โรคหัด (Measles, Robeola)

โรคหัดเป็นโรคของเด็กทั่วทั้งโลก แต่หลังจากที่ประเทศส่วนใหญ่กำหนดให้มีการฉีดวัคซีน MMR ให้แก่เด็กทุกคน อุบัติการณ์ของโรคหัดในผู้ใหญ่ก็พบสูงขึ้น แต่อาการมักไม่รุนแรงเท่าในเด็ก เข้าใจว่าเป็นเพราะภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ฉีดตั้งแต่วัยเด็กค่อย ๆ หมดไป สำหรับเด็กที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดมาก่อน จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงหลังอายุ 6 เดือนเป็นต้นไป เพราะในช่วงแรกเกิดยังมีภูมิคุ้มกันจากมารดาอยู่

โรคหัดกระจายโดยการไอหรือจาม ติดต่อโดยการสูดหายใจเอาละอองอากาศที่มีเชื้อหัดเข้าไป หรืออาจติดจากการสัมผัสกับน้ำมูก เสมหะ หรือปัสสาวะของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ บางครั้งเชื้ออาจเข้าทางเยื่อบุตา แล้วกระจายเข้ากระแสเลือด ผู้ที่เป็นโรคหัดจะแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 4 วันก่อนออกผื่น ถึง 2-5 วันหลังออกผื่น เชื้อจะถูกขับออกมามากที่สุดตอนที่มีไข้ขึ้น ก่อนที่จะมีผื่นขึ้น

อาการของโรค

โรคหัดมีระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน อาการแบ่งได้เป็น 2 ระยะ

  1. ระยะเริ่มต้น:

    ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ ถึงปานกลาง อ่อนเพลีย ไอ น้ำมูกไหล ตาแดง ตาแฉะ กลัวแสง หนังตาบวม ถ้าอ้าปากดูจะเห็นทอนซิลโตและแดง ที่กระพุ้งแก้มบริเวณที่ตรงกับฟันกรามล่าง จะพบจุดสีเทาอมขาวขนาดเท่าหัวเข็มหมุดหลายจุด ล้อมรอบด้วยบริเวณที่แดง เรียกว่า Koplik's spots มักเกิด 2-3 วันก่อนผื่นที่ผิวหนังจะขึ้น และพบเฉพาะในโรคหัดเท่านั้น ระยะนี้กินเวลาประมาณ 4-5 วัน

  2. ระยะออกผื่น:

    ผื่นจะเริ่มออกประมาณวันที่ 4 หลังจากที่เริ่มมีไข้ ลักษณะเป็นจุดแดงเล็ก ๆ ขึ้นที่ใบหน้าและหลังหูก่อน แล้วถึงลามไปที่ลำตัวลงไปถึงแขนขา ผื่นจะขึ้นหนามากที่สุดที่บริเวณหน้า รองลงมาคือที่ลำตัว วันที่ผื่นขึ้นมักเป็นวันที่ไข้ขึ้นสูงสุด ไข้จะหายไปเมื่อผื่นขึ้นถึงเท้า ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน เริ่มแรกผื่นจะมีขนาดเล็กราว 2-3 มิลลิเมตร แล้วจะรวมกันเป็นปื้นใหญ่ ในรายที่มีผื่นมากอาการจะหนักกว่าในรายที่มีผื่นน้อย และมักมีจุดเลือดออกด้วย อาจมีไอและหอบมากเนื่องจากเกิด viral pneumonia ระยะนี้ต่อมน้ำเหลืองจะโต คลำได้ที่คอ ถ้าต่อมน้ำเหลืองในท้องโตจะทำให้ปวดท้อง ในเด็กเล็กมักมีอาการของระบบทางเดินอาหารด้วย เช่น อาเจียน ท้องเดิน

ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไข้จะลดลงภายใน 3 วันหลังจากผื่นขึ้น ผื่นจะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีคล้ำขึ้น ตัวลาย บางแห่งมีการหลุดลอกของผิวหนังด้วย อาการไออาจมีต่อไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อน

ในระยะ 2-5 วันแรกของโรค (ก่อนผื่นออกถึงหลังผื่นออกเล็กน้อย) ผู้ป่วยมักจะมีหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบเกือบทุกราย ผู้ป่วยจะไอมาก หอบ หายใจเร็ว ฟังได้เสียง crepitation ในปอด อาการปอดอักเสบในระยะนี้เกือบทุกรายเกิดจากเชื้อไวรัสหัด ยาปฏิชีวนะจะไม่ทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น ส่วนใหญ่จะดีขึ้นเองเมื่อผื่นออกเต็มที่แล้ว ไข้จะลงเองใน 3 วัน อาการหอบก็จะบรรเทาลง แต่จะไอต่อไปอีกหลายวัน

ในรายที่ไข้ไม่ลดหลังผื่นออกแล้ว 3 วันและผู้ป่วยมีอาการหอบมากขึ้น แสดงว่าเริ่มมีปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เชื้อที่เป็นสาเหตุมักเป็น Pneumococcus, Streptococcus, Hemophilus influenzae ต้องรีบเก็บเสมหะตรวจหาเชื้อและเริ่มยาปฏิชีวนะ

ภาวะหูชั้นกลางอักเสบและเยื่อบุตาอักเสบก็พบได้บ่อยในโรคหัด แต่เป็นภาวะที่ไม่รุนแรง เว้นแต่ว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน

ภาวะไส้ติ่งอักเสบจากไวรัสหัดก็พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเดิน ปวดท้อง ต่อมาอาการปวดจะเพิ่มขึ้นที่บริเวณท้องน้อยด้านขวา บางรายต้องตัดไส้ติ่งออกเพราะเสี่ยงต่อการทะลุ

ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และเป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งของการตายจากโรคหัดคือสมองอักเสบ พบอุบัติการณ์ 1-2 คนในผู้ป่วยโรคหัด 1,000 คน มักเป็นกับเด็กโต อาการจะเริ่มหลังผื่นออกแล้ว 2-6 วัน แทนที่ไข้จะลดกลับมีไข้สูงขึ้น ผู้ป่วยจะปวดศรีษะ ซึม อาเจียน แล้วชัก ตรวจน้ำไขสันหลังจะเป็นลักษณะของ aseptic meningitis อัตราตายประมาณ 10% รายที่รอดอาจมีพยาธิสภาพเหลืออยู่

ภาวะสมองอักเสบแบบกึ่งเฉียบพลัน (subacute sclerosing panencephalitis) หรือ SSPE เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดช้าที่สุดในโรคหัด พบน้อยเพียง 1 ในล้าน แต่มักรุนแรงถึงตาย อาการเกิดหลังจากออกหัดแล้วหลายปี ผู้ป่วยจะค่อย ๆ มีความเสื่อมทางจิต มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง มีอาการหลงลืม ชักกระตุก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และตายในที่สุด มีผู้เพาะเชื้อไวรัสหัดได้จากสมองของผู้ป่วยที่เสียชีวิต

การวินิจฉัย

ผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์การเลี้ยงเด็กมาหลายคน ส่วนใหญ่สามารถวินิจฉัยโรคหัดได้เองจากลักษณะของไข้ ไอ ตาแดง และออกผื่นที่หน้าและหลังหูก่อน ยิ่งถ้าอ้าปากพบ Koplik's spots ด้วยแล้วยิ่งมั่นใจยิ่งขึ้น

ในระยะเริ่มต้นที่มีอาการไอมาก หากตรวจเลือดไม่พบการเพิ่มขึ้นของจำนวนเม็ดเลือดขาวให้มั่นใจว่ายังไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ระยะนี้หากตรวจน้ำมูกหรือเสมหะด้วยวิธีย้อม H & E จะพบ Warthin-Finkeldy cell ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวขนาดใหญ่ มีนิวเคลียสอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก

การตรวจ Immunofluorescent antibody โดยใช้เยื่อบุจมูกก็ให้ผลบวกได้ไวในระยะที่ยังไม่มีผื่นออก

โรคหัดต้องแยกโรคจากโรคที่มีไข้ออกผื่นอื่น ๆ ในกลุ่มของไวรัสก็เช่น ไข้ออกผื่นในเด็กเล็ก หัดเยอรมัน และอินเฟ็คเชียสโมโนนิวคลีโอสิส ในกลุ่มของแบคทีเรียก็เช่น ไข้อีดำอีแดง ซิฟิลิส ไข้กาฬหลังแอ่น ซึ่งการตรวจนับเม็ดเลือดขาวจะช่วยแยกโรคในสองกลุ่มนี้ได้

การรักษา

ยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสหัดได้ ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้พักผ่อน ให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ อาการจะดีขึ้นเองใน 7 วัน

ถ้าไข้ยังไม่ลงหลังผื่นขึ้นแล้ว 3 วัน ให้นึกถึงภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบจากแบคทีเรีย หูน้ำหนวก สมองอักเสบ โดยดูจากอาการของผู้ป่วยที่เป็นมากขึ้น ถ้าตรวจนับเม็ดเลือดขาวในเลือดสูงขึ้นต้องให้ยาปฏิชีวนะคลุมเชื้อแบคทีเรีย ภาวะสมองอักเสบจากโรคหัดยังไม่มียารักษาเฉพาะ การรักษาส่วนใหญ่คือการให้ยากันชัก ผู้ป่วยจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง

การป้องกัน

การฉีดวัคซีนเป็นวิธีป้องกันโรคหัดที่ได้ผลดีมาก ช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรค สมควรฉีดให้เด็กทุกราย ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน 3 ชนิดรวมกันเข็มเดียว ที่เรียกว่า MMR