โรคฮีสโตพลาสโมสิส (Histoplasmosis)
โรคฮีสโตพลาสโมสิสเกิดจากเชื้อราฮีสโตพลาสมา (Histoplasma) เป็นเชื้อราที่มี 2 รูปลักษณ์ ในดินและสภาพแวดล้อมจะอยู่ในรูปเส้นใย (แตกแขนงเป็นกิ่งก้าน, mycelium) แต่ในร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะอยู่ในรูปยีสต์ (ทรงกลม) มีแคปซูลล้อมรอบ คนติดเชื้อโดยการสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป เมื่อเข้าไปอยู่ในร่างกายคนเชื้อจะเจริญอยู่ในเซลล์ฮีสติโอไซต์ (histiocyte) ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะไม่ปรากฏอาการ แต่ในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ที่ได้รับเชื้อเข้าไปสะสมเป็นเวลานาน ๆ เช่น ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับไก่ นก และค้างคาว จะเกิดโรคฮีสโตพลาสโมสิสตามอวัยวะต่าง ๆ
อาการของโรค
โรคฮีสโตพลาสโมสิสแสดงอาการได้หลายระบบและหลายรูปแบบ ดังนี้
- ปอดอักเสบ (Pulmonary histoplasmosis) เกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง
1.1 แบบเฉียบพลัน 90% ของผู้ที่ได้รับเชื้อไม่แสดงอาการ อีก 10% แสดงอาการภายใน 14 วันหลังได้รับเชื้อ (เข้าถ้ำค้างคาว, เข้าไปในฟาร์มไก่) อาการคือมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดท้อง รายที่ได้รับเชื้อเข้าไปมากอาจปรากฏอาการ ไอ หายใจลำบาก เจ็บอก และไอเป็นเลือด แต่ส่วนใหญ่อาการจะหายไปเอง
1.2 แบบเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคปอดเรื้อรังอยู่ก่อน ผู้ป่วยจะมีไข้เป็น ๆ หาย ๆ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ไอ หายใจหอบ เจ็บหน้าอก เสียงแหบ อาจมีไอเป็นเลือด เอ็กซเรย์จะเห็นมีฝ้าที่ปอดทั้งสองข้าง เยื่อหุ้มปอดหนา และมีเงาของหินปูนหลายๆ แห่งในปอด (คล้ายวัณโรคปอด) บางครั้งอาจพบโพรงลมที่มีผนังหนา (thick-walled cavities) และเงาของหินปูนที่ม้ามด้วย
- แผลเรื้อรัง (Mucocutaneous histoplasmosis) ส่วนมากพบเป็นแผลภายในช่องปาก ลิ้น ตามใบหน้า แก้ม ดั้งจมูก เป็นทีละหลายแห่ง แผลมีลักษณะกว้าง ขอบและพื้นแผลนูน
- ชนิดแพร่กระจาย (Disseminated histoplasmosis) มักพบในผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคมะเร็งของระบบเลือด ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นประจำ เชื้อที่เคยได้รับเข้าไปก่อนหน้านี้จะกลับมาเจริญเติบโตและก่อโรคขึ้น อาการคือมีไข้ ไอ เหนื่อย เบื่ออาหาร ตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลืองโต น้ำหนักตัวลด ส่วนมากพบแผลเปื่อยภายในปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร ลำไส้และผิวหนังด้วย แผลเหล่านี้อาจทำให้ปวดท้องและท้องร่วงเรื้อรัง ร้อยละ 15 มีอาการทางระบบประสาท เช่น เดินเซ ชัก สับสน ปวดศีรษะ คอแข็ง และจากการชันสูตรศพพบความผิดปรกติที่ต่อมหมวกไตด้วยเสมอ
การวินิจฉัยโรค
โรคฮีสโตพลาสโมสิสเป็นโรคที่พบไม่บ่อย แต่อาการค่อนข้างรุนแรง ควรระลึกไว้เสมอในผู้ป่วยที่เป็นไข้โดยหาสาเหตุไม่ได้และมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับไก่ นก และค้างคาว การวินิจฉัยที่แน่ชัดอาศัยการตัดชิ้นเนื้อ (biopsy) ไปย้อมด้วยวิธี PAS หรือ GMS แล้วพบเชื้อฮีสโตพลาสมาอยู่ในเซลล์ของ macrophage หรือโดยการเพาะเชื้อขึ้นจากแผล เสมหะ ปัสสาวะ เลือด ไขกระดูก หรือน้ำไขสันหลัง
การตรวจหาหลักฐานการได้รับเชื้อ เช่น การทดสอบผิวหนังโดยฮิสโตพลาสมิน, การตรวจ Immunodiffusion test (ID), Complement fixation test (CF) หรือการตรวจ PCR ก็เป็นการสนับสนุนการวินิจฉัยโรคนี้อีกทางหนึ่ง แต่ควรใช้เมื่อมีอาการที่ต้องสงสัยเกิดขึ้นเท่านั้น เพราะผู้เคยสัมผัสเชื้อมาแล้วจะให้ผลบวกไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคหรือไม่ก็ตาม
การรักษา
ยาฆ่าเชื้อราที่ได้ผลดีกับโรคฮีสโตพลาสโมสิสคือ Amphotericin B และ Itraconazole ระยะเวลาที่ให้ขึ้นกับอาการ ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค