ไข้มาลาเรีย (Malaria)

โรคมาลาเรียชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า ไข้ป่า หรือไข้จับสั่น เป็นโรคที่พบบ่อยตามชายแดนของไทย พบมากในพื้นที่ที่เป็นป่าเขา ในเมืองอาจพบได้น้อย แต่การเปิดประเทศและการสร้างทางเชื่อมการเดินทางระหว่างประเทศที่จะเสร็จในอนาคตอาจทำให้โรคนี้แพร่ระบาดเข้ามาในตัวเมืองได้ง่ายขึ้น

เชื้อมาลาเรียอยู่ในจีนัสพลาสโมเดี้ยม (Plasmodium) ที่พบในประเทศไทยมี 5 ชนิดตามความชุก คือ ฟาลซิปารั่ม (falciparum), ไวแวกซ์ (vivax), มาลาริอี้ (malariae), โนวเลซี (knowlesi), และโอวาเล่ (ovale) ซึ่งพบน้อยมาก สัตว์ที่นำเชื้อมาลาเรียคือยุงก้นปล่อง (Anopheles)

วงจรชีวิตของเชื้อมาลาเรีย

เชื้อมาลาเรียทุกชนิดมีวงจรชีวิตเหมือนกันคือ

  1. วงจรชีวิตในคน (Schizogony)

    เมื่อยุงที่มีเชื้อมาลาเรียกัดคน มันจะปล่อยเชื้อมาลาเรียระยะ Sporozoites เข้าไปในกระแสโลหิต Sporozoites จะหายไปจากกระแสโลหิตเข้าไปอยู่ในตับของคนอย่างรวดเร็วภายในเวลาครึ่งชั่วโมง เชื้อจะเจริญในเซลล์ตับประมาณ 1 สัปดาห์ แบ่งตัวเข้าสู่ระยะ Merozoites จำนวนนับหมื่นตัว แล้วออกมาในกระแสโลหิตอีกครั้ง เข้าไปก่อโรคในเม็ดเลือดแดง

    สำหรับเชื้อไวแวกซ์ และโอวาเล่ จะออกมาไม่หมด ยังคงเหลือในเซลล์ตับ เรียกว่าระยะ Hipnozoites ซึ่งจะออกมาในกระแสเลือดได้อีกเป็นครั้งคราว ทำให้เกิดภาวะ 'ไข้กลับ' หลังรักษาได้อีกถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับยาฆ่า Hipnozoites ด้วย

    เชื้อมาลาเรียในเม็ดเลือดแดงจะเจริญเป็นโทรโฟซ้อยท์ จากโทรโฟซ้อยท์จะเจริญต่อไปได้สองทางคือ

    • วงจรชีวิตไร้เพศ (Asexual cycle) รูปร่างของโทรโฟซ้อยท์จะเปลี่ยนไปเป็น ring form, amoeboid form, และ schizont Schizont จะเพิ่มจำนวนของตัวเองเป็น Merozoites เล็ก ๆ อีก 8-24 ตัวในเม็ดเลือดแดง แล้วทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ตัว Merozoites ที่ออกมาจะเข้าสู่เม็ดเลือดแดงอื่นต่อไป ระยะแตกของเม็ดเลือดแดงนี้จะตรงกับระยะจับไข้ ซึ่งแตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของมาลาเรีย ถ้าเป็นฟาลซิปารั่ม กินเวลา 36-48 ชั่วโมง ถ้าเป็นไวแวกซ์ กินเวลา 48 ชั่วโมง ถ้าเป็นมาลาริอี้ กินเวลา 72 ชั่วโมง ถ้าเป็นโอวาเล่ กินเวลา 36 ชั่วโมง
    • วงจรชีวิตมีเพศ (Sexual cycle) โทรโฟซ้อยท์ที่อยู่ในเม็ดเลือดแดงบางตัวจะเจริญไปเป็น Gametocytes ซึ่งจะต้องไปผสมพันธุ์กันในตัวยุงต่อไป

  2. วงจรชีวิตในยุง (Sporogony)

    เมื่อยุงดูดเลือดจากคนที่มีเชื้อมาลาเรียระยะ Gametocytes เข้าไป เชื้อจะผสมพันธุ์กันในกระเพาะอาหารของยุง แล้วเจริญเติบโตเป็น oozyst ซึ่งภายในจะมี Sporozoites อยู่มากมาย เมื่อเจริญเต็มที่แล้ว oocyst จะแตกออก Sporozoites ที่ออกมาก็พร้อมที่จะเข้าสู่ตัวคนเมื่อยุงกัดคนอีกครั้ง วงจรชีวิตนี้กินเวลาประมาณ 7-20 วัน แล้วแต่อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม

อาการของโรค

ผู้ป่วยจะมีอาการหลังถูกยุงที่มีเชื้อมาลาเรียกัดประมาณ 8-14 วัน แต่อาจนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนก็ได้ ขึ้นกับระดับภูมิคุ้มกันและการได้รับยาป้องกันมาลาเรียมาก่อน

ในระยะ 2-3 วันแรก ไข้ยังไม่จับเป็นเวลา เนื่องจากเชื้อที่เข้าไปในร่างกายยังเจริญไม่ร่วมเวลากัน ประมาณปลายสัปดาห์ที่หนึ่งจะเริ่มจับไข้เป็นเวลาตามระยะที่เชื้อแตกออกมาจากเม็ดเลือดแดง โดยวงจรของไข้ประกอบด้วย 4 ระยะคือ

ระยะหนาว กินเวลา 15-60 นาที จะมีอาการหนาวสั่น เกร็ง ตัวร้อน แต่แขนขาเย็นซีด ชีพจรเร็วเบา ความดันเลือดเพิ่มขึ้น อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและปัสสาวะบ่อย

ระยะร้อน กินเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ระยะนี้ตัวจะร้อนจัด ชีพจรแรง ลมหายใจร้อน หน้าและผิวหนังแดง กระหายน้ำ กระสับกระส่าย บางคนไม่ค่อยรู้สติ และปวดศีรษะลึกเข้าไปในกระบอกตา

ระยะเหงื่อออก กินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เหงื่อเริ่มออกที่ขมับและหน้าผากก่อน แล้วจึงออกทั่วตัว ไข้ค่อย ๆ ลด ชีพจรและความดันกลับสู่ปกติ ผู้ป่วยจะรู้สึกเพลีย เหนื่อย และหลับไป

ระยะพัก คือระยะที่ไม่จับไข้ ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายดี ในฟาลซิปารั่ม ไวแวกซ์ และโอวาเล่ จะกินเวลา 36-48 ชั่วโมง ในมาลาริอี้จะกินเวลา 72 ชั่วโมง

อาการซีดและตาเหลืองเริ่มเห็นในปลายสัปดาห์แรก ม้ามจะโตและคลำได้ในปลายสัปดาห์ที่สอง

สำหรับเชื้อมาลาเรียที่ไม่รุนแรง (ไวแวกซ์, มาลาริอี้, โอวาเล่) ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาก็จะมีไข้จับเป็นระยะ ๆ อยู่ประมาณ 2-6 เดือน แล้วจะหายไปเอง โดยมีระยะจับไข้ค่อย ๆ สั้นเข้า และระยะพักของไข้นานขึ้น ความรุนแรงของไข้ลดลง อาการหนาวสั่นน้อยลงจนหายไปในที่สุด

ส่วนเชื้อฟาลซิปารั่มเป็นเชื้อที่รุนแรง ในระยะพักผู้ป่วยจะยังไมฟื้นเป็นปกติ อาการซีดและเหลืองเกิดขึ้นภายในเวลา 3-4 วัน ตับโต กดเจ็บ และอาจอักเสบรุนแรง ภาวะแทรกซ้อนอื่นที่อาจทำให้เสียชีวิตได้แก่ ไข้ปัสสาวะดำ, ไตวาย, ปอดคั่งน้ำ (ARDS), มาลาเรียขึ้นสมอง, ช็อค, และการสูญเสียขบวนการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดทั่วร่างกาย (DIC)

การรักษา

ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรีย เพื่อให้ทราบชนิดของเชื้อและระยะการเจริญเติบโตที่แน่ชัดก่อนเริ่มยารักษา เพราะเชื้อมาลาเรียแต่ละชนิดเและแต่ละระยะใช้ยาไม่เหมือนกัน หากอาการหนัก ควรพักรักษาในโรงพยาบาล

แนวทางการใช้ยารักษามาลาเรียชนิดต่าง ๆ ดูได้ ที่นี่

วิธีป้องกัน

เนื่องจากโรคมาลาเรียนี้ต้องอาศัยยุงเป็นพาหะ การป้องกันที่ดีที่สุดคือการไม่ให้ยุงกัด ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี เช่น

  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงภายในบ้านและสวน
  • หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในช่วงที่ยุงออกหากินเวลา 17.30-24.00 น. หากจำเป็นควรใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว
  • พ่นยาฆ่ายุง
  • ทายาไล่ยุง
  • นอนกางมุ้งหรือในห้องที่มีมุ้งลวด
  • รับประทานยาป้องกันเชื้อมาลาเรียหากต้องเดินทางไปตามแหล่งที่มีเชื้ออยู่หนาแน่น