โรคฝีในปอด (Lung abscess)
ฝีในปอดส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้ออย่างรุนแรง มีการทำลายเนื้อปอดจนเกิดเป็นโพรงขึ้น ภายในโพรงประกอบด้วยเศษเนื้อตาย เลือด หนอง และจุลชีพที่เป็นสาเหตุ แต่บางครั้งฝีในปอดอาจเกิดจากก้อนมะเร็งในปอดที่กัดกินเนื้อปอดจนเป็นโพรงแผล ซึ่งอาจมีการติดเชื้อซ้ำหรือไม่ก็ได้ ในส่วนนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะฝีในปอดที่เกิดจากการติดเชื้อเท่านั้น
พยาธิกำเนิด
แม้จะเกิดจากการติดเชื้อ แต่โรคฝีในปอดก็มิได้เกิดขึ้นและติดต่อกันง่ายเหมือนโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจทั่วไป กลไกการเกิดฝีในปอดที่พบบ่อยมี 5 ลักษณะ ตามลำดับ ได้แก่
- โดยการสำลัก ผู้ป่วยมักมีประวัติหมดสติมาก่อน เช่น เมาสุรา กินยานอนหลับเกินขนาด เป็นลมชัก หรือเป็นโรคที่ทำให้มีอาการกลืนลำบาก เช่น โรคหลอดเลือดสมองแตก/อุดตัน โรคของหลอดอาหาร โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น เมื่อเศษอาหารสำลักลงปอด เชื้อส่วนใหญ่จะเป็นพวกแบคทีเรียที่ไม่ชอบออกซิเจน (anaerobic bacteria) และทำให้เกิดหนองที่มีกลิ่นเหม็นมาก
- เกิดหลังเป็นโรคปอดบวมที่รุนแรง เชื้อแบคทีเรียบางชนิดเช่น Staphylococcus, Klebsiella, Pseudomonas, E. coli, Proteus และ Acinetobacter สามารถสร้างสารพิษ (toxin) ขึ้นมาทำลายเนื้อปอด ทำให้เกิดเป็นฝีตามมาได้บ่อย
- เกิดการติดเชื้อซ้ำในปอดที่มีพยาธิสภาพอยู่ก่อน เช่น มีมะเร็งถุงลม หรือถุงน้ำ ปิดหลอดลม ทำให้การระบายเสมหะทำได้ไม่ดีพอ
- เกิดจากฝีที่ตับหรือฝีในช้องท้องแตกทะลุผ่านกระบังลมขึ้นไปอยู่ในเนื้อปอด
- เกิดจากกระแสเลือดพัดพาลิ่มเลือดที่มีเชื้อเข้ามาติดที่ปอด (septic emboli)
หลังจากที่เนื้อปอดถูกทำลายจนกลายเป็นโพรง หนองจะถูกระบายออกทางหลอดลมที่อยู่ติดกับโพรงฝีนั้น ถ้าหลอดลมถูกอุดกั้นบางส่วน (จากมะเร็ง) หรือผู้ป่วยไม่สามารถไอออกได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ ขนาดฝีที่ใหญ่ขึ้นอาจแตกทะลุเข้าช่องเยื่อหุ้มปอดได้
อาการของโรค
ก่อนจะเกิดฝีในปอดผู้ป่วยจะมีอาการแบบปอดบวมทั่วไปเป็นเวลาประมาณ 1-3 สัปดาห์ เมื่อมีฝีในปอดเกิดขึ้น ผู้ป่วยจะไอมีเสมหะเป็นหนองจำนวนมาก มีกลิ่นเหม็น และบ่อยครั้งที่เสมหะมีเลือดปน ผู้ป่วยจะมีไข้เกือบตลอดเวลา อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือ หลอดลมพอง ฝีแตกเข้าช่องเยื่อหุ้มปอด และเชื้อกระจายเข้ากระแสโลหิตแล้วไปทำให้เกิดเป็นฝีที่อวัยวะอื่น ๆ อีก
การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยว่าเป็นฝีที่ปอดนั้นไม่ยาก เพียงภาพรังสีเห็นโพรงที่มีทั้งน้ำและลมอยู่ด้วยกันภายในปอดก็วินิจฉัยได้แล้ว แต่ที่ยากคือการวินิจฉัยเชื้อที่เป็นสาเหตุ นอกจากแบคทีเรียแล้ว เชื้อวัณโรคและเชื้อราก็สามารถทำให้เกิดฝีในปอดได้คล้ายกัน ดังนั้น การย้อมหาเชื้อและการเพาะเชื้อจากเสมหะต้องทำให้ครบทั้ง 3 ชนิด เพื่อให้การวินิจฉัยไม่ผิดพลาด
การรักษา
การรักษาฝีในปอดประกอบด้วยการให้ยาปฏิชีวนะร่วมไปกับการระบายหนองออกจากปอด ซึ่งโดยมากจะใช้วิธีเคาะปอด ให้ยาขับเสมหะ และยาขยายหลอดลมก่อนการผ่าตัด ฝีในปอดที่แตกทะลุเข้าช่องเยื่อหุ้มปอดแล้วต้องทำการดูดออกหรือใส่สายระบายลงขวด