจะเป็นโรคเริมควรรีบปรึกษาแพทย์